หวั่นโควิดมาอีก ช่วง‘สงกรานต์’ ระวังไข้หวัดนก

สธ.เผยโควิด-19 ในไทยยังคงตัว อาจพบติดเชื้อเพิ่มขึ้นช่วงสงกรานต์-เปิดเทอม ย้ำกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือ LAAB ส่วน “ไข้หวัดนก” ให้ยกระดับเฝ้าระวังใน รพ.และชุมชน "กรมควบคุมโรค" ยันวัคซีน  mRNA ปลอดภัย มีประสิทธิภาพป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต แจงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 1 รายต่อล้านเข็ม

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี วันที่ 27  กุมภาพันธ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า แนวโน้มพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงทั้งแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 204 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 66 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 44 ราย  และผู้เสียชีวิต 9 ราย แนวโน้มอยู่ในระดับคงตัว โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนเกิน 3 เดือน หรือไม่ได้ฉีดภูมิคุ้มกัน LAAB  สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพบติดเชื้อโควิด-19  ประปราย ซึ่งศักยภาพด้านการแพทย์ยังรองรับได้

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอาจจะพบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงสงกรานต์และเปิดเทอมนี้ จึงเน้นการสื่อสารให้ประชาชนยังปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค คือ ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือฉีด LAAB หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และสวมหน้ากากขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ส่วนผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือ LAAB หากป่วยให้รีบเข้ารับการรักษา รวมทั้งให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ  โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ขนส่งสาธารณะ สำหรับเด็กเล็กแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ

 “กระทรวงสาธารณสุขยังคงเฝ้าระวังโรคโควิด-19  อย่างเข้มข้น โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการติดตามสถานการณ์ไวรัสและสายพันธุ์ต่างๆ ต่อเนื่อง ส่วนกรมควบคุมโรคได้จัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการฉีดวัคซีนในปีหน้า ขณะที่กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาสำหรับปีหน้าด้วยเช่นกัน ทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยา เวชภัณฑ์ และการให้การรักษา” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศกัมพูชา และให้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคและคัดกรองผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกในสถานพยาบาล เพิ่มการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในชุมชน โดยแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบและดำเนินการสอบสวนป้องกันควบคุมการระบาดของโรค กรณีที่พบผู้ป่วยทางเดินหายใจที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนก หรือสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตาย หรือมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดภายใน 14 วัน หรือกรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือพบผู้ป่วยปอดอักเสบเป็นกลุ่มก้อน และหากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้มีการคัดกรองผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตายด้วย รวมถึงขอให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดชายแดน หรือจังหวัดที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกจำนวนมาก ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อซักซ้อมแผนการเฝ้าระวัง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ หน่วยงานปศุสัตว์ อสม. อาสาสมัครปศุสัตว์ทันที และให้งดชำแหละหรือนำไปรับประทานแบบไม่สุกหรือสุกๆ ดิบๆ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สธ.ยังคงเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ยืนยันว่าวัคซีนชนิด mRNA ที่ประเทศไทยจัดหามาทั้งชนิดรุ่นเก่า (monovalent) และรุ่นใหม่ (bivalent) มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับสูง โดยก่อนที่ สธ.จะออกคำแนะนำการใช้วัคซีนโควิด-19 ในทุกครั้ง ได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคถึงประสิทธิภาพ ความสามารถในการลดการติดเชื้อ ป่วยหนัก และลดการเสียชีวิตหากฉีดวัคซีนได้ครบถ้วน คํานึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสําคัญ  หากพบเคสที่มีอาการรุนแรงภายหลังรับวัคซีน คณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI) จะลงไปดูรายละเอียดว่าเป็นผลจากวัคซีนหรือไม่ในทุกราย

"ปัจจุบันไทยฉีดวัคซีนไปมากกว่า 146 ล้านโดส จำนวนนี้เป็นวัคซีน mRNA มากกว่า 55 ล้านโดส วัคซีนมีประสิทธิภาพดี มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงที่พบบ่อยมักเป็นอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ต่ำๆ สำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น  การแพ้วัคซีน จะพบได้น้อยมาก" นพ.ธเรศกล่าว

นพ.ธเรศกล่าวว่า กรณีที่มีการส่งต่อข้อความในสื่อโซเชียลเกี่ยวกับประเด็นการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA สธ.ได้ตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศ พบว่าปัจจุบันยังไม่พบความเกี่ยวข้องของการเกิดอาการสมองอักเสบกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตามหลังการฉีดวัคซีน ข้อมูลในไทยพบได้ประมาณ 1 ราย ต่อการฉีดหนึ่งล้านเข็ม ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง กลับกันพบว่าผู้ป่วยโควิดจะมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่า 5-10 เท่า และมีความรุนแรงสูงกว่ามากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เมื่อติดเชื้อโควิดจะมีโอกาสเข้าไอซียู หรือเสียชีวิตจากภาวะทางหัวใจและปอดได้สูงหากไม่ฉีดวัคซีน แต่ถ้าได้รับการฉีดวัคซีน ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะพบได้น้อยลงมากแม้จะเป็นโควิด ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่า การฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสเกิดหัวใจอักเสบจากโรคโควิด ได้

ด้าน ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การฉีดวัคซีน mRNA  ผ่านจุดที่เรียกว่าทดลองมานานแล้ว เพราะวัคซีน  mRNA มีการฉีดไปแล้วมากกว่าพันล้านโดสทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน ต้องเรียกว่าเป็นวัคซีนที่มีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามกระบวนการที่เข้มงวด ทั้งก่อนและหลังขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากการศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมในประชากรที่แตกต่างกัน ผลออกมาชัดเจนว่ายิ่งอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเท่าใด จำนวนผู้ป่วยรวมถึงอัตราการเสียชีวิตในประชากรจะยิ่งลดลง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง