ค้านเลื่อนใช้พรบ.อุ้มหาย จี้เร่งนำพ.ร.ก.เข้ารัฐสภา

รุมคัดค้าน พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานอุ้มหาย "ปริญญา" ข้องใจข้ออ้างงบไม่พอซื้อกล้องบันทึกทั้งที่ ป.วิ.อาญาก็บังคับอยู่แล้ว ยันไม่ใช่เหตุุฉุกเฉิน ชี้เป็นภัยต่อประชาชน จี้เร่งนำเข้าสู่รัฐสภาก่อนสิ้น ก.พ. หวั่นลักไก่ยุบสภาหนี ย้อนถามพรรคใดจะเอาด้วย "สุรพงษ์" แนะ ครม.ออก พ.ร.ก.อีกฉบับยกเลิก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ ขู่ยื่นฟ้องศาล รธน.

เมื่อวันจันทร์ เวลา 10.00 น. ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการรวมตัวแถลงข่าวกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ชะลอการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565  นำโดย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายศราวุฒิ ปทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน  (สสส.)

โดย ดร.ปริญญากล่าวว่า จากมติ ครม.ให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไป 8 เดือน นำมาซึ่งปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงต้องแถลงข่าวเพื่อยืนยันในอำนาจทางนิติบัญญัติ การที่ฝ่ายบริหารดำเนินการด้วย พ.ร.ก. อย่างไรก็ต้องเสนอต่อสภา แต่สภากำลังจะหมดวาระอีกไม่นาน จึงมองได้ว่าเป็นการลักไก่หรือไม่

ดร.ปริญญาระบุว่า เดิมทีกฎหมายนี้ให้บังคับใช้ 22  ก.พ. แต่ พ.ร.ก.ชะลอการบังคับใช้เพิ่งมีผลเมื่อ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา ให้ยกเว้นมาตรา 22-25 โดยเลื่อนไปถึง 1  ต.ค. ซึ่งมาตราดังกล่าวคือหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ว่าได้ เพราะถือเป็นเครื่องมือในการป้องกันสิทธิของประชาชน เช่น บังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องบันทึกภาพและเสียงขณะควบคุมตัวจนกว่าจะถึงพนักงานสอบสวน แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อ้างว่าต้องใช้กล้องบันทึกและงบประมาณไม่พอ ซึ่งตนมองว่าสามารถใช้กล้องโทรศัพท์มือถือแทนได้ อีกทั้งการเลื่อนมาตราเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัว น่าสงสัยมากว่าเลื่อนได้อย่างไร  เพราะ วิ.อาญาก็บังคับไว้แล้วว่าต้องบันทึกข้อมูลดังกล่าว

"การบันทึกภาพเสียงขณะควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ก็ทำอยู่แล้ว และการบันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุม ปกติท่านไม่ทำหรือ  ผมไม่เห็นว่าต้องฝึกอบรมอะไรกันมากมายเลย ถามว่า  120 วันที่ผ่านมาท่านทำอะไรอยู่ ผมไม่ได้ถามถึงแค่ ผบ.ตร.เท่านั้น ผมถามถึงนายกรัฐมนตรี นี่ไม่ใช่เหตุฉุกเฉินเลย  ท่านออก พ.ร.ก.ออกมาเพราะความละเลย ไม่เอาใจใส่ของท่านเอง"

ดร.ปริญญากล่าวอีกว่า ปกติการออก พ.ร.ก.ไม่สามารถทำได้นอกจากกรณีเหตุฉุกเฉิน เร่งด่วน สุดวิสัย  รักษาความปลอดภัยของสาธารณะ ซึ่งกรณีนี้การเลื่อนไม่ได้เข้าองค์ประกอบเลย การเลื่อน 4 มาตราต่างหากที่กระทบต่อความปลอดภัยของสาธารณะ ขณะที่มาตรา 172 ระบุว่าต้องให้ ครม.เสนอ พ.ร.ก.ต่อรัฐสภาโดยไม่ชักช้า ว่ารัฐสภาจะอนุมัติ พ.ร.ก.นั้นหรือไม่ แต่สมัยประชุมของสภาจะสิ้นสุด 28 ก.พ.นี้ จึงยังมีเวลาอีก 8 วัน ถ้าใน 8 วันนี้ท่านยังไม่เสนอต่อรัฐสภา ถือว่าท่านทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ  และยังสามารถเรียกประชุมสมัยวิสามัญได้เพื่ออนุมัติโดยเร็ว  ตนเกรงว่า ครม.จะเตะถ่วงจนถึงวันที่จะยุบสภา เพราะหากไม่มีสภาการเลื่อนบังคับใช้จะทำได้โดยสะดวก ซึ่งยังทัน ถ้าจะไม่ทันสาเหตุเดียวก็คือมีการยุบสภาหนี

"ถ้าสภาไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าวจะตกไป ฝ่ายบริหารจึงไม่ควรคิดว่ามีอำนาจใช้ พ.ร.ก.ได้เลย แล้วอาศัยการยุบสภาหนี คำถามต่อมาคือหากนำ พ.ร.ก.ให้สภาอนุมัติ จะมีพรรคการเมืองใดบ้างที่เห็นชอบให้เลื่อนกฎหมายนี้ออกไป  เพราะกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนด้วย นายกฯ  อาจคิดว่าทำได้เพราะตนมีเสียงข้างมากในสภา หากเลือกยุบสภาหนี ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจตรวจสอบว่า พ.ร.ก.ใดชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่" ดร.ปริญญากล่าว

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ดี ภาคประชาชนมีส่วนร่วม สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศทุกๆ ด้าน ถูกชื่นชมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทุกฝ่ายรอการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเต็มฉบับมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี วันที่ประกาศเลื่อนออกไป 4 มาตรา เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 เนื่องจากไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น และเหตุผลที่ใช้อ้างขอเลื่อนก็ฟังไม่ขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลทำให้ชอบด้วยกฎหมายต่อไป โดยการเอา พ.ร.ก.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยเร็วภายในสัปดาห์นี้ และหวังว่า สภาจะยืนหยัดคัดค้านต่อ พ.ร.ก.ฉบับนี้ พร้อมแนะวิธีแก้ไขเร่งด่วน ซึ่งวันที่  21 ก.พ.จะมีการประชุม ครม. ทางที่ดี ควรออก พ.ร.ก.อีกฉบับ เพื่อยกเลิก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายได้เช่นกัน

 ขณะที่นายศราวุฒิ ประทุมราช กล่าวว่า เกิดคำถามว่านักการเมืองอยู่ภายใต้อำนาจของข้าราชการประจำไปแล้วหรือไม่ เพราะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างว่าไม่มีความพร้อม ทำให้ก่อนที่จะถึงเวลาบังคับใช้กฎหมายจะเกิดการทรมานหรือซ้อม ไม่มีการบันทึกภาพและเสียง ซึ่งมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการควบคุม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดต้องประกาศใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ผบ.ตร.ต้องการหนีอะไรหรือไม่

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองพร้อมใจกันไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นี้ ไม่เช่นนั้นภาคประชาชนคงต้องรวมตัวไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ "พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566" โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้  สรุปได้ว่า หากมีการใช้บังคับกฎหมายในขณะที่หน่วยงานยังไม่มีความพร้อม จะทำให้การเฝ้าระวังและการเก็บรวบรวม และบันทึกพยานหลักฐานในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่มีความไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจทำให้เป็นประเด็นโต้แย้งในชั้นการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ส่งผลให้การจับมิชอบ การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด  ซึ่งจะเป็นผลร้ายแรงต่อสังคมและความปลอดภัยสาธารณะอย่างร้ายแรง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่มีทรัพยากรในการปฏิบัติงานที่พร้อม ยังต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางวินัยอีกด้วย

"ข้อเท็จจริงดังกล่าวถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ และความปลอดภัยสาธารณะ จึงสมควรขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับของบทบัญญัติเพียงเฉพาะในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการใช้กล้องบันทึกภาพและเสียงในขณะการควบคุมตัว เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบการควบคุมตัวได้เตรียมความพร้อมในด้านอุปกรณ์และบุคลากร สำหรับการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง