สภานัดสุดท้ายเหลือ417สส.

ประชุมสภานัดสุดท้าย ส.ส. เหลือ 417 คน ผ่านปลดล็อกแก้ พ.ร.ก.ประมง ยึดร่างฝ่ายค้านเป็นหลัก ด้าน "ส.ส.ก้าวไกล" ตั้งกระทู้ข้องใจเลื่อนใช้ กม.อุ้มหาย "สมศักดิ์" แจงไม่มีเจตนาถ่วงกม. ไม่รับรองส่งให้สภาทันปิดสมัยประชุมหรือไม่ ที่ปรึกษา ปธ.สภาฯ ยันเปิดประชุมสมัยวิสามัญเป็นอำนาจ ครม.-ส.ส.-ส.ว. "อนุทิน" ไม่หวั่นร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ คลอดไม่ทัน ซัดคนขวางเท่ากับต้องการให้กัญชามีเสรี

ที่รัฐสภา วันที่ 23 กุมภาพันธ์ มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดสมัยการประชุมสามัญประจำปีในวันที่ 28 ก.พ.นี้ โดยก่อนการประชุม น.ส.กิตติประภา จิวะสันติการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่องให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่าง หลังนายภาคิน สมมิตรธนกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 26 ได้มีหนังสือขอลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของนายภาคินสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (8) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

จากนั้นเวลา 09.30 น. ในการประชุมสภา ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ให้ น.ส.กิตติประภากล่าวคำปฏิญาณตนตามรัฐธรรมนูญก่อนปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยนายศุภชัยกล่าวว่า ขอแสดงความยินดีด้วย และน่าจะเป็นคนสุดท้ายของสภาชุดนี้ โดยขณะนี้มี ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ 417 คน องค์ประชุม 209 คน 

หลังจากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 จำนวน 7 ฉบับ ตามที่หลายพรรคการเมืองเสนอมา ซึ่งตกค้างการลงมติวาระรับหลักการจากการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเกิดเหตุสภาล่ม โดยการพิจารณาในครั้งนี้มีกลุ่มชาวประมงมาติดตามการพิจารณาร่างกฎหมายดังกลาวในห้องประชุมสภาด้วย โดยที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบวาระรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 297 ต่อ 0 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน มาพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สภาให้ความเห็นชอบแล้ว ปรากฏว่าที่ประชุมได้ถกเถียงกันจะยึดร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดเป็นร่างหลักพิจารณาในชั้น กมธ. ระหว่างร่างของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับร่างของนางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยอ้างว่าร่างฉบับ นพ.ชลน่านมีเนื้อหาครอบคลุมการแก้ปัญหาให้ชาวประมงทุกด้านมากกว่าฉบับของนางกันตวรรณ ขณะที่นางกันตวรรณชี้แจงว่า ร่างฉบับของตนมาจาก กมธ.เกษตรและสหกรณ์ ที่มีตัวแทนทุกพรรคการเมือง และภาคประชาชนร่วมพิจารณามาอย่างรอบคอบ ทั้งสองฝ่ายถกเถียงกันอยู่นาน ก่อนที่ประชุมสภาจะลงมติให้ความเห็นชอบใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ นพ.ชลน่านเป็นร่างหลักในชั้น กมธ.

ต่อมาเข้าสู่วาระกระทู้ถามสด โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กรณี ครม.ออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.2566 เป็นวันที่ 1 ต.ค.2566 ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในการออก พ.ร.ก. โดยอ้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ขอให้เลื่อนไปก่อน อยากทราบอะไรคือเหตุผลแท้จริงการเลื่อนบังคับใช้  เพราะ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. บอกมีความพร้อมบังคับใช้กฎหมาย แต่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. บอกไม่พร้อม

"ข้ออ้างไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ อาทิ กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล้องบันทึกในห้องสอบสวน กล้องติดรถยนต์ แต่รายงานปฏิรูปตำรวจที่ส่งมายังสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า สตช.มีความพร้อมดำเนินการหมดแล้ว ไม่รู้ว่าใครโกหก รัฐบาลไม่เต็มใจออกกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ช่วงที่กฎหมายถูกเลื่อนบังคับใช้ จะมีอะไรเป็นหลักประกันประชาชนจะไม่ถูกซ้อมทรมานหรืออุ้มหาย" นายณัฐวุฒิ กล่าว

 ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ตอบกระทู้ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า สาเหตุการเลื่อนใช้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจาก สตช.ยังไม่พร้อมในการบังคับใช้กฎหมายใน 4 มาตรา เกี่ยวกับความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ เช่น กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ กล้องบันทึกภาพในห้องสอบสวน กล้องติดรถยนต์ จึงขอเลื่อนแค่ 7 เดือน ถ้าบังคับใช้กฎหมายโดยไม่มีความพร้อม จะกระทบต่อการจัดเก็บข้อมูล การบันทึกปากคำอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิด ส่งผลต่อความปลอดภัยของสาธารณะ เจ้าหน้าที่รัฐก็เสี่ยงถูกดำเนินคดีอาญาด้วย

"ขณะนี้ทราบว่า สตช.ได้อนุมัติงบประมาณการจัดซื้ออุปกรณ์กล้องต่างๆ ที่ยังไม่พร้อมเรียบร้อยแล้ว ยืนยันไม่มีการดึงดันกฎหมาย ส่วนการส่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มาให้สภาพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ทราบว่ากำลังเร่งส่งมาให้อยู่ แต่รับรองไม่ได้ว่าเมื่อส่งมาแล้วจะมีการเปิดประชุมสภาให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.ฉบับนี้ทันก่อนปิดสมัยประชุมหรือไม่" นายสมศักดิ์กล่าว 

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ แถลงกรณีที่ขณะนี้มีการพูดถึงการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ว่าเป็นดุลยพินิจของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ว่า ประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจหน้าที่เปิดประชุมสมัยวิสามัญด้วยตนเอง ซึ่งการจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้นั้น สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 วรรคสามและวรรคสี่ ที่บัญญัติว่าเมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถกราบบังคมทูลให้ตราพระราชกฤษฎีกาขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ รวมถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 123 ที่บัญญัติว่า ส.ส.และ ส.ว.ทั้งสองสภารวมกัน หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ทั้งสองสภา ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสองสภารวมกัน 666 คน 1 ใน 3 คือ 222 คนขึ้นไป มีสิทธิ์เข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้เรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญได้

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ..… แถลงข่าว และกล่าวโจมตีผู้แทนฝ่ายค้าน โดยกล่าวหาว่าสาเหตุที่ทำให้สภาล่มซ้ำซากมาจากตนและนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นการกล่าวหา ใส่ร้าย หมิ่นประมาทชัดเจน โดยปกติแล้วเมื่อองค์ประชุมครบก็มีการลงมติ แต่เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อองค์ประชุมครบแล้ว แต่มติไม่เกินกึ่งหนึ่ง ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม โดยที่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ที่ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ในขณะนั้น พยายามถ่วงเวลา และตนได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเครื่องนับคะแนนไม่ได้เสียหาย แต่ตนคิดว่าเครื่องนับคะแนนเกิดการเสียหายจึงปล่อยเวลาไว้ แต่ก็มี กมธ.ท่านนี้ มากล่าวโจมตีใส่ร้าย ว่าที่สภาล่มซ้ำซากเป็นเพราะตนและนายพิเชษฐ์ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง

"ขอฝากไปยังนายปานเทพให้ช่วยมาขอโทษเสีย หากไม่มาขอโทษ ก็ให้รอหมายศาล ในฐานหมิ่นประมาท และนายปานเทพเป็นคนภายนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่ถูกตั้งมาเป็น กมธ. อีกทั้งยังใช้โอกาสแถลงข่าวโจมตี ส.ส. มาแนะนำให้ ส.ส.ลาออก ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ ทั้งนี้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.แต่ละคนที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ออกเสียงหรืองดออกเสียง พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ หรือยาบ้า ส่วนใครจะดำเนินการอย่างไรก็แล้วแต่” นายอุบลศักดิ์กล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข  หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ..... ที่อาจออกไม่ทันสภาสมัยนี้ว่า หากไม่ทันสมัยนี้ก็เข้าสมัยหน้า เพราะเป็น พ.ร.บ.ที่พรรคภูมิใจไทยนำเสนอเข้าไป จริงๆ เราจะนำเสนอในนามรัฐบาลด้วยซ้ำ แต่ว่าขณะนั้นเราคิดว่าเพื่อความรวดเร็ว ก็ขอให้พรรคเป็นผู้นำเสนอเข้าไป จะได้ไม่ต้องไปผ่านขั้นตอนทาง ครม.ต่างๆ เราจึงเสนอเข้าไป แต่ว่าก็มีการเล่นเกมทางการเมือง จนทำให้ พ.ร.บ.นี้ไม่ผ่าน แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขยังมีผลใช้อยู่ ประชาชนพลเมืองก็ต้องให้ความเคารพต่อกฎหมายและทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

"ถ้าอยากให้การควบคุมกัญชามีความครอบคลุมอย่างชัดเจน พ.ร.บ.กัญชาฯ  เจตนารมณ์คือป้องกันการใช้ที่ผิดประเภท ผิดวัตถุประสงค์ ฉะนั้นคนที่ขวาง พ.ร.บ.กัญชาฯ ก็เท่ากับว่าต้องการให้กัญชามีความเสรี แต่ปากบอกว่าไม่อยากให้เสรี แต่ไม่มีใครสักคนบอกว่ากัญชาทางการแพทย์เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่กล้าพูดกัน สิ่งที่ สธ.ทำมาตลอดคือการใช้กัญชาทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ฉะนั้นการใช้อื่นๆ คือการใช้ที่ผิดประเภท"

เมื่อถามว่า จากเกมการเมืองทำให้กังวลว่าสมัยหน้าก็จะไม่มีอุปสรรคหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกัญชาเขาทราบดี และตอนนี้น่าจะเหลือพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวแล้วที่ผลักดันเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อเศรษฐกิจและสุขภาพด้วยความจริงใจ ไร้ซึ่งเจตนาแอบแฝง เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ก็ไม่มีความกังวล คนที่อยากให้กัญชามาเป็นพืชเศรษฐกิจ ใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ ก็คงต้องให้พรรคภูมิใจไทยเป็นตัวแทนพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของเขา ก็ไม่มีความกังวลใดๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป