ศาลชี้ขาดปม‘ราษฎร’3มี.ค.

"ศาล รธน." นัดลงมติคำร้อง กกต.ปม "คนที่ไม่มีสัญชาติไทย" รวมจำนวนราษฎรแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 3 มี.ค.นี้ จับตาหากไม่นับส่งผล 8 จังหวัดมี จำนวน ส.ส.เพิ่ม-ลด ด้าน กกต.เตรียมแผนรองรับแล้ว เปิดยอดเงินบริจาคพรรคการเมือง เดือน ธ.ค.65 “ชาติไทยพัฒนา” อู้ฟู่ 23.5 ล้าน “สมศักดิ์” ค้าน กกต.ออกประกาศเทอร์โบยุบพรรค โอดเจอมาแล้ว 2 รอบหมดคนเลย แนะฟังเสียง ปชช. "บิ๊กตู่" โยนเป็นเรื่อง กกต. ทุกคนไม่ควรไปยุ่ง

เมื่อวันที่​ 21 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86 ซึ่งผู้ร้องคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค. ของปีที่ล่วงมา มาใช้ในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส. หรือกรณีการนำจำนวน "ราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทย" มาคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี เพื่อแบ่งเขตเลือกตั้ง

จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง  กำหนดนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ และลงมติในวันศุกร์ 3 มี.ค.2566 เวลา 09.30 น.

มีรายงานว่า แนวทางการชี้ขาดมี 2 แนวทาง คือ 1.การดำเนินการของ กกต.ในเบื้องต้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การจัดการเลือกตั้งที่เตรียมไว้ก็เดินหน้าต่อ  หรือ 2.ศาลชี้ว่าไม่สามารถนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ กกต.ก็ต้องดำเนินการใหม่ในการคำนวณจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดและการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ไทม์ไลน์จัดการเลือกตั้งสะดุดลง ซึ่งเมื่อวันจันทร์ กกต.ประชุมเคาะการแบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัดไปพลางก่อนจากทั้งหมด 400 เขตเลือกตั้ง  และคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายกุมภาพันธ์นี้ หรือไม่ก็ต้นเดือนมีนาคม ซึ่งแหล่งข่าวในสำนักงาน กกต.ยืนยันไม่กระทบกับการจัดการเลือกตั้ง

และมีรายงานว่า สำนักงาน กกต.ได้เตรียมแผนรองรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วทุกทาง ทั้งแนวทางเดิมที่นับจำนวนราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทย หรือยึดการแบ่งเขต 400 เขตตามเดิม กับแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจชี้ขาดไม่นับราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาเป็นราษฎรในการคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง

โดยสำนักงาน กกต.แจ้งให้ กกต.แต่ละจังหวัดดำเนินการแผนรองรับในการคำนวณใหม่ เพราะหากศาลชี้ว่าไม่ให้นับราษฎรที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ก็จะมีผลกระทบต่อจำนวนราษฎรที่แบ่งเขตไว้ร้อยละ 10  นั่นจะทำให้มี 8 จังหวัดมีความเปลี่ยนแปลงคือ  4 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.ลดลง ประกอบไปด้วย 1.ตาก 2. เชียงราย 3.เชียงใหม่ และ 4.สมุทรสาคร  ส่วนจังหวัดที่จำนวน ส.ส.เพิ่มคือ 1. อุดรธานี 2.ลพบุรี 3.นครศรีธรรมราช

และ 4.ปัตตานี

จากการคำนวณโดยนำเฉพาะจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ 65,106,481 หารด้วย 400 เขต จะมีค่าเฉลี่ยประชากรต่อ 1 เขต 162,766 ซึ่งเดิมค่าเฉลี่ยที่นับรวมราษฎรที่นับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยคือ 165,226 คนต่อเขต

วันเดียวกัน สำนักงานเปิดเผยบัญชีรายชื่อผู้บริจาคและจำนวนเงินบริจาคให้พรรคการเมือง ประจำเดือน ธ.ค.2565 จำนวน 19 พรรค โดยพรรคที่มีเงินบริจาคสูงสุดคือ พรรคชาติไทยพัฒนา 23,520,000 บาท รองลงมาคือ พรรคสร้างอนาคตไทย 23,000,000 บาท,  พรรคภูมิใจไทย 16,977,500 บาท, พรรคเพื่อไทย 10,000,000 บาท, พรรคพลังชล 3,381,500 บาท, พรรคก้าวไกล 2,292,706 บาท, พรรคเศรษฐกิจไทย 1,500,000 บาท, พรรคประชาธิปัตย์ 53 รายการ 729,000 บาท, พรรคพลังปวงชนไทย 710,000 บาท, พรรคกล้า 700,000 บาท, พรรคเสรีรวมไทย 565,000 บาท, พรรคชาติพัฒนากล้า 360,000 บาท, พรรคไทยศรีวิไลย์ 300,000 บาท และพรรคประชาชาติ 250,000 บาท

สำหรับรายการเงินบริจาคที่น่าสนใจ อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา มีผู้บริจาค 8 รายการ วงเงิน 23,520,000 บาท โดย น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรค บริจาคเงิน 8,500,000 บาท ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค บริจาคเป็นประโยชน์อื่นใด 660,000 บาท  ส่วนพรรคสร้างอนาคตไทย มีผู้บริจาครวม 4 รายการ วงเงิน 23,000,000 บาท ได้แก่ นายสกล เปาอินทร์ 5,000,000 บาท, นายกิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ 6,000,000 บาท, นายธีรวิทย์ พุทธฤดีสุข 6,000,000 บาท และนายสันติ กีระนันทน์ 6,000,000 บาท

พรรคเพื่อไทย มีผู้บริจาครวม 2 รายการ วงเงิน 10,000,000 บาท ได้แก่ นายเฉลิมเกียรติ ภูตินาถ กรรมการบริษัท สยาม อินคูเบเตอร์ ซีสเต็ม จำกัด บริจาค 5,000,000 บาท และ หจก.กลุ่มบ้านตาลพัฒนา ธุรกิจรับขนขยะมูลฝอย บริจาค 5,000,000 บาท ส่วนพรรคภูมิใจไทย มีผู้บริจาค 80 รายการ รวม 16,977,500 บาท ในจำนวนนี้มีบริษัท ไรท์แมน จำกัด บริจาค 2 ครั้ง เป็นเงิน 9,800,000 บาท, หจก.เพชรมีชัยเทรดดิ้ง บริจาค 1,998,000 บาท, นายพิทักษ์สิทธิ์ ชีวรัฐพัฒน์ บริจาค 999,500 บาท เป็นต้น 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตนจะรายงานเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ที่กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบคือ พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 23 ม.ค. มี 10 หน่วยงานต้องดำเนินการตาม เช่น จากเดิมแต่ละเรื่องใช้เวลาเป็นสิบปี วันนี้กำหนดให้ดำเนินการภายใน 3 เดือนหรือ 1 ปี เช่น กกต.กำหนดข้อบังคับว่าพรรคการเมืองไหนรับบริจาคเงิน หรือเกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่ผิดกฎหมาย จะต้องถูกดำเนินการสอบสวนภายในกี่วันๆ ซึ่งตรงนี้ต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย

เมื่อถามว่า การออกประกาศของ กกต.ที่กำหนดเวลาเกี่ยวกับคดียุบพรรคให้เร็วขึ้น หรือติดเทอร์โบคดียุบพรรค กังวลหรือไม่จะกระทบพรรค พปชร. หลังมีประเด็นรับบริจาคเงินจากคนที่ถูกกล่าวหาเป็นทุนสีเทา นายสมศักดิ์กล่าวว่า กกต.เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่จะออกประกาศมาได้ จากเดิมที่จะตรวจสอบเล่นงานพรรคการเมืองอาจใช้เวลา 3 ปี 7 ปี แต่ต่อมาใช้เวลา 3 เดือน 7 เดือน อันนี้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่าถูกต้องหรือไม่ ดีหรือไม่อย่างไร บางทีการเขียนกฎหมายต้องฟังเสียงประชาพิจารณ์กันถึง 5 รอบ แต่ถึงอย่างไรเรื่องนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต. จะฟังประชาชนหรือไม่ ถ้าไม่ฟังก็เป็นตามแนวทางปฏิรูปประเทศข้างต้น

เมื่อถามว่า เมื่อมีประกาศดังกล่าวสังคมโฟกัสไปที่พรรค พปชร.ว่าจะถูกยุบเป็นพรรคแรก มีความกังวลหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ต้องถามนักกฎหมายของพรรคว่าเขาเดือดร้อนขนาดไหนอย่างไร ตนไม่ได้ทำหน้าที่นี้

 “ในชีวิต ผมมีความใกล้ชิดกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบมา 2 ครั้ง คือพรรคไทยรักไทย หรือบ้านเลขที่ 111 และเมื่อมาอยู่เบื้องหลังพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็ถูกยุบเป็นบ้านเลขที่ 112 หมดคนเลย มันก็ยุบง่ายเหมือนกันนะพรรคการเมือง ถ้าอยากจะยุบเขา มีพลังอะไรมาก็ไม่รู้ก็ยุบง่าย ก็ถูกลอยแพ อันนี้ก็ต้องดูว่าถ้าพรรคการเมืองมีพลังต่อต้านการยุบพรรค มันก็คงไม่ง่าย อันนี้ขอพูดข้อเท็จจริงกัน มันเกิดอะไรขึ้นอย่างไรผมก็ไม่ทราบ ทั้งครอบครัวผมก็โดนกันมาต่อเนื่อง มีให้เห็นอยู่แล้ว เราก็กลัวที่สุดเรื่องของการถูกยุบพรรคการเมือง แต่มันก็มีเหตุของปัญหาที่ทำให้เขายุบได้” นายสมศักดิ์กล่าว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกกต.ออกระเบียบว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 ที่ปรับแก้เรื่องการยุบพรรคการเมือง จะทำให้รวดเร็วนั้นว่า ก็ว่าไป 

เมื่อถามว่า จากประกาศดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองต่างมองกันไปว่าพรรคไหนจะโดนเป็นพรรคแรก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ไม่รู้ อย่าทำผิดกันทุกพรรค เรื่องนี้เป็นเรื่องของ กกต. อย่าไปมองอย่างนั้นอย่างนี้ กกต.หวังให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นเรื่องของ กกต. ตนเข้าไปยุ่งไม่ได้ และคิดว่าทุกคนไม่ควรจะไปยุ่งกับเขา ตามกติกาแล้วใครรับผิดชอบตรงไหนให้ทำตรงนั้น ดีที่สุด ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนทุกพรรคเหมือนกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง