กำชับท้องถิ่นเป็นกลาง ‘ชพก.’ยังติดใจแบ่งเขต

ปลัด มท.ระบุมอบนโยบายผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ต้องวางตัวเป็นกลาง   เวลาราชการห้ามโผล่ไปเชียร์พรรคไหน   ยันมหาดไทยพร้อมช่วย กกต.จัดเลือกตั้งเรียบร้อยบริสุทธิ์ยุติธรรม “อรรถวิชช์” ร้อง กทม.แบ่งเขตแบบ 1-2 พิสดารหวังล็อกผลเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดเผยถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ   นี้ว่า ได้มอบนโยบายและแนวทางให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยได้ปฏิบัติแล้ว โดยการเลือกตั้งนั้นเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนในแง่ของข้าราชการใน มท.  ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาแล้ว ซึ่งมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ข้าราชการ มท.ทุกคนต้องวางตัวเป็นกลาง และให้ชี้แจงกับพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้บริหาร อปท. ว่าในเวลาราชการห้ามไปสนับสนุนช่วยเหลือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง

“นอกเหนือเวลาราชการ ผู้บริหาร อปท. หรือนักการเมืองท้องถิ่นสามารถไปเชียร์กันได้ เหมือนข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหารตำรวจ ที่ต้องเป็นกลางตลอดเวลา อีกส่วนที่พวกเราทำมาตลอด คือให้ความร่วมมือกับ กกต.ในการบริหารจัดการช่วยเหลือ หรือช่วยเหลือการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ซึ่ง มท.ก็ช่วยในการพิมพ์รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การสนับสนุนเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามที่ กกต.ร้องขอมา ซึ่ง มท.เต็มที่ในเรื่องของการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม” นายสุทธิพงษ์ระบุ

ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร 4 รูปแบบ ที่กำลังจะหมดเขตรับฟังความเห็นประชาชนวันที่ 13 มี.ค. ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ กกต.ภายในสัปดาห์นี้ ว่าการแบ่งเขตที่ กกต.กทม. นำเสนอมา 4 รูปแบบ พบว่ารูปแบบที่ 1 และ 2 เข้าข่ายผิดกฎหมาย ขัดมาตรา 27 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันเป็นเรื่องหลักในการแบ่งเขต แต่การแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 และ 2 กลับใช้วิธีรวมตำบล (แขวง) ต่างๆ มาประกอบเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ โดยเขตเลือกตั้ง กทม. ทั้งหมด  33 เขต รูปแบบที่ 1 มีการแบ่งแขวงต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ถึง 27 เขต รูปแบบที่ 2 มีการรวมแขวงต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ถึง 30 เขต และรูปแบบที่ 1 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อนเพียง 4 เขต รูปแบบที่ 2 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเพียง 2 เขตเท่านั้น

“การแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 และ 2 นอกจากผิดกฎหมายชัดเจนแล้ว ยังสร้างความสับสนให้ประชาชนที่คุ้นเคยกับเขตเลือกตั้งเดิม เขาไม่ได้เลือกผู้แทนของเขตเลือกตั้งเดิมเคยทำงานในพื้นที่มา ขณะที่รูปแบบที่ 3 และ 4 เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุด เพราะมีเขตเลือกตั้งที่ถูกแยกแขวงเพียง 8 เขต โดยเฉพาะรูปแบบที่ 3 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเดิมที่คุ้นเคยมาก่อนถึง 17 เขตเลือกตั้ง” นายอรรถวิชช์กล่าว

นายอรรถวิชช์กล่าวว่า การรวมแขวงจากเขตต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ เป็นหลักการพิสดาร นอกจากไม่สอดคล้องกับกฎหมายแล้ว ยังพบรูปร่างของเขตที่พยายามคดเข้าไปรวมบางแขวงที่ไม่เข้ากัน มีรูปร่างประหลาด ซึ่งหลักวิชาการเรียกการแบ่งเขตที่รูปร่างคล้ายตัวซาลาแมนเดอร์เป็นการแบ่งเขตเพื่อความได้เปรียบ-เสียเปรียบ แบ่งเขตเพื่อกำหนดผลการเลือกตั้งไว้แล้ว

“ขอให้ กกต.ที่กำลังจะพิจารณาเคาะเขต ยึดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการเลือกตั้งในภายหลัง หากตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย จะกระทบต่อการเลือกตั้ง” นายอรรถวิชช์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘อุ๊งอิ๊ง’ แจ้นตรวจนํ้าท่วม ชาวบ้านลำบากแต่ยิ้มได้

นายกฯ อิ๊งค์ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมภาคเหนือ เสียงสั่นเครือเห็นใจชาวบ้านยังคงลำบากไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ชาวบ้านยังยิ้มแย้ม ดีใจและโบกมือให้

โวเลือกตั้งซ่อม ‘เพื่อไทย’ มาแน่ กระแส ‘อิ๊งค์’ พุ่ง

"สมศักดิ์" โวลั่น! เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกเขต 1 กระแสเพื่อไทยสูง เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ หลัง "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกฯ ตอนนี้มันเปลี่ยนแล้ว กระแสพรรคประชาชนหดหาย

คนเยอะกว่าเก้าอี้! ‘ภูมิธรรม’ ยอมรับบางรายเสนอชื่อไปแล้วเกรงมีปัญหาจริยธรรม

"ภูมิธรรม" เผยตั้งรัฐบาลยังไม่สะเด็ดน้ำ ไทยอยู่ในกระบวนการที่กำลังดูกันอยู่ เพราะคนเยอะกว่าตำแหน่ง ยอมรับตรวจเข้มกลัวมีปัญหาในเชิงจริยธรรม ว่าที่ รมต.ทยอยส่งประวัติ