นพ.รุ่งเรืองเฉลยแล้ว ไทยใช้งบกว่า 4 แสนล้านบาทในการสู้โควิด ส่วนการจัดหาวัคซีนใช้เพียง 7.7 หมื่นล้าน “บิ๊กตู่” กำชับ สธ.จับตาโรคที่มากับฤดูร้อน พร้อมกำชับหน่วยงานเข้มงวดเรื่องความสะอาด
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) เปิดเผยว่า จากการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกี่ยวกับการเงินการคลังสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ พบว่าแหล่งงบประมาณหลักด้านสาธารณสุขในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 มาจากงบกลางและงบเงินกู้กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 รวมทั้งสิ้น 444,294 ล้านบาท โดยเป็นค่าบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เช่น ค่าตรวจคัดกรอง ค่ารักษาพยาบาล ค่าฉีดวัคซีน เป็นต้น ในสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 260,174 ล้านบาท หรือ 59% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตามด้วยการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน รวม 77,987 ล้านบาท หรือ 17% และค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง 57,499 ล้านบาท หรือ 13% ส่วนที่เหลือเป็นค่ายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ และองค์กรการวิจัยและพัฒนา ฯลฯ
นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า สถานะเงินบำรุงของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. พบว่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสถานะเงินบำรุงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับภาพรวมของรายได้และอัตราการเพิ่มของสินทรัพย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าเงินที่อุดหนุนโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพียงพอในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยในช่วงที่ระบาดโรคโควิด-19 พบว่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด พบว่ามีความเสี่ยงในการล้มละลายลดลง 30-33%
วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนภายหลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2566 เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.เป็นต้นไป จึงได้กำชับให้ สธ.เฝ้าระวังพร้อมแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคติดต่อที่มากับฤดูร้อน ซึ่งส่วนใหญ่มักพบโรคที่เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมไปถึงภัยสุขภาพจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น
น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า โรคที่มักพบในช่วงฤดูร้อนคือโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ อาทิ โรคอุจจาระร่วง, ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย, โรคอาหารเป็นพิษ, โรคอหิวาตกโรค และโรคไวรัสตับอักเสบเอ สามารถป้องกันได้ด้วยการยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ โดยกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์และต้องดื่มน้ำที่สะอาดด้วย ส่วนภัยสุขภาพที่มักพบในช่วงหน้าร้อน ที่ต้องให้การระมัดระวังเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ
“นายกฯ ยังเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานราชการเข้มงวดในเรื่องของความสะอาดในการให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะ โดยพื้นที่ให้บริการประชาชนต้องมีความสะอาด เช่น พื้นที่รอรับบริการ โรงอาหาร ห้องน้ำ และขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ รวมถึงอันตรายจากการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากอากาศร้อน” น.ส.ไตรศุลีกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"