ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ชี้ขาดคำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย ปม กกต.นำคนไม่มีสัญชาติไทยคำนวณแบ่งเขต เกิดเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งใน 8 จังหวัด ส.ส.เชียงราย เชียงใหม่ ตาก สมุทรสาคร ลดไป 1 เก้าอี้ ขณะที่อุดร ลพบุรี นครศรีฯ ปัตตานี เพิ่มขึ้น 1 คน
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือและลงมติ คำร้องที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 ซึ่ง กกต.คิดคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค. ของปีที่ล่วงมา มาใช้ในการคิดคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ต่อมามีผู้โต้แย้งและขอให้ผู้ร้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐาน การทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 เป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา
หลังมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การคำนวณจำนวน ส.ส. จึงมีการเปลี่ยนแปลง จากจำนวนราษฎรที่ไม่รวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 ตามประกาศสำนักทะเบียนกลางลงวันที่ 5 ม.ค.2566 มีทั้งสิ้น 65,106,481 คน เมื่อนำมาคำนวณกับจำนวน ส.ส. 400 คน ค่าเฉลี่ยราษฎร 162,766 คนต่อ ส.ส. 1 คน ซึ่งมีผลให้มีการเพิ่มลดจำนวน ส.ส.ใน 8 จังหวัด โดยจังหวัดที่มี ส.ส.เพิ่ม 1 คน มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุดรธานี ลพบุรี นครศรีธรรมราช ปัตตานี และจังหวัดที่มี ส.ส.ลดลง 1 คน มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ตาก และสมุทรสาคร
สำหรับรายละเอียด ส.ส.ทั้ง 77 จังหวัด เมื่อคำนวณจากจำนวนราษฎรที่ไม่นับรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย กรุงเทพมหานครยังคงมี ส.ส.มากที่สุด 33 คน ตามมาด้วยนครราชสีมา มี ส.ส. 16 คน
ส่วนที่มี ส.ส. 11 คน มี 2 จังหวัด คือขอนแก่นและอุบลราชธานี, ที่มี ส.ส. 10 คน มี 5 จังหวัดคือ นครศรีธรรมราช ชลบุรี เชียงใหม่ อุดรธานี และบุรีรัมย์, ที่มี ส.ส. 9 คน มี 2 จังหวัด คือศรีสะเกษและสงขลา, ที่มี ส.ส. 8 คน มี 4 จังหวัดคือ นนทบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ และสุรินทร์, ที่มี ส.ส. 7 คน มี 5 จังหวัด คือ เชียงราย ชัยภูมิ ปทุมธานี สกลนคร และสุราษฎร์ธานี, ที่มี ส.ส. 6 คน มี 5 จังหวัดคือ กาฬสินธุ์ นครปฐม นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และมหาสารคาม, ที่มี ส.ส. 5 คน มี 9 จังหวัด คือ ปัตตานี ลพบุรี กาญจนบุรี นราธิวาส พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ระยอง ราชบุรี และสุพรรณบุรี
ที่มี ส.ส. 4 คน มี 8 จังหวัด คือกำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ตรัง นครพนม ลำปาง เลย สระบุรี และสุโขทัย, ที่มี ส.ส. 3 คน มี 21 จังหวัด คือ ตาก กระบี่ จันทบุรี ชุมพร น่าน บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต ยโสธร ยะลา สระแก้ว หนองคาย หนองบัวลำภู สมุทรสาคร และอุตรดิตถ์, ที่มี ส.ส. 2 คน มี 10 จังหวัด คือ ชัยนาท นครนายก พังงา มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ลำพูน สตูล อ่างทอง อำนาจเจริญ และอุทัยธานี และที่มี ส.ส. 1 คน มี 4 จังหวัด คือ ตราด ระนอง สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี
ทั้งนี้ หากคิดจำนวน ส.ส.เป็นรายภาคโดยตามประกาศ กกต.เรื่องบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด 2560 ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และ 26 จังหวัด จะมี ส.ส. 122 คน, ภาคใต้ 14 จังหวัด จะมี ส.ส. 60 คน, ภาคเหนือ 16 จังหวัด จะมี ส.ส. 37 คน, ภาคอีสาน 20 จังหวัด จะมี ส.ส. 133 คน, ภาคตะวันออก 8 จังหวัด จะมี ส.ส. 29 คน และภาคตะวันตก 5 จังหวัด จะมี ส.ส. 19 คน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ว่า ทาง พปชร.ได้เตรียมการไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร เราก็เตรียมแผนไว้รองรับอยู่แล้ว จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เราก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ต้องรอ กกต.ว่าจะดำเนินการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จสิ้นเมื่อใด ซึ่งทางพรรคก็จะได้ส่งชื่อ ส.ส.หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตให้ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและตัวแทนสาขาพรรค เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเราได้เตรียมแผนไว้แล้วว่าจะเริ่มนับหนึ่งในวันที่ กกต.ประกาศแบ่งเขต แต่ทั้งนี้กระบวนการสรรหาที่เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 50 และมาตรา 51 ซึ่งได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ทุกอย่างพร้อมแล้วไม่มีปัญหา
ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวมีผลกระทบกับพรรคการเมืองแน่นอน เพราะไม่สามารถคัดสรรผู้สมัครที่จะส่งลงรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้ เพราะต้องรอการประกาศเขตเลือกตั้งจาก กกต.อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ดังนั้นเมื่อในพื้นที่ 8 จังหวัดที่มีปัญหาต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ทำให้ต้องมีเวลาเพื่่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ ตามระเบียบ กกต. ประมาณ 10 วัน
เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวมองว่าจะกระทบปฏิทินยุบสภา ตามที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นวันที่ 15 มี.ค.นี้หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีอำนาจยุบสภาได้ทุกวันนับจากนี้ แต่จะรอให้ กกต.ดำเนินการตามขั้นตอนให้พร้อมหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะอยู่ที่นายกฯ จะตัดสินใจ แต่หากนายกฯ จะรอ เชื่อว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 22 มี.ค. แน่นอน เพราะไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวันเลือกตั้งที่ กกต.วางปฏิทินไว้ 7 พ.ค. เนื่องจากกรอบการเลือกตั้งหลังยุบสภาจะอยู่ในช่วงไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่คาดคะเนไว้ เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและเห็นไม่ตรงกันมาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 เพราะการให้บริการสาธารณะและสังคมต้องนับพลเมืองทุกคนหรือบุคคลทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย แต่สิทธิพลเมืองและการคำนวณเขตการเลือกตั้งต้องดูประชากรที่มีสัญชาติที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นหลัก
เขาสงสัยว่า เหตุใดเมื่อปี พ.ศ.2562 กกต.ผู้ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ผ่านกฎหมายลูกจึงไม่หยิบยกขึ้นมาดำเนินการตั้งแต่ครั้งที่แล้ว จึงทำให้เกิดข้อสงสัยและความคลางแคลงใจว่าตกลงแล้วการมายื่นและตีความในครั้งนี้ เป็นเพราะจะทำให้ก่อเกิดประโยชน์และส่วนได้เสียกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ให้แบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ทั้งนี้ การที่ศาลเขียนว่าให้มีผลบังคับในวันที่ 3 มีนาคม 2566 และไม่ให้เท้าความหรือย้อนความว่าเกิดการกระทำความผิดพลาดอย่างใด เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาขึ้นมาอีก
นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ ก็ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งให้ถูกต้องโดยเร็ว เพราะแต่ละพรรคการเมืองได้คัดว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กันไปเกือบหมดแล้ว จากนี้จะมีผลต่อกระบวนการคัดเลือกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งทราบว่ากกต.ได้นัดถกด่วนเรื่องการแบ่งเขต ก็หวังว่าจะถกด่วนจริง ไม่ใช่ว่าติดวันเสาร์-อาทิตย์แล้วอ้างว่าให้ไปรอสัปดาห์หน้าอีก ก็จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองที่รอคอยความชัดเจนเรื่องการแบ่งเขต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
สาวกเพื่อไทย ยื่นศาลรธน.สอบ 'ธนพร' ละเมิดอำนาจศาล
ที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ นายนิยม นพรัตน์ หรือเค สามถุยส์ และนายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือร้อง นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์
'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' ได้รับความเป็นธรรม ศาลรธน. ไม่รับคำร้องปมล้มล้างการปกครอง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายอิสระ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย(พท.) ยุติการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองจะผูกพันไปยังกรณีที่มีการยื่นคำร้องเดียว
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.
หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
แก้วสรร : ประเมินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
แก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง "ประเมินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" โดยมีเนื้อหาดังนี้