ปิดฉากการเมืองครูโอ๊ะ

ปิดฉากการเมือง! "กนกวรรณ วิลาวัลย์" ศาลฎีกาพิพากษาผิดจริยธรรมร้ายแรงรุกป่าเขาใหญ่ เพิกถอนสิทธิการเมืองตลอดชีวิต พ้นตำแหน่ง รมช.ศธ. ตั้งแต่ 26 ส.ค.65 ที่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ป.ป.ช.ชี้ยังเหลืออีก 1 สำนวน ขณะที่ "ส.ส.-ส.ว." ระทึก ตั้งอนุไต่สวนแล้ว 7 คดี รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น-กลุ่มทุน จ่อฟันปีนี้ระนาว

ที่ศาลฎีกา สนามหลวง เมื่อวันที่ 22  ก.พ.66 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2565 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้คัดค้าน เรื่องการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

คดีนี้ ป.ป.ช.ผู้ร้องยื่นคำร้องสรุปว่า   เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2545 ผู้คัดค้านดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่หมู่ที่ 15 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี  จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ 30-2-80.5 ไร่ โดยอ้างว่าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจาก นายทิว มะลิซ้อน เมื่อปี 2533 แต่นายทิวไม่มีตัวตน ทั้งไม่เคยมีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และแนวเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ ทำให้รัฐสูญเสียที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติให้แก่ผู้คัดค้าน การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 41158 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จึงมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นความเสียหายร้ายแรง ผู้คัดค้านยังคงยึดถือครอบครองที่ดินต่อเนื่องตลอดมาจนกระทั่งเข้าดำรงตำแหน่ง  รมช.ศึกษาธิการ โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค.65 ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำสั่งให้นางกนกวรรณ ผู้คัดค้าน หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา

วันนี้ทาง ป.ป.ช. ผู้ร้อง เดินทางมาศาล เเต่นางกนกวรรณไม่ได้เดินทางมาศาล

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาแรกว่า ผู้คัดค้านซึ่งดำรงตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 11 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมนั้น ต้องมีสถานการณ์หรือการกระทำที่บุคคลในองค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆ มีประโยชน์ส่วนตน อันอาจกระทบต่อการวินิจฉัยสั่งการหรือการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของบุคคล เมื่อผู้คัดค้านไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบการปฏิบัติงานของกรมที่ดิน กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 13 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง

ปัญหาต่อไปว่า ผู้คัดค้านแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 8 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง และผู้คัดค้านกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่

ผู้คัดค้านอ้างข้อความต่อเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิว่า ผู้คัดค้านได้ที่ดินมาโดยการซื้อมาจากนายทิว มะลิซ้อน เมื่อปี 2533 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินด้วยการทำสวน ปลูกมะม่วง กระท้อน และพืชตามฤดูกาลเต็มทั้งแปลง เห็นว่า ผู้คัดค้านให้การและเบิกความในชั้นไต่สวนว่า นายทิว มะลิทอง ขายที่ดินที่ครอบครองทำประโยชน์ให้นายสุนทร วิลาวัลย์ บิดาผู้คัดค้าน หลังจากนั้นนายสุนทรให้ผู้คัดค้านเข้าครอบครองทำประโยชน์ ซึ่งเท่ากับผู้คัดค้านยอมรับว่านายทิว มะลิซ้อน ไม่มีตัวตนอยู่จริง ผู้คัดค้านรู้อยู่แต่แรกแล้วว่าเจ้าของที่ดินคือนายทิว มะลิทอง และนายทิว มะลิทอง ขายที่ดินให้นายสุนทร มิใช่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านชอบที่ต้องแจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ให้ตรงต่อความจริงว่าผู้คัดค้านมิได้เป็นผู้ซื้อที่ดินมาด้วยตนเอง หากแต่นายสุนทรเป็นผู้ซื้อที่ดิน ที่ผู้คัดค้านเบิกความว่า ทำประโยชน์ในที่ดินโดยปลูกต้นไผ่ตง ต้นกระพ้อ พืชผัก สวนครัว ต้นมะม่วง ต้นกระท้อน และพืชอื่นตามฤดูกาล

ฝ่าจริยธรรมร้ายแรง

เมื่อพิจารณาตามรายงานการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณตำบลเนินหอม ที่ใช้ภาพถ่ายทางอากาศในปี 2496, 2510, 2516, 2532, 2546 เเละ 2553 ประกอบสำรวจข้อมูลภาคสนามวันที่ 4-6 เม.ย.65 ไม่พบร่องรอยการทำสวน ปลูกไม้ผล ในช่วงปีใดๆ ทั้งสิ้น บ่งชี้ให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลาที่ผู้คัดค้านอ้างว่านายขอด นายมี นายทิว และตัวผู้คัดค้านเองครอบครองที่ดินต่อเนื่องกันมานั้น ที่ดินยังมิได้มีการเข้าทำประโยชน์เป็นหลักฐานมั่นคงและมีผลผลิตอันเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ อันเป็นเงื่อนไขการออกโฉนดที่ดินตามข้อ 5 แห่งระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายหอมและนายทิวว่า สภาพที่ดินมีลักษณะเป็นหินกรวดผสมดินลูกรังบางส่วน

จึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่ผู้คัดค้านขอออกโฉนดที่ดิน ผู้คัดค้านไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้คัดค้านจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดิน การที่ผู้คัดค้านให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิว่า เมื่อปี 2533 ผู้คัดค้านซื้อที่ดินมาจากนายทิว โดยนายทิวสร้างมาเมื่อประมาณปี 2500แล้วผู้คัดค้านครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา จึงฟังได้ว่าเป็นการให้ถ้อยคำเท็จ ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ขอออกโฉนดที่ดินตามมาตรา 58 ทวิ (3) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ การที่กรมที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 43358 ให้ผู้คัดค้านจึงเป็นการไม่ชอบ  เมื่อผู้คัดค้านขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย แล้วได้โฉนดที่ดินและยังคงถือครองโฉนดที่ดินดังกล่าวมาจนถึงวันที่ผู้คัดค้านดำรง รมช.ศึกษาธิการ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 8 แล้ว และถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 27 วรรคหนึ่ง

ทั้งการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้คัดค้านที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แม้มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนโดยตรงก็ตาม เพราะอาจทําให้สาธารณชนขาดความเชื่อถือศรัทธาต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของผู้คัดค้าน จึงเป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย เมื่อการกระทำดังกล่าวถือได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงในการบังคับใช้กฎหมาย จึงเป็นกรณีมีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 27 วรรคสอง

พิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 81 และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 8 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง และข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ นับแต่วันที่ 26 ส.ค.65 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคสาม วรรคสี่ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เมื่อศาลตัดสิน เราก็จะน้อมรับปฏิบัติไปตามนั้น ที่ผ่านมานางกนกวรรณหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปกว่าครึ่งปีแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องงานแต่อย่างใด ส่วนจะส่งใครลงสมัคร ส.ส.แทนที่ปราจีนบุรีนั้น ไม่มีปัญหาอะไร แม้ว่านางกนกวรรณ​จะถูกตัดสิทธิ์ลงเลือกตั้ง แต่ยังช่วยงานการเมือง ช่วยดูแลพื้นที่ปราจีนบุรี เพียงแต่ไม่ได้ลงเลือกตั้งเท่านั้น

จ่อฟัน ส.ส.-ส.ว. 7 คดี

ที่โรงแรมลาโค่ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า คดีเกี่ยวกับ น.ส.วิลาวัลย์ แบ่งเป็น 2 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีแรกเกี่ยวกับเรื่องฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงที่ศาลฎีกาตัดสิน แต่ยังมีในส่วนคดีอาญา ขณะเดียวกัน นายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี และ น.ส.กนกวรรณ ยังถูกกล่าวหาเพิ่มเติมกรณีออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบอีก 1 สำนวน ซึ่งยังนำสืบไม่เสร็จ

นายนิวัติไชยกล่าวว่า คดีเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังพบว่ามีการกระทำความผิดอีกหลายกรณี ป.ป.ช.กำลังดำเนินการ เนื่องจากหลายพื้นที่มีการพัฒนาเป็นทั้งสนามกอล์ฟและบ้าน โดยคดีครอบครองที่ดินโดยมิชอบนั้น ขณะนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน  7 คดี เป็นเรื่องฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง โดยเป็นการครอบครองที่ดินก่อนดำรงตำแหน่ง และครอบครองที่ดินดังกล่าวต่อเนื่องมาจนช่วงดำรงตำแหน่ง โดยมีทั้ง ส.ส.และ ส.ว. โดยคาดว่าทั้ง 7 คดีจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาในปี 2566 ได้ ซึ่งมีทั้งการเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. และ ภ.บ.ท. 5 รวมถึงครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้ถาวร โดยการครอบครองที่ดินหลังจากดำรงตำแหน่งแล้ว ทำให้ขาดคุณสมบัติ เพราะมีแนวทางคำพิพากษาของศาลคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ และ น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ ให้เห็นแล้ว

นายมงคล ศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า คดีที่น่าสนใจในปี 66 ประกอบด้วย คดีที่ 1 การบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสนามทดสอบรถยนต์, คดีที่ 2 การบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเสียดอ้าฯ ซึ่งเป็นสนามกอล์ฟ และเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับคดีที่ 1, คดีที่ 3 การออกโฉนดที่ดินโดยการเดินสำรวจในเขตเขาและความลาดชันเกิน 35% อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ 300 ไร่ อยู่ในขั้นตอนแจ้งข้อกล่าวหา โดยเกี่ยวกับกลุ่มทุนน้ำเมา, คดีที่ 4 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตออกโฉนดที่ดิน 2 แปลง บนหาดฟรีด้อม ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถออกโฉนดได้ โดยเรียกรับเงินในการดำเนินการ 120 ล้านบาท ซึ่งจะเสร็จภายในปีนี้แน่นอน, คดีที่ 5 ออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ และรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาพนมเบญจา โดยขีดให้มีช่องว่างทำให้กลุ่มทุนที่เป็นบริษัทยา เข้าไปออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว และมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

คดีที่ 6 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกโฉนดที่ดิน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เนื้อที่ 41 ไร่เศษ เกินกว่าหลักฐานเดิมที่มีเนื้อที่ 34 ไร่เศษ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนสำคัญของประเทศไทย และเป็น ส.ส., คดีที่ 7 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบุกรุกถือครองพื้นที่สวนป่าไม้สักของรัฐบาล รวมพื้นที่ 49 ไร่เศษ เหตุเกิดที่สวนป่ากิวทัพยั้ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ข้าวต้ม-ป่าห้วยลึก ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ซึ่งใกล้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว, คดีที่ 8 นายก อบต.เชิงทะเล จ.ภูเก็ต กับพวก ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในโครงการลาคอลิน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขารวก-ป่าเขาเมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และพื้นที่ห้ามก่อสร้างตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ซึ่งคดีดังกล่าวอาจจะมีการชี้มูลยกทั้งสภาท้องถิ่น มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนสถาบันการเงิน, คดีที่ 9 เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต สาขาถลาง กับพวกรวม 16 ราย ออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะแรด 6 แปลง ซึ่งมีการแจ้งข้อหาแล้ว มีความเกี่ยวกับกลุ่มทุนประกอบกิจการรถยนต์ และคดีที่ 10 ทุจริตออกใบจอง, น.ส. 3 ก. และโฉนดที่ดินทับที่สาธารณประโยชน์ ในพื้นที่ ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม 3,000 ไร่ โดยเกี่ยวกับกลุ่มทุนด้านการเกษตร เป็นบุคคลมีชื่อเสียง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง