สั่งยกระดับแก้ฝุ่น 41จว.เจอPM2.5

มท.สั่งการทุกจังหวัดยกระดับปฏิบัติการแก้ปัญหาไฟป่า-หมอกควัน-ฝุ่น PM 2.5 เข้มข้นตามสถานการณ์ 4 ระดับ อ่วม! 41 จ. ฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน เชียงใหม่วิกฤตมลพิษพุ่งอันดับ 1 โลก รองผู้ว่าฯ บี้ทุกพื้นที่ระดมฉีดน้ำลดผลกระทบ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่าในหลายพื้นที่ของประเทศมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน จึงมีหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้เร่งรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยกระดับปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตามมาตรการที่ 1 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้ ระดับที่ 1 เมื่อปริมาณฝุ่น PM 2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม (มคก.)/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หน่วยงานดำเนินภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่เพื่อควบคุมปริมาณ PM 2.5 ให้ลดลงหรือคงอยู่ในระดับคงที่ ต่อมาระดับที่ 2 เมื่อ PM 2.5 ระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. หน่วยงานดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ เข้มงวดขึ้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยมีส่วนราชการอื่นๆ สนับสนุนการปฏิบัติ ส่วนระดับที่ 3 : PM 2.5 ระหว่าง 76-100 มคก./ลบ.ม. เมื่อดำเนินการตามระดับ 2 แล้ว สถานการณ์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด/หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และมีคณะกรรมการควบคุมมลพิษให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งหากปริมาณความหนาเเน่นของฝุ่นละอองยังคงเพิ่มสูงขึ้น ให้ดำเนินการในระดับที่ 4 : PM 2.5 มากกว่า 100 มคก./ลบ.ม. และดำเนินการในระดับ 3 แล้ว สถานการณ์ไม่มีแนวโน้มลดลง ให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ เพื่อพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหา และนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาสั่งการ

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ได้เน้นย้ำการบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วน และสั่งการให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ตลอดจนเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด/หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งกำกับ และติดตามผลการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 (1 สื่อสารเชิงรุก 5 ยกระดับปฏิบัติการ 1 สร้างการมีส่วนร่วม) โดยเร่งประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือประชาชน ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการสอดส่อง ดูแลหมู่บ้าน/ชุมชน โดยงดการเผา และงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงมาตรการ และผลการปฏิบัติของภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

นอกจากนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" โดยสามารถประสานการดำเนินงานกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) ในพื้นที่รับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมเน้นย้ำให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนปฏิบัติการฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอย่างต่อเนื่อง

วันเดียวกัน ที่ จ.ตราด ปลัด มท. กล่าวถึงกรณีการดับไฟป่าเทือกเขาบรรทัดว่า ต้องขอบคุณผู้ว่าราชการ จังหวัดตราด นายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ที่ร่วมมือกับทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ช่วยกันระงับยับยั้งจนเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว และในช่วงเวลาต่อไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัย ผู้ว่าฯ จะดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องด้วยการปรับทัศนคติที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าต่อไป

ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ สรุปดังนี้ ภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศ พบค่าฝุ่นระหว่าง 13- 187 มคก./ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐานรวม 41 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว บึงกาฬ หนองคาย เลย อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู มุกดาหาร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง  กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งวันที่ 13 มี.ค.2566 เป็นต้นไป สถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนระหว่างวันที่ 15-16 มี.ค.2566 เป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวัง เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่ได้

สำหรับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่าง ระหว่างวันที่ 16-19 มี.ค.2566 ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 12-13 มี.ค.2566 มีโอกาสพบเจอฝนตกในบางพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน รวมถึงบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ

ที่ จ.เชียงใหม่ สถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า และคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงทวีความรุนแรง และค่ามลพิษอากาศสูงเกินมาตรฐานอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยสภาพทั่วทั้งตัวเมืองเชียงใหม่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันหนาทึบจนไม่สามารถมองเห็นยอดดอยสุเทพได้จากระยะไกลเหมือนปกติ และเป็นเช่นนี้ติดต่อกันทุกวันมานานหลายสัปดาห์แล้ว

ทั้งนี้ เว็บไซต์ Iqair.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลก แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 11.00 น. พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 212 US AQI และค่า PM 2.5 วัดค่าได้ 161.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง โดยเป็นอันดับที่ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก

นายชัชวาล ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำชับย้ำทุกพื้นที่ระดมฉีดพ่นน้ำลดผลกระทบและดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงในทุกพื้นที่ ตอนนี้รุนแรงมากไม่เฉพาะแค่เชียงใหม่เท่านั้น แต่เป็นทั้งภูมิภาครวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง

สอดรับกับเว็บไซต์ตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบ real time ควบคู่กับกรมควบคุมมลพิษของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง www.aqi.in/th พบว่า สถานการณ์หมอกควันไฟป่า PM 2.5 มีค่าเกินมาตรฐานสูงที่สุดในรอบปี โดยเฉพาะที่แม่ฮ่องสอนบางช่วงมีค่าถึง 330 มคก./ลบ.ม. เมตร AQI ถึง 391 เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก ซึ่งตั้งความหวังตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องพายุฝนฟ้าคะนองที่จะช่วยลดสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงนี้

ขณะที่ ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ ได้เช็กอินเฟซบุ๊กที่เชียงใหม่ โพสต์ภาพหนังสือ "มาเหนือเมฆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" พร้อมเขียนข้อความระบุว่า "เมื่อท่านอยู่เหนือเมฆแล้ว ช่วยชาวเชียงใหม่ขจัดฝุ่น PM 2.5 หน่อย ชาวเชียงใหม่กำลังจะตายผ่อนส่งกันแล้ว พวกเราอยากกู่ร้องตะโกนขึ้นไปถึงบนเมฆ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์จะได้ยินบ้าง ตอนนี้ท่านมาอยู่เหนือเมฆแล้วนิ".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก