ขึ้นเงิน‘อสม.’ไม่ใช่การเมือง

ปลัด สธ.แจงจ่ายเพิ่ม อสม.ไม่ใช่เครื่องมือการเมือง ยันมีแผนตั้งแต่กลางปี 65 ขณะที่ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ ประสานเสียงเป็นผลงานร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล "จุรินทร์" ได้ทีคุยลั่น! ตอบแทน อสม. เริ่มต้นโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จาก 1,000 เป็น 2,000 บาท ที่ออกมาช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้มีพรรคการเมืองออกมาเคลมผลงานถึง 3 พรรค และ อสม.มองว่าตกเป็นเครื่องมือของการเมืองว่า เรื่องค่าตอบแทน อสม.ปีงบประมาณ 2567 สธ.ตั้งล่วงหน้าไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ก็ต้องเตรียมข้อมูลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เชื่อว่า ภาพรวมทุกคนเห็นความสำคัญทุ่มเทเสียสละของ อสม. ก็อยากจะมีส่วนสนับสนุน หน่วยงานที่ดูแล อสม.ก็จะเป็น สธ. แต่การผลักดันก็ต้องให้เครดิตคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึงพนักงานลูกจ้างของ สธ. ออกมาตัดพ้อผู้บริหาร สธ. ที่อนุมัติค่าเสี่ยงภัยปฏิบัติงานโควิด-19 ล่าช้า รวมไปถึงการบรรจุข้าราชการโควิด-19 รอบ 2 และเรื่องสิทธิสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งต่างจาก อสม. ที่ทำได้รวดเร็ว นพ.โอภาสกล่าวว่า เรื่องนี้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง สธ. โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. และตัวแทนภาคีลูกจ้าง ซึ่งเป็นการประชุมคณะทำงานพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดย สธ.มีการเพิ่มค่าโอทีทุกสายงานที่เกี่ยวข้อง ก็มีการดำเนินการแล้ว

"ค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 ได้ตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 7,000 กว่าล้านบาท โดยเสนอสำนักงบประมาณแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณา คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในเร็วๆ นี้ ประมาณ 1 หรือ 2 นัดจากนี้ ซึ่งของเดิมค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 จบที่เดือนมิถุนายน แต่เราขยายถึงเดือนกันยายน และเกี่ยวข้องทั้ง สธ.และนอก สธ. ทั้งมหาวิทยาลัยและเอกชน" นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีปัญหาบุคลากรที่ถูกเรียกร้องบ่อยๆ จะมีแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า สธ.ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ทุกเดือน โดยประชุมไป 2 รอบแล้ว ซึ่งเห็นตรงกันว่า โดยกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน ฉบับปัจจุบัน มีรายละเอียดมาก และ สธ.มีสายงานมากกว่า 60 สายงาน หากใช้กฎกติกาแบบเดิมจะบริหารได้ยากมาก จึงหารือกับ ก.พ. ว่าเราจะพยายามทำเป็นคณะทำงานที่เรียกว่า HR Sandbox Human Resources คล้ายๆ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

"โดยจัดพื้นที่สักแห่ง และปรับกฎหมายให้ดำเนินการได้แบบแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้เป็นโมเดลในการดำเนินการขั้นต่อไป เพราะระเบียบปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรไม่ได้ เพราะ ก.พ.เป็นกฎรวมของประเทศ การจะไปแก้อะไรจะกระทบหน่วยงานอื่นได้ จึงจะทำโมเดลนี้และเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน" นพ.โอภาสกล่าว

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นผลงานร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะ 3 พรรคการเมืองที่กำลังเป็นข่าวอยู่ ทั้งประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ ล้วนถือเป็นผลงานร่วมกันทั้งสิ้น เพราะรัฐมนตรีที่ดูแลกรมส่งเสริมบริการสุขภาพ ซึ่งดูแล อสม. ก็คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้นเรื่องในการสนับสนุน ส่งเสริมให้ อสม.มีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท

สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสังกัดพรรคภูมิใจไทย ก็ต้องเป็นผู้ที่เห็นชอบ จึงจะนำเข้า ครม.ได้ ก็ถือว่าเป็นผลงานของท่านด้วย และถ้าท่านนายกรัฐมนตรี หากไม่อนุมัติให้เข้า ครม. ก็จะไม่ได้มีการอนุมัติ ก็ต้องถือว่าเป็นผลงานของท่านนายกฯ ด้วย จึงเป็นผลงานร่วมกัน ไม่ใช่ผลงานใครคนใดคนหนึ่ง

 “ผมก็ทราบเรื่องตั้งแต่ต้น เพราะรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขก็มาปรึกษาผมเป็นเดือนๆ มาแล้วว่าอยากเพิ่มค่าตอบแทน อสม. จาก 1,000 เป็น 2,000 ผมก็เห็นด้วย เพราะถึงเวลาแล้ว ยืนยันว่าไม่ใช่เฉพาะผลงานภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ แต่เป็นผลงานร่วมกันที่ได้ทำกันมา ก็แบ่งๆ กันไป ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งหรอก” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

พร้อมกับเพิ่มเติมว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เริ่มต้นให้ค่าตอบแทน อสม.มาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ และผมเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ตอนนั้นเราเริ่มต้นให้ 600 บาท ต่อมารัฐบาลถัดมาก็เพิ่มให้เป็น 1,000 บาท แล้วรัฐบาลนี้ก็เพิ่มเป็น 1,500 ช่วงหนึ่ง เพราะช่วยเรื่องโควิด 500 บาท แล้วมาถึงปลายรัฐบาล เราก็ให้เป็น 2,000 เพราะฉะนั้นจึงมีความเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พรรคการเมืองพูดเรื่องนี้ เป็นการใช้ประโยชน์ในช่วงเลือกตั้งหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ขอไม่วิจารณ์ และเป็นธรรมดาในตอนหาเสียงเลือกตั้ง ทุกคนก็ต้องเอาผลงานไปบอกให้ประชาชนทราบ ประชาธิปัตย์ก็ต้องไปบอก แม้ว่าจะเป็นผลงานร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเพิ่มค่าตอบแทนดังกล่าว จะส่งผลต่อระบบงบประมาณ 2567 และถูกมองว่าจะเป็นภาระผูกพันหรือไม่ นายจุรินทร์ตอบว่า เมื่อเพิ่มค่าตอบแทน ไม่ว่าอันไหนก็ตาม ก็ต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้น จึงต้องเป็นไปตามสถานภาพทางการคลังของประเทศต่อไป แต่เรื่องนี้ถ้าจะเริ่ม ก็ต้องเป็นของงบประมาณปี 67 ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และข้อเท็จจริงต่อไป อย่างน้อยคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็ได้อนุมัติเป็นหลักการไว้แล้ว

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มติดังกล่าวรัฐบาลภายใต้การกำกับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์อาชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นถึงความสำคัญของ อสม. และ อสส.ทั้งหมด 1,090,163 คน เพราะเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมระบบสุขภาพปฐมภูมิ เป็นหมอประจำบ้านช่วยงานด้านสาธารณสุขในชุมชน โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งค่าป่วยการของ อสม.และ อสส. เดือนละ 1,000 บาท เป็นอัตราที่ใช้มาตั้งแต่ธันวาคม 2561 แต่ปัจจุบันภารกิจเพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาลที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค อสม.และ อสส.ต้องมีหน้าที่คัดกรองเพื่อประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ช่วยคัดกรองโควิดระยะ Post-Pandemic และติดตามผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดในระบบสมัครใจบำบัด จึงพิจารณาเพิ่มค่าป่วยเพื่อตอบแทนความทุ่มเทในการทำงาน

"เป็นความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาลทุกฝ่าย จึงไม่เป็นห่วงว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลายระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในการนำนโยบายไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเป็นผลงานร่วมกันของทุกคน ตลอดระยะเวลาการทำงานของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เน้นนโยบายการดูแลกลุ่มเปราะบาง ย้ำเรื่องการใช้งบประมาณให้คุ้มค่าเพื่อเกิดประโยชน์กับประชาชนที่สุด" นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง