กกต.ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายของผู้สมัครและพรรคการเมือง สามารถใส่ภาพผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ หัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคการเมืองได้เท่านั้น แจงยิบระเบียบ "ยุบพรรคติดเทอร์โบ" "สนธิญา" จ่อยุบเพื่อไทย "บิ๊กบี้" สั่งกลางวงผู้พันทั่วประเทศ ย้ำ ทบ.วางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด ออกกฎเหล็ก "5 ทำ-5 ไม่"
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ลงนามในประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยในส่วนของการจัดทำประกาศ การกำหนดสถานที่และการจัดสถานที่ปิดประกาศ กำหนดให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจัดทำประกาศมีขนาดกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และขนาดความสูงไม่เกิน 42 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดของประกาศ โดยผู้สมัครและพรรคการเมืองจัดทำประกาศได้ไม่เกินสองเท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น
การจัดทำประกาศ สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญหรือข้อมูลประวัติ เฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์
โซเชียลมีเดีย หรือคิวอาร์โค้ด นอกจากภาพของผู้สมัครแล้วสามารถใส่ภาพของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองใดเท่านั้น ส่วนวิธีปิดประกาศให้เป็นไปตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนด โดยให้นายอำเภอกำหนดสถานที่ปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดสถานที่ปิดประกาศ ณ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขต แขวง หมู่บ้าน หรือชุมชน และหัวหน้าหน่วยงานกำหนดสถานที่ปิดประกาศ ณ ที่ตั้งของหน่วยงาน ทั้งนี้ หากผู้สมัครหรือพรรคการเมืองปิดประกาศไม่ถูกต้อง ให้หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจสั่งผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแก้ไขภายใน 5 วัน
ประกาศ กกต.ยังกำหนดเรื่องการจัดทำแผ่นป้ายของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนของแผ่นป้าย โดยผู้สมัครจัดทำได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ขณะที่พรรคการเมืองจัดทำแผ่นป้ายได้ไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในจังหวัดนั้น การติดแผ่นป้ายจะต้องไม่ติดทับซ้อนหรือปิดบังแผ่นป้ายของผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่น และให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดประสานหรือหารือกับหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้ายและออกประกาศกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้ายก่อนวันปิดสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งกรณีการที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองติดแผ่นป้ายไม่ถูกต้อง ให้ยึดตามการปิดประกาศ คือแจ้งแก้ไขภายใน 5 วัน
อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครและพรรคการเมืองอาจติดแผ่นป้ายที่ทำการพรรค หรือสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการเลือกตั้งได้เขตเลือกตั้งละหนึ่งแผ่น ที่มีขนาดกว้างไม่เกิน 400 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 750 เซนติเมตร
นอกจากนี้ กกต.ยังเผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงการปฏิบัติงานตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 โดยระบุว่า ตามที่นักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกระเบียบ กกต.ดังกล่าวนั้น สำนักงาน กกต.รับฟังด้วยความขอบคุณยิ่ง
สำนักงาน กกต.ตระหนักถึงความสำคัญของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญยิ่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.บัญญัติให้มีเรื่องการยุบพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมืองและ กกต.จึงมีหน้าที่และอำนาจต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ทั้งนี้อำนาจในการสั่งยุบพรรคเป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเรียนมาให้ทราบโดยทั่วกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 ถูกนักการเมืองหลายพรรค รวมถึงนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจทำให้การยุบพรรคเกิดได้รวดเร็วขึ้น จนถูกตั้งฉายาว่าเป็นระเบียบ “ยุบพรรคติดเทอร์โบ”
นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบจากกรณีที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวปราศรัยพาดพิงถึงนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลักษณะว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เป็นส่วนเดียวกับพรรคเพื่อไทยเพื่อจะนำไปสู่การแลนด์สไลด์ทั้งจังหวัดนครราชสีมา และกรณีที่กล่าวว่า อบจ.นครราชสีมาเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยขอให้ กกต.เรียกนายวีรศักดิ์และ อบจ.นครราชสีมา มาสอบถามว่าสิ่งที่ นพ.ชลน่านกล่าวถึงนั้นเป็นความจริงหรือไม่ มีส่วนเกี่ยวพันและมีส่วนร่วมกันในการไปสู่การแลนด์สไลด์กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบว่าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่ง อบจ.นครราชสีมามีข้าราชการลูกจ้างกว่า 200 คน มีโรงเรียนในสังกัดมากกว่า 10 แห่ง
เนื่องจากเป็นการกล่าวของ นพ.ชลน่าน ผูกพันไปถึงทุกคนที่ถูกกล่าวถึง จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องเรียกมาตรวจสอบ ดังนั้นหากพบว่าไม่จริงก็จะมีผลอย่างหนึ่ง หากจริงก็จะมีเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28, 29 ที่ห้ามให้บุคคลภายนอกมายุ่งเกี่ยว และนำไปสู่การยุบพรรคได้ ส่วนหากให้การอันเป็นเท็จเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง ก็จะนำไปสู่มาตรา 73(5) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคะแนนนิยม สุดท้ายแล้วก็จะไปสู่การยุบพรรคเช่นกัน โดย กกต.ตรวจสอบให้ชัดเจน
วันเดียวกันนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการในที่ ประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกวาระพิเศษ ถึงระดับผู้บังคับกองพัน เมื่อ 7 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา ในเรื่องการวางตัวและการปฏิบัติตัวของกำลังพลกองทัพบกในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยย้ำให้วางตัวเป็นกลางและปฏิบัติตัวตามแนวทางที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ว่าสิ่งไหนควรทำ และสิ่งไหนไม่ควรทำ หรืออย่าทำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาส่งผลต่อภาพลักษณ์กองทัพบก ต่อความเป็นกลางทางการเมือง
ทั้งนี้ กองทัพบกได้ออกแนวทางปฏิบัติของกำลังพลกองทัพบกในการสนับสนุนการเลือกตั้งคือ สิ่งที่ควรปฏิบัติ 5 ข้อ 1. กองทัพบก สนับสนุนให้กำลังพลเห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง ให้กำลังพลไปทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้ง ให้เป็นตัวอย่างของประชาชนทั่วไป 2.รวมทั้งให้คำแนะนำ ชักชวนบุคคลผู้มีสิทธิในครอบครัว ญาติ และมิตรสหาย ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพร้อมเพรียงกัน 3.ให้ทุกหน่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กำลังพล และครอบครัวได้รับฟังการหาเสียง โดยประกาศแจ้งเตือนให้ทราบถึงวัน เวลา และสถานที่ที่จะมีการหาเสียง และจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อยตามความเหมาะสมส่วน กำลังพลที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตการเลือกตั้งที่กำลังพลผู้นั้นปฏิบัติงานอยู่ ให้กำลังพลผู้นั้นไปทำหน้าที่ใช้สิทธิลงคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งกลางได้ โดยต้องลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 4.สำหรับกรณีที่กำลังพลมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตการเลือกตั้งของหน่วยการเลือกตั้งที่ตนเองไปให้การสนับสนุน สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งนั้น โดยให้กำลังพลดังกล่าวนำคำสั่งแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งไปแสดง ณ หน่วยเลือกตั้ง เพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 5.กำลังพลทหารประจำการที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ นอกที่ตั้งปกติที่ตนมีภูมิลำเนานั้น และไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้งได้ ให้ผู้บังคับหน่วยนั้นแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมทั้งให้กำลังพลลงทะเบียนเลือกตั้ง ล่วงหน้าด้วยตนเอง เพื่อให้กำลังพลดังกล่าวได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า
ส่วนสิ่งที่ไม่ควรทำ 5 ข้อ คือ 1.ไม่ควรให้มีการจัดการฝึกอบรมหรือประชุมสัมมนาในช่วงระยะเวลา 10 วัน ก่อนเลือกตั้ง 2.ไม่ควรให้กำลังพลของ ทบ. เป็นคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือเจ้าหน้าที่นับคะแนนโดยเด็ดขาด
3.ไม่ควรใช้ยานพาหนะ หรืออากาศยานของ ทบ. ในการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้สมัครหรือกลุ่มที่หวังผลทางการเมืองโดยเด็ดขาด 4.ไม่ควรให้ใช้พื้นที่ของหน่วยเป็นสถานที่เลือกตั้ง หรือเก็บหีบบัตรเลือกตั้ง และ 5.ห้ามมิให้กำลังพลของกองทัพบกเป็นคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และเป็นเจ้าหน้าที่นับคะแนนโดยเด็ดขาด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ
สมเด็จสังฆราช ประทานไฟวธ. สวดมนต์ข้ามปี
"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานไฟพระฤกษ์ สวดมนต์ข้ามปี
อิ๊งค์ยันแจกหมื่นเฟส3 เคาะขึ้นค่าแรง-อีรีซีท
ครม.ไฟเขียว 1 ม.ค.68 ขึ้นค่าแรง 400 นำร่อง 4 จังหวัด 1 อำเภอ
โต้งทำใจหลุดปธ.ธปท.
กฤษฎีการอชี้ขาดคุณสมบัติ “กิตติรัตน์” 25 ธ.ค.นี้ เผยมี 2 ปมต้องเคลียร์ให้ชัด
ปีหน้าม่วนจบปัญหา พ่อนายกฯการันตีรบ.อยู่ครบเทอม/ม็อบขู่ลงถนน
ไม่ยุบสภา! "ทักษิณ" การันตี "รัฐบาลพ่อเลี้ยง" อยู่ครบเทอม
ฟุ้งปีใหม่โอกาสดีทุกคน มั่นใจ‘แม้ว-หนู’ไร้ปัญหา
นายกฯ อิ๊งค์อวยพรปีใหม่ ให้ทุกคนมีจิตใจเบิกบานยันปี 68