ศก.โลกชะลอตัวทุบส่งออก ดันท่องเที่ยววาระแห่งชาติ

“สุพัฒนพงษ์” รับเศรษฐกิจโลกชะลอ ทุบส่งออกไทยอ่วม “สภาพัฒน์” ชี้ปีนี้มีโอกาสโตติดลบ หวังท่องเที่ยว-ลงทุนช่วยหนุน ยัน ศก.ปีนี้โตได้ตามเป้าหมายที่ 3.2% “พิพัฒน์” จ่อชง ครม.ดันท่องเที่ยววาระแห่งชาติ กาง 3 แนวทาง ลุ้นนักท่องเที่ยวพุ่ง 27.29 ล้านคน ฟันรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท

  เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวในงาน IBussiness Forum 2023 THE NEXT THAILAND’S FUTRUE : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ว่า ต้องยอมรับว่าภาคการส่งออกของไทยกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้สร้างแรงกดดันและทำให้สภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทำเงินจำนวนมหาศาลเพื่อซ่อมและสร้าง ซึ่งจะช่วยดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มด้วย และขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ กำลังกลับเข้าสู่ระดับปกติ อยากให้ทุกคนมั่นใจและมีความหวังว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยหลังจากนี้จะมีแต่ความมั่นคง โดยสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันได้ทำนั้น พร้อมจะส่งมอบประเทศที่มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมเดินหน้าเศรษฐกิจไปด้วยความยั่งยืน ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ไม่ว่าใครจะมาเป็นต่อจากนี้ก็ตาม

 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยมี 3 เรื่องสำคัญ คือ ความยั่งยืนของเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามักมีคำถามว่าไทยเติบโตช้ากว่าภูมิภาค แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ปรับระดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะพีกเมื่อไหร่ยังไม่สามารถตอบได้ แต่มีการวางแผนไว้ว่าการเติบโตในระดับที่มีศักยภาพและเหมาะสมกับประเทศไทย อยู่ที่ 4-5% ขณะที่ปัจจุบันคลังยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.8% นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง และคาดว่าจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% จากความพยายามของรัฐบาลในการใช้มาตรการ โดยเฉพาะด้านการคลังในการดูแลราคาพลังงาน ที่เป็นต้นทุนสำคัญด้านโลจิสติกส์ และการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ด้วยการลดอัตราภาษี พร้อมทั้งการขยายเพดานราคาน้ำมันดีเซลเป็น 35 บาท ถือเป็นระดับที่เหมาะสม ทุนสำรองระหว่างประเทศ หนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน

สำหรับสถานการณ์ด้านการคลังและฐานะการคลังในปัจจุบันยังไม่มีปัญหาอะไร โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะตอนนี้อยู่ที่ 61.26% ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น และจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 6.59 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าไทยกำลังจะเข้าสู่ความยั่งยืนด้านการคลัง ทุนสำรองประเทศอยู่ที่ระดับ 2 แสนล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลได้มีการเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายอีก 1.65 แสนล้านบาท มากกว่าในอดีต 2 เท่า ซึ่งทำให้รัฐบาลมีงบในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยหลัก ๆ ราว 20% ของงบประมาณดังกล่าว เป็นเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ปีนี้สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชัดเจนและเร็วกว่าที่คิดไว้ โดยปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการส่งออกและการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยค่อนข้างมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 3% โดยมองว่าจะเริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป

 “ปีนี้คาดการณ์ว่าการส่งออกมีโอกาสที่จะขยายตัวติดลบ แต่จะได้การลงทุนจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 3.2% โดยมีค่ากลางที่ 2.7-3.7% ส่วนการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่อาจจะล่าช้าออกไป อาจทำให้เป็นปัญหาได้ ดังนั้นหากได้รัฐบาลใหม่เร็วก็อาจจะใช้งบประมาณพลางไปก่อนราวเดือนครึ่ง หรือถ้าช้าสุดก็น่าจะไม่เกิน 3 เดือน โดยคาดว่างบประมาณปี 2567 น่าจะเริ่มใช้ได้อย่างเป็นทางการในช่วงเดือน ม.ค.2567 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความท้าทายอย่างมาก” นายอนุชากล่าว และว่า สำหรับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวของการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน

ทางด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย อยู่ที่ 27.29 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเติบโต 2.4 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็น 60% ของรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2562 โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมาแล้ว 4.2 ล้านคน และในปี 2570 ได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวเติบโต 25% ของจีดีพี

ทั้งนี้ กระทรวงได้เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาประกาศให้การฟื้นประเทศด้วยการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ โดยมี 3 ขั้นตอนของวาระแห่งชาติดังกล่าวที่ต้องดำเนินการ แบ่งเป็น 1.พร้อมรับ (ปี 66-67) ด้วยการเปิดประเทศให้สร้างความประทับใจมากกว่าที่เคย สอดรับความต้องการตลาดท่องเที่ยวโลกหลังโควิด และช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างทันท่วงที โดยชูจุดแข็งของประเทศไทย

2.การพัฒนา (ปี 66-68) โดยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาครอบคลุมรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง เช่น การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งจะสร้างความมั่น และ 3.การพลิกโฉม (ปี 66-70) ด้วยการพลิกโฉมสู่การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแบบองค์รวมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชน เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและมีความหมาย ใช้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตอกยํ้าดีลฮ่องกง ลิ่วล้อแจงแทนนาย ‘พรรคส้ม’ ยากเป็นรัฐบาล

ตอกย้ำดีลฮ่องกงเหลว! "ณัฐวุฒิ" ขยายความ "ทักษิณ" คุย "ธนาธร" แค่เล่าชะตากรรม ไม่มีการพาดพิง ม.112 กับก้าวไกล เผยตั้งแต่โหวต "พิธา"

‘อิ๊งค์’ โชว์30บ. เวทีผู้นำเอเปก

นายกฯ อิ๊งค์โชว์ผลงาน 30 บาทรักษาทุกที่ บนเวทีผู้นำภาคเอกชนเอเปก พร้อมชวนลงทุนด้านธุรกิจดูแลสุขภาพในไทย มั่นใจหลังให้นโยบาย “บีโอไอ”