กกร.ชี้ช่วงเลือกตั้งเอกชนชะลอลงทุนยาว รอโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน กระตุ้นการบริโภคในประเทศ ยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยไม่ถดถอย แม้ส่งออกหดตัวคาดปีนี้ติดลบ 1% เชื่อท่องเที่ยวหนุนจีดีพีโต 3-3.5%
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนมีนาคม 2566 ว่า การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มหดตัวต่ออีกระยะหนึ่ง สอดคล้องกับการส่งออกของคู่แข่งของไทยในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ที่มีทิศทางหดตัวเช่นเดียวกัน โดยได้รับผลกระทบจากกิจกรรมภาคการผลิตของโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลังหลังจากความต้องการสินค้าที่ได้อานิสงส์จากโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับการเวิร์กฟรอม โฮมลดลง ซึ่งมีผลให้สินค้าบางประเภทมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ราคาสินค้าส่งออกยังมีแนวโน้มลดลงตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้น มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 อาจต่ำกว่าปีที่ผ่านมาได้
ทั้งนี้ มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession) แม้ในไตรมาสที่ 4/65 จะหดตัว 1.5% เทียบกับไตรมาสที่ 3/65 แต่คาดไตรมาส 1/66 จะไม่หดตัวต่อ เนื่องจากการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกให้ฟื้นตัวได้ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะเพิ่มสูงถึงราว 25-30 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิมที่ราว 22 ล้านคน จากปัจจัยดังกล่าวเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ แม้ว่าการส่งออกจะมีโอกาสหดตัวในกรอบ -1.0% ถึง 0.0% เทียบกับประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.0% ถึง 2.0% แต่การท่องเที่ยวและการขับเคลื่อนการใช้จ่ายของภาครัฐยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%
ประธาน กกร.กล่าวว่า เนื่องจากภาคการส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาคเอกชนน่าจะชะลอการลงทุนไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2566 หรือจนกว่าจะได้รัฐบาล และในระยะเวลาที่เหลือรัฐบาลควรที่จะให้ความสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยเฉพาะการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะงัก รวมทั้งอาศัยโอกาสจากภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง ส่งเสริมและกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเศรษฐกิจเดิม
"ยอมรับว่าในช่วง 2-3 เดือนนี้ เอกชนชะลอการลงทุน เพื่อรอดูทิศทางและนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยภาคเอกชนคาดหวังจะเห็นนโยบายที่สร้างและยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ดูแลต้นทุนด้านค่าแรง การลงทุนในระบบโลจิสติกส์รถไฟรางคู่ ด้านพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุน รวมถึงลดความผันผวนด้านค่าเงิน เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน" นายเกรียงไกรระบุ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังแสดงความคิดเห็นเรื่องค่าแรง ความผันผวนของค่าเงินบาท และต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ปัจจัยท้าทายเหล่านี้ส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นการแก้ไขปัญหา รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้สามารถปรับตัวรับความเสี่ยงผลจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น
ด้านนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัว 3.3-3.5% ซึ่งการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนมาเที่ยวไทยในปีนี้ประมาณ 7-8 ล้านคน และในจำนวนนี้ 67% วางแผนเดินทางไปติดต่อธุรกิจในจีน ทั้งนี้ หากมีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินได้ถึง 200 เที่ยวต่อวัน จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากจีนมาเที่ยวไทยเพิ่มอีก 2 หมื่นคนต่อวัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง
แจง4คนไทยติดขั้นตอน เย้ยรบ.-ทหารมีไว้ทำไม
กต.แจงลูกเรือประมงไทย 4 คนยังติดขั้นตอนปล่อยตัวจากเมียนมา
ขู่แก้รธน.ก่อนโดนสอยยกสภา
"เพื่อไทย" แทงกั๊กร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับพรรคส้ม
เอาแน่‘กาสิโน’ขึ้นบนดิน
“ทักษิณ” สวมบทนายกฯ ตัวจริง ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย 3 แห่งรวด
ไม่กล้าเขี่ยพีระพันธ์ แม้วเกทับไฟฟ้าเหลือ3.70 จะทุบทุนผูกขาดทุกชนิด!
"พ่อนายกฯ" โชว์เหนือ จะทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 ต่อหน่วย เ
‘อ้วน’ ยันปล่อย 4 คนไทยเร็วๆนี้
ครบรอบวันชาติเมียนมา 4 ลูกเรือประมงไทยรอเก้อ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่อภัยโทษ 151 คนไทยถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์