กลุ่มปกป้องสถาบัน บุกทำเนียบฯ ยื่นหนังสือไล่แอมเนสตี้ให้พ้นแผ่นดินไทย "แรมโบ้อีสาน" เดิมพัน ถ้าไล่ไม่สำเร็จจะลาออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ออกจากประเทศ "ครูหยุย" ชี้แอมเนสตี้ไทยไม่ตรงไปตรงมา พิทักษ์สิ่งที่ผิด ย่ำยีสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าแอมเนสตี้ใหญ่ไม่จัดการก็ไม่ควรมีองค์กรลูกในไทย
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล นายนพดล พรหมภาสิต ตัวแทนกลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบัน และนายอานนท์ กลิ่นแก้ว ตัวแทนกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พร้อมด้วยผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลตรวจสอบและจัดการตามกฎหมายกับองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ และขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน รวมทั้งให้ขับองค์กรดังกล่าวออกนอกประเทศ
นายนพดลกล่าวว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ว่าการกระทำของนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการ ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่า แอมเนสตี้ได้ออกมาประกาศแคมเปญ เขียนจดหมายล้านฉบับถึงทั่วโลก จี้ทางการไทยให้หยุดดำเนินคดีกับ น.ส.ปนัสยา ซึ่งถือได้ว่าองค์กรนี้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ และจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย เนื่องจากคำตัดสินหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นผูกพันทุกองค์กร อีกทั้งการกระทำของแอมเนสตี้ยังอาจถือได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนต่อคนหรือกลุ่มบุคคลให้กระทำการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"จากเหตุผลข้างต้น น่าจะเพียงพอแล้วที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยเร่งด่วน ด้วยการให้องค์กรนี้พ้นออกไปจากประเทศไทย หากมีข้อมูลและหลักฐานที่เชื่อได้ว่าองค์กรนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะแทรกแซงกิจการภายในของไทย และก่อนที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกล่วงละเมิดไปมากกว่านี้" นายนพดลกล่าว
ด้านนายเสกสกล นอกจากรับหนังสือดังกล่าวแล้ว ยังร่วมปราศรัยด้วยท่าทีดุดันว่า ตนมีสองแนวทางคือ 1.เราจะกดดันด้วยกฎหมาย เพื่อจัดการกับแอมเนสตี้ที่ไม่รักษากฎหมายของไทย จึงต้องเอาเข้าคุกหรือเอาออกนอกประเทศ หรือไม่ก็ยุบองค์กรดังกล่าวให้ได้ 2.กดดันด้วยพลังพี่น้องประชาชนที่จงรักภักดีกับสถาบัน ให้หยุดการกระทำ
"ผมขอสัญญากับมวลชนว่า ผมไม่ยึดติดตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี คนอย่างแรมโบ้ อีสาน มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ใครที่คิดมาทำลายแผ่นดิน ชาติ ศาสนา และคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมพร้อมพลีชีพกับพี่น้องประชาชน ถ้าผมไล่แอมเนสตี้ออกนอกประเทศไม่ได้ จะลาออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ออกจากประเทศ เพื่อมาขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องประชาชนและไล่แอมเนสตี้ออกไป" นายเสกสกลให้คำมั่น และว่า จะสู้ร่วมกับพี่น้องประชาชนที่ปกป้องสถาบันจนกว่าพวกมันจะพ้นจากประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการยื่นหนังสือ ผู้ชุมนุมได้มีการแสดงพลัง พร้อมใจกันตะโกนขับไล่แอมเนสตี้ออกจากประเทศไทย และยังปราศรัยโจมตีการเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้และมวลชนกลุ่มราษฎรที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ปฏิรูปสถาบันในสถานที่ต่างๆ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการขับไล่แอมเนสตี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ว่า "ใครขัดแย้ง ถ้าขัดแย้งก็อย่าเสนอให้ขัดแย้งสิ ความคิดของคน"
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ถือเป็นองค์กรแม่ มีหลักในการดูแลกรณีการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในประเทศไทย เป็นองค์กรลูกที่ไม่ตรงไปตรงมา เพราะยืนอยู่ฝั่งต่อต้านรัฐบาล และไปพิทักษ์สิ่งที่ผิด ย่ำยีสิ่งที่ถูกต้อง ทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ผิดหลักการ ใช้เป็นเครื่องมือย่ำยีทำลายประเทศตนเอง เชื่อว่าในอนาคตองค์กรก็จะล่มสลายไปเอง ซึ่งหลักการขององค์กรแม่นั้นถือว่ามีความตั้งใจดี แต่คนนำไปยืนผิดจุด เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย องค์กรมีหลักการดี แต่ผิดที่คน
"ตอนนี้คนไทยก็ขับไล่องค์กรลูกที่ทำผิดหลักการสำคัญ ดังนั้นต้องรีบจัดการ เช่นเปลี่ยนคนในองค์กรลูก ถ้าไม่เปลี่ยนคนก็ต้องไม่มีองค์กรลูกในประเทศไทย"
เขากล่าวว่า องค์กรระดับนานาชาติเหล่านี้ หากจะเข้ามาจัดตั้งในประเทศไทยได้ จะต้องทำเรื่องขออนุญาตทางรัฐบาลไทย เพื่อขอมาตั้งองค์กรในประเทศเรา โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล แต่เมื่อเป็นองค์กรต่างชาติด้วยแล้วทางกระทรวงมหาดไทยจะต้องทำเรื่องประสานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้การรับรอง เมื่อมีการทำผิดเกิดขึ้นทางกระทรวงมหาดไทยต้องประสานกระทรวงการต่างประเทศทำเรื่องไปถึงองค์กรแม่เพื่อให้เขาแก้ไขปัญหา ถ้าเขาเงียบ เราก็ต้องจัดการโดยกฎหมายไทยไป เพราะเรื่องนี้องค์กรไม่มีปัญหา แต่คนมีปัญหา
นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา แนะว่า ถ้านายกฯ กล้าตัดสินใจสามารถทำได้โดยเร็วดังนี้ กรณีเร่งด่วน! ทำคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมดำเนินการระงับใบอนุญาตประกอบกิจการองค์การเอกชน แอมเนสตี้ไทยแลนด์ได้ทันที
แต่ถ้าอยากจะทำแบบช้าๆ ก็คือออกคำสั่งให้ รมว.แรงงาน ส่งเรื่องต่อไปยัง “คณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศ” (ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงาน) ซึ่งหากผลสอบสวนออกมาอาจแค่ตักเตือน (ในกรณีที่แอมเนสตี้เส้นใหญ่) การสืบสวนเมื่อเสร็จสิ้นในกรณีเส้นใหญ่ อาจเป็นเพียงออกหนังสือ “ตักเตือนพฤติกรรม” ซึ่งทำให้แอมเนสตี้ไทยแลนด์อยู่ต่อได้
เขาระบุว่า ใบอนุญาตให้แอมเนสตี้ไทยแลนด์ประกอบกิจการรับเงินบริจาคในประเทศไทยมีอายุ 2 ปี ต่ออายุก่อนหมดเวลาภายใน 90 วัน นอกเสียจากคณะกรรมการฯ จะไม่ต่ออายุ ซึ่งแอมเนสตี้สามารถอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ภายใน 30 วัน โดยอำนาจสิทธิ์ขาดเป็นของ รมว.แรงงาน
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงรายละเอียดสั่งฟ้อง โดยพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องนายอานนท์ อำภา, นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน,นายชินวัตร หรือไบรท์, นายสมยศ, น.ส.พิมพ์สิริ, น.ส.ณัฏฐธิดา และนายพรหมศร หรือฟ้า ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทสถาบัน ม.112, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ม.116 ส่วน น.ส.อินทิรา หรือทราย สั่งฟ้องข้อหา ม.116 เพียงข้อหาเดียว
กรณีพวกผู้ต้องหาร่วมกันชุมนุมปราศรัยหน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (รอ.) ในการชุมนุม "ปลดอาวุธศักดินาไทย" เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2563
โดยวันนี้มีผู้มารายงานตัว 4 คน คือ น.ส.อินทิรา, น.ส.พิมพ์สิริ, นายสมยศ และ น.ส.ณัฏฐนิดา ขณะที่นายชินวัตรและนายพรหมศรขอเลื่อนรายงานตัววันที่ 29 พ.ย. ส่วนนายอานนท์และนายพริษฐ์อยู่ระหว่างการควบคุมตัวในเรือนจำ
ศาลประทับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อ.2948/2564 และศาลสอบคำให้การจำเลยที่ 3-6 แล้วให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น.
สำหรับวันนี้ อัยการโจทก์ได้ฟ้องส่งตัวนายสมยศ, น.ส.พิมพ์สิริ, น.ส.ณัฏฐธิดา และ น.ส.อินทิรา หรือทราย เพียง 4 คนเท่านั้น ซึ่ง น.ส.อินทิราอัยการสั่งไม่ฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 ส่วนจำเลยอื่นอีก 7 คนฟ้องทุกข้อหา
ต่อมาเวลา 16.00 น.เศษ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย 4 คน ที่ถูกยื่นฟ้องในวันนี้ โดยตีราคาประกันนายสมยศ 2 แสนบาท, น.ส.พิมพ์สิริและ น.ส.ณัฏฐธิดา คนละ 1 เเสนบาท ส่วน น.ส.อินทิรา 35,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำกิจกรรมอันเป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบัน เเละห้ามออกนอกประเทศเว้นได้รับอนุญาตจากศาล.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน