สั่งใช้กม.เข้มข้น! ผุด‘ศูนย์ฉุกเฉิน’ แก้วิกฤตPM2.5

นายกฯ ย้ำให้ทุกหน่วยงานยกระดับปฏิบัติการแก้ปัญหา PM2.5 บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ติดตาม-ประเมิน-ปรับแผนการปฏิบัติให้สอดคล้องทันสถานการณ์ ประสานความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหาไฟป่า "อนุทิน" สั่ง สธ.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ดูแลผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ "ชัชชาติ" ชี้จำกัดรถเก่าเข้าพื้นที่ต้องรอบคอบอาจได้ไม่คุ้มเสีย สแกนสาเหตุฝุ่นหวังแก้ปัญหาระยะยาว 

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประเทศไทย ห่วงใยประชาชนที่อาศัยและทำกิจกรรมในพื้นที่ที่สถานการณ์ฝุ่นรุนแรง กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ตลอดจนกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการเร่งแก้ไขปัญหา ตามแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ภายใต้ 3 มาตรการสำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด)  และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ รวมทั้งแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภายใต้แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 

นายอนุชากล่าวว่า นายกฯ กำชับให้ยกระดับเชิงปฏิบัติการให้เข้มข้นขึ้น ทั้งการปรับแผนเพิ่มตรวจสกัดรถควันดำ เข้มงวดเรื่องการก่อสร้าง ตรวจโรงงาน การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นจริงจัง ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงงดการเผาในที่โล่งทุกชนิด (เช่น พืชทางการเกษตร วัชพืชต่างๆ ขยะ  และการเผาป่า) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ  หากเผาจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Single Command ในการยกระดับการลดการเผาอย่างเด็ดขาดในช่วงวิกฤต รวมทั้งการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านโปรแกรม Burn Check  เพื่อให้สามารถควบคุมจุดความร้อนได้ในระดับที่เหมาะสม  ไม่ทำให้ค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานจนสูงเกินไป เพราะเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนเป็นอีกปัจจัยและสาเหตุสำคัญของปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนและการปฏิบัติให้สอดคล้องทันกับสถานการณ์

นายอนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานของ  GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี  (Suomi NPP) (วันที่ 11 มี.ค.66) ระบุว่า ไทยพบจุดความร้อนจำนวน 1,061 จุด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 383 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 278  จุด พื้นที่เกษตร 192 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 123 จุด  พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 78 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด  โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน  127 จุด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา พบจุดความร้อนจำนวน 4,363 จุด สปป.ลาว 2,868  จุด กัมพูชา 1,182 จุด เวียดนาม 647 จุด และมาเลเซีย 32 จุด

โดยสถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดน เนื่องจากได้รับอิทธิพจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ซึ่งปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 วิธีแก้นอกจากบูรณาการร่วมมือร่วมใจกันภายในประเทศแล้ว นายกฯ ยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนผ่านกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด

นายกฯ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับพื้นที่บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ให้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นายกฯ กำชับให้ทุกหน่วยงานสื่อสารเชิงรุกเพื่อแจ้งเตือนประชาชน รวมทั้งเพิ่มความเข้มข้นในปฏิบัติการ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ โดยย้ำให้ขับเคลื่อนให้มีผลและครอบคลุมเป้าหมายทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ป่า โดยใช้กลไกระดับพื้นที่กำกับเข้มพื้นที่เพาะปลูกอ้อย  ข้าว และข้าวโพด และพื้นที่ป่า รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับประชาชนและกลุ่มเป้าหมายที่เป็นต้นเหตุ

สำหรับข้อมูลรายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล  ระหว่างวันที่ 13-19 มี.ค.66 ของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า วันที่ 13  มี.ค.66 เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามช่วงระหว่างวันที่  15-16 มี.ค.66 เป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวัง เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่ได้  ขณะที่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มเกิดฝุ่นละอองขึ้นสูงทั้งในตอนบนและตอนล่าง ระหว่างวันที่ 16-19 มี.ค.66

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อดูแลผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 พร้อมกำชับสถานพยาบาลทุกแห่งให้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-10 มีนาคมที่ผ่านมา  พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวมกว่า  1.4 ล้านคน จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และเพิ่มการทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดการก่อมลพิษ และลดผลกระทบที่จะเกิดกับระบบทางเดินหายใจ

ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ว่า ในปี 2566 จำนวนผู้ป่วยจากฝุ่นสูงขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 45% มีการให้บริการผู้ป่วยในศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ ของ กทม. พร้อมแจกหน้ากากอนามัยไปแล้วประมาณกว่า 6 แสนชิ้น และทำห้องปลอดฝุ่นในศูนย์เด็กเล็กต่างๆ ส่วนในโรงเรียนเน้นให้เด็กนักเรียนสวมหน้ากากอนามัย และลดกิจกรรมกลางแจ้ง

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องขอความร่วมมือทำงานที่บ้านต้องดูจังหวะความรุนแรงของฝุ่นอีกครั้ง ส่วนเรื่องการกำหนดพื้นที่ลดมลพิษจากรถเก่าตามตัวอย่างมาตรการจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อยู่ระหว่างการศึกษา  เพราะการจำกัดรถยนต์เข้าพื้นที่เป็นอำนาจของตำรวจ  รวมถึงกำลังศึกษาข้อบังคับกรณีรถยนต์เก่าเข้าพื้นที่ จากการปรึกษานักเศรษฐศาสตร์เมื่อช่วงต้นปีได้รับคำแนะนำว่าต้องคิดให้ดี เนื่องจากอาจได้ไม่คุ้มเสียในแง่ต้นทุน ขณะเดียวกันหากลดการใช้รถยนต์ลง แต่ฝุ่นยังสูงขึ้นจากมิติอื่น  ก็อาจไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และทำให้ผู้เดินทางหลายคนเดือดร้อน ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ จึงเป็นที่มาในการทำวิจัยสาเหตุฝุ่นในครั้งนี้ เพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาวให้ตรงจุดต่อไป

ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. ร่วมกันแถลงถึงแนวทางการประกาศสงครามกับฝุ่น PM2.5 กำหนดเขตควบคุมมลพิษใจกลางเมือง 16 เขต และการแก้ไขปัญหาเพื่อเดินหน้าจัดการจนกว่าจะได้อากาศสะอาดไว้หายใจ

ที่พรรคเพื่อไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบาย PM2.5 พรรคเพื่อไทย และนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ ร่วมแถลงนโยบายแก้วิกฤตปัญหา PM2.5 โดยเสนอนโยบายและแผนปฏิบัติการเพื่อเห็นแก่สุขภาพของประชาชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"

ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด

ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ

บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง

"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"