วุฒิสภาคว่ำทำประชามติ ก.ก.ซัดอุปสรรคแก้รธน.

“วุฒิสภา” คว่ำทำประชามติแก้ รธน.ทั้งฉบับด้วยคะแนน 157 ต่อ 12 เสียง ขณะที่ “เสรี” เตือนระวัง ส.ส.โทษสภาสูงใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง ด้านก้าวไกลผิดหวัง ฟุ้งหากเป็นรัฐบาลเดินหน้าภายใน 100 วันแรก

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)สามัญพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้ ครม.ดำเนินการ ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นประธาน กมธ.

ทั้งนี้ เนื้อหาในรายงานดังกล่าวคัดค้านไม่ให้ส่งเรื่องต่อไปยัง ครม. เพราะการทำประชามติดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เนื่องจากเป็นคำถามที่ไม่ชัดเจน อีกทั้งทำให้ประชาชนไม่เกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ชัดเจน

นายสมชายกล่าวว่า การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญตามข้อเสนอที่ให้ทำวันเดียวกับวันเลือกตั้งที่จะมาถึง กมธ.เห็นว่ามีความเป็นไปไม่ได้ เพราะกรอบการทำประชามติต้องดำเนินการภายในไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่การเลือกตั้งหากยุบสภาต้องเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน หรือครบวาระต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน

อีกทั้งจากการรับฟังการชี้แจงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบว่าต้องใช้งบประมาณและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก โดยในการเลือกตั้งที่จะมาถึงต้องมีหน่วยเลือกตั้ง 9 หมื่นหน่วย มีเจ้าหน้าที่หน่วยละ 9 คน ขณะที่การทำประชามติต้องมีเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการหน่วยละ 5 คน ขณะที่การทำประชามติต้องใช้งบประมาณมาก โดย กมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่าต้องทำประชามติ 3 รอบ รอบแรกคือ ถามว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรมนูญหรือไม่ หากเห็นด้วยต้องกลับมาแก้ไขตามกระบวนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256  เพื่อให้มีองค์กรแก้ไขเนื้อหา จากนั้นต้องกลับไปทำประชามติอีกครั้ง และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญอีกครั้งต้องทำประชามติอีก

จากนั้น ที่ประชุมเปิดโอกาสให้ ส.ว.ร่วมอภิปราย โดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. อภิปรายว่า หากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยากถามว่าสาระที่จะแก้ไข โดยเฉพาะหมวดหนึ่งว่าด้วยความมั่นคงของรัฐ และหมวดสองว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าแตะตรงนั้นประเทศไทยจะร้อนเป็นไฟ และอาจเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น

  นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ถ้าไม่ผ่านญัตตินี้ ฝ่าย ส.ส.จะหยิบไปอ้างว่า ส.ว.ไม่เห็นเงาประชาชน อุตส่าห์ให้ประชาชนทำประชามติตัดสินใจจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แต่ ส.ว.กลับปิดทาง ซึ่ง ส.ส.จะนำไปกล่าวอ้างในการหาเสียงว่า ส.ว.เอาพรรคนั้นไม่เอาพรรคนี้  ถามว่าเรารู้ทันหรือไม่การเมืองกำลังจะเอา ส.ว.เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนเสียง นี่คือการเมือง จึงอยากให้ ส.ว.ค่อยๆ คิด นี่เป็นเพียงแค่ข้อเสนอจากทางสภาผู้แทนราษฎร จะทำได้หรือไม่อยู่ที่ครม. ดังนั้นเห็นด้วยที่ควรจะรับเรื่องนี้ไว้แล้วให้ไปดำเนินการในชั้น ครม.ต่อไป ไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับเรื่องนี้ ส.ว.แค่รับเรื่องเป็นสะพานทอดไปให้ ครม.พิจารณาต่อ เราจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อให้ ส.ส.หยิบไปกล่าวอ้างได้

จากนั้น เวลา 13.10 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ให้สมาชิกลงมติ ปรากฏว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ของส.ว. ไม่เห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรขอทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญโดยส่งให้ ครม.ดำเนินการ ด้วยคะแนน 157 ต่อ 12 งดออกเสียง 13 ไม่ออกเสียง 1 เสียง ทั้งนี้ ประธานวุฒิสภาจะได้แจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป 

ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวภายหลังที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นชอบในญัตติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

  นายพริษฐ์กล่าวว่า ส.ว.เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดเวลาที่ผ่านมามีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 26 ร่าง มีเพียงร่างเดียวที่ผ่านไปได้ เพราะเหตุผลสำคัญคือการกำหนดเงื่อนไขเสียง ส.ว.เกิน 1 ใน 3 แต่ครั้งนี้น่าผิดหวังกว่าเดิม เพราะย้อนไปเดือน พ.ย.63 วุฒิสภาเคยลงมติเห็นชอบในขั้นรับหลักการญัตติตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้ว จึงเท่ากับมติครั้งนี้ขัดกับมติรับหลักการที่ผ่านมา ซึ่งการไปต่อกับรัฐธรรมนูญปี 60 คือระเบิดเวลา เพราะไม่มีที่มายึดโยงกับประชาชน ไปต่อกับกติกาที่ไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงเป็นระเบิดเวลาสู่ความขัดแย้งของสังคมไทย

ทั้งนี้ ยังมีอีก 3 ช่องทางที่สามารถรณรงค์กันต่อไปได้ผ่าน พ.ร.บ.ประชามติ คือ 1.ให้ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำประชามติ ตามแคมเปญ “RESET THAILAND” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งออกระเบียบการจัดทำประชามติภายหลังรวบรวมรายชื่อเสร็จสิ้นไปแล้ว ตนจึงหวังว่าจะไม่ถูกสกัดกั้นหรือเป็นไปด้วยความล่าช้า 2.หาก ครม.เห็นชอบให้จัดทำประชามติ ก็สามารถกระทำได้เลย ซึ่งตนมองว่าไม่เห็นเหตุผลอะไรที่ ครม.จะไม่ทำประชามติ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ใน 12 นโยบายหลักของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ 3.พรรคก้าวไกล แถลงเป็นนโยบายและให้คำมั่นสัญญาว่า หากได้รับความไว้วางใจจากประชาชน รัฐบาลก้าวไกลภายใน 100 วันแรก จะใช้อำนาจ ครม.จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี

รัฐสภา ถกแก้ข้อบังคับ 'สว.-รทสช.' รุมค้านเปิดทาง 'คนนอก' ร่วมวงกมธ.แก้รธน.

ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่…) พ.ศ…. เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บั