วิกฤต PM 2.5 กทม.พุ่งเกินมาตรฐาน 70 พื้นที่ บึงกุ่มหนักสุด ขณะที่ภาคเหนืออ่วมด้วย สธ.เตือนประชาชนเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง ระวัง 3 กลุ่มอ่อนไหว กทม.กำชับทุกหน่วยงานคุมฝุ่นละอองเข้ม “กรณ์” จวกรัฐบาลประกาศปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ แต่ยังฟุ้งไปทั่ว ชงใช้ “พันธบัตรป่าไม้” เพิ่มพื้นที่ป่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน 70 พื้นที่ จึงขอให้ประชาชนเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยตรวจวัดได้ 61-101 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐาน 70 พื้นที่ สูงสุด 5 เขต ได้แก่ เขตบึงกุ่ม 101 มคก./ลบ.ม., เขตทวีวัฒนา 96 มคก./ลบ.ม., เขตตลิ่งชัน 93 มคก./ลบ.ม., เขตหนองแขม 92 มคก./ลบ.ม., เขตหลักสี่ 90 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.เป็นต้นไป สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่
ขณะที่ทั่วประเทศปริมาณ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 55 จังหวัด อาทิ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน และ จ.แม่ฮ่องสอน ส่วนผลการตรวจวัดตามรายภาค พบเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 65-137 มคก./ลบ.ม., ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดได้ 48-170 มคก./ลบ.ม., ภาคกลางและตะวันตก ตรวจวัดได้ 50-98 มคก./ลบ.ม. ส่วนภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 59-86 มคก./ลบ.ม.
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การสาธารณสุขเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเรื่องเหล่านี้ทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งการลดการใช้รถยนต์แบบเผาไหม้ หันมาใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการเผา การดูแลสภาพแวดล้อม จะเห็นว่าเมื่อเข้าฤดูร้อน ส่วนใหญ่ปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆ หมดไป แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมควบคุมมลพิษ คาดว่าประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นไปอีกระยะ ดังนั้น จึงสั่งให้โรงพยาบาลในสังกัดสาธารณสุขติดตามปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องหรืออาจได้รับผลกระทบจากฝุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มที่อ่อนไหว ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และคนที่มีโรคปอดเรื้อรัง ให้ระวังดูแลร่างกายให้ดี พร้อมย้ำว่า หากเปรียบเทียบสถานการณ์ฝุ่นในปีนี้กับปีที่ผ่านมาปี 64-65 แน่นอนสถานการณ์ปีนี้ย่อมรุนแรงกว่า เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมาไทยเผชิญโควิด มีการเวิร์กฟรอมโฮม อาจทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายไป แต่หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปกติเมื่อ 4-5 ปีก่อน จะเห็นว่าวิกฤตฝุ่นไม่ได้รุนแรงมากกว่าเดิม
ด้านนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ได้ลงนามในหนังสือถึงหน่วยงานในสังกัด กทม. โดยกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด ด้วยสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เพื่อบรรเทาความรุนแรง และลดผลกระทบที่อาจเกิดในอนาคต จึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ทั้งการเข้มงวดตรวจวัด ตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภท ขอความร่วมมือทำงานหรือปฏิบัติงานในที่พัก เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาและให้ทุกสำนักงานเขตทำ Big Cleaning ฯลฯ
"รัฐบาลนี้ประกาศเรื่องฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติมาหลายปี แต่ยังไม่เห็นมาตรการที่ส่งผล ผมร่วมรณรงค์และลงชื่อกฎหมายอากาศสะอาดของประชาชนมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน แต่กฎหมายนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาในสภา จนสภาจะหมดวาระแล้วก็เลยยังไม่มีมาตรการชัดเจน สังเกตได้ว่าปัญหาเรื่องฝุ่นจะมีเป็นฤดูกาล พอสรุปได้ว่าต้นตอปัญหาน่าจะมาจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่าสภาพอากาศจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และพลังงานเป็นแหล่งที่มาของฝุ่น แต่มากกว่านั้นคือการเผาที่การเกษตรในช่วงฤดูกาลนี้ เราทราบกันดีว่าพฤติกรรมการเผามีเหตุผลและเงื่อนไขจากทางเศรษฐกิจ เราจึงต้องแก้ด้วยตรรกะทางเศรษฐกิจ คือสร้างแรงจูงใจไม่ให้เกิดการเผา” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้ากล่าว
นายกรณ์กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้าเสนอเรื่องพันธบัตรป่าไม้ที่ได้แนวคิดจาก อ.ศศิน เฉลิมลาภ และ อ.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คือการออกพันธบัตร 65,000 ล้านบาท เพื่อเป็นต้นทุนการปลูกป่าไม้เศรษฐกิจ 26 ล้านไร่ เพื่อให้พื้นที่ป่ากลับไปเป็น 40% ของพื้นที่ประเทศ ที่ผ่านมาเราใช้งบฟื้นฟูป่าปีละหลายร้อยล้านบาท แต่ไม่สามารถช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าได้ และเม็ดเงินไม่เพียงพอ หากใช้ปีละ 500 ล้านบาทอย่างมีประสิทธิภาพ ยังต้องใช้เวลาถึง 120-130 ปีเพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ แต่ด้วยนโยบายพันธบัตรป่าไม้ หัวใจคือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชาวไร่ เราจะเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และลดการเผาพื้นที่เกษตรได้พร้อมกัน
ที่ จ.เชียงใหม่ นายอารุณ ปินตา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ยังคงเดินหน้าลาดตระเวนและจัดทำแนวกันไฟ พร้อมควบคุม จัดทำทะเบียนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไฟป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมการลักลอบเผาและการเกิดไฟในพื้นที่ป่าให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ หากเกิดสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ใด ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการดับไฟให้ได้โดยเร็วไม่ให้ลุกลามข้ามคืน และหากเกินศักยภาพ ขอให้ประสานมายังจังหวัดเพื่อขอรับการสนับสนุนทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ รวมถึงอากาศยานเพื่อดับไฟในพื้นที่
สำหรับการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยคุณภาพสูงป้องกัน PM 2.5 ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีมติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เป็นผู้จัดหาหน้ากากอนามัยโดยใช้งบประมาณของท้องถิ่น ซึ่งหากไม่เพียงพอ สามารถแจ้งมายังองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความพร้อมในการจัดหาหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชนเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ขั้นวิกฤต โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนเมษายน ที่สภาพอากาศและปัจจัยเกื้อหนุนทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดวิกฤตรุนแรงกว่าทุกปี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"