ลุ้นสภาสูงโหวต‘ประชามติ’

จับตา 21 ก.พ. สภาสูงโหวตญัตติเสนอ ครม.ทำประชามติยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “สมชาย” เผยรายงาน กมธ.ไม่มีการชี้นำ แต่เนื้อหาค้านชัด  “เปลืองงบ-คำถามไม่ชัด-กระทบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จุลพันธ์ไม่แปลกใจเพราะมีธงนำ รับสภาพต้องม้วนสื่อหากถูกตีตก

ในระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566  เรื่องด่วนที่น่าสนใจคือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้ ครม.ดำเนินการ (ตามข้อบังคับ ข้อ 39/2)

โดยก่อนลงมติดังกล่าว ที่ประชุมวุฒิสภาต้องพิจารณารายงานของ กมธ.สามัญพิจารณาญัตติดังกล่าว ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นประธาน กมธ.ก่อน ซึ่งสาระสำคัญของรายงาน กมธ.ที่เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งระบุไว้ในส่วนของบทสรุปผู้บริหาร ว่าตามที่สภาพิจารณาและลงมติเห็นชอบกับญัตติที่มีสาระให้ส่งเรื่องต่อ ครม.เพื่อดำเนินการตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมคำถามประชามติแนบท้ายคือ ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนนั้น จากการศึกษาของ กมธ. พบจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือการทำประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรรัฐ กระทบต่อหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงอัตลักษณ์สำคัญของชาติ และคุณค่าร่วมกันของสังคมไทยที่พึงปกป้องรักษาไว้

ทั้งนี้ การศึกษาของ กมธ.ได้กำหนดกรอบการพิจารณา และสรุปผลศึกษาได้คือ 1.พิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าการพิจารณาความเหมาะสมของรัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญคือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ หากมีประเด็นที่ควรแก้ไข สามารถใช้วิธีแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสม ไม่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนั้นในเหตุผลที่เสนอต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ถือเป็นเหตุผลอันสมควรที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนประเด็นคำถามประชามติที่ไม่ได้ระบุขอบเขตจัดทำไว้ชัดเจนเพียงพอ  อาจกระทบหลักการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว รวมถึงโครงสร้างสถาบันทางการเมือง ความมั่นคงของรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ขณะที่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องกำหนดความชัดเจนที่เป็นหลักประกันว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สามารถตอบสนองความต้องการสังคมและประเทศ รวมถึงสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

2.ประเด็นญัตติและคำถามประชามติ  กมธ.เห็นว่าญัตติด่วนของสภาอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่กำหนดให้อำนาจรัฐสภาเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ส.ส.ร. ดังนั้นการออกเสียงประชามติจึงปรากฏองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด

“ญัตติของสภาไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเสนอให้ ครม.พิจารณาให้มีการออกเสียงประชามติ เนื่องจากเป็นการตั้งคำถามที่ไม่มีสาระ ซึ่งแสดงถึงความบกพร่องในเนื้อหา เหตุจำเป็นวิธีการทำรัฐธรรมนูญใหม่แทนแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ขณะที่แนวทางจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ชัดเจนเพียงพอให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาสำคัญได้โดยสะดวก” รายงานของ กมธ.ระบุ

3.ประเด็นการออกเสียงประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไป กมธ.เห็นว่า แม้กฎหมายไม่มีข้อห้าม แต่เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาและสถานการณ์ปัจจุบัน โอกาสเกิดขึ้นจึงเป็นไปได้น้อย เพราะตามขั้นตอนกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่จัดการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แตกต่างกัน

4.ประเด็นผลกระทบและการดำเนินการภายหลังออกเสียงประชามติ กมธ. ระบุว่าการออกเสียงประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีการออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ต้องใช้งบรวมกันไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท หากประชาชนเห็นชอบกับคำถามประชามติต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยกร่างรัฐธรรมนูญอีกไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นภาระทางงบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีประชาชน

กมธ.ยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาของวุฒิสภาว่าญัตติขอให้ทำประชามติ ขาดสาระสำคัญชัดเจนเพียงพอต่อเรื่องที่จะขอทำประชามติ คำถามประชามติมุ่งหมายถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบัน โดย ส.ส.ร. ก่อให้เกิดการตีความหลายนัย เช่น องค์ประกอบของ ส.ส.ร. อำนาจ หน้าที่ หรือ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทั้งที่การเลือกตั้งไม่ทราบวิธีที่ชัดเจน คำถามประชามติเกี่ยวกับการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นซับซ้อน และต้องทำความเข้าใจจำนวนมาก หน่วยงานจึงควรมีเวลาเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ

นายสมชายยืนยันว่า การศึกษาของ กมธ.ไม่มีการชี้นำต่อการลงมติของ ส.ว. ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ และการศึกษาของ กมธ. เป็นการศึกษาทางวิชาการที่ศึกษาแล้วอย่างรอบด้าน เป็นกลาง และพร้อมให้ทุกหน่วยงานนำไปพิจารณาประกอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญในอนาคต

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้เสนอญัตติต่อสภาในเรื่องนี้ กล่าวว่า เพิ่งรับทราบว่าจะมีการลงมติในวันที่ 21 ก.พ.  ซึ่งรายงานของ กมธ.ที่มีนายสมชายเป็นประธานศึกษาประเด็นให้ความเห็นคัดค้านการเห็นชอบนั้น เป็นประเด็นที่ถูกตั้งธงไว้อยู่แล้ว ไม่รู้สึกประหลาดใจ

เมื่อถามถึงบรรยากาศที่เข้าชี้แจงใน กมธ.ดังกล่าวของ ส.ว.ในช่วงการศึกษาก่อนทำรายงานเป็นอย่างไร นายจุลพันธ์กล่าวว่า ตอนไปชี้แจงมีความชัดเจนในความรู้สึกส่วนตัว คือมีการเผชิญหน้าระหว่าง ส.ว.และ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมองว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้เกิดการประจันหน้ากันและกระทบกระทั่งกัน และยิ่งใกล้เลือกตั้งทำให้เห็นภาพการกระทบกันที่รุนแรง แต่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่าเป็นช่องทางที่จะลดสถานการณ์ตึงเครียดในสังคมได้ เพื่อให้ประชาชนมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ

“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผ่านมามีเพียงฉบับเดียวที่ผ่านความเห็นชอบ คือเรื่องของจำนวน ส.ส.เพราะผู้มีอำนาจอนุมัติ อีกทั้งเป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลเรียกร้อง แต่การออกแบบที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่การแก้ไขเพื่อประชาชนหรือทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย” นายจุลพันธ์กล่าว

ถามอีกว่า ถ้า ส.ว.โหวตตกญัตติดังกล่าวจะเดินหน้าอย่างไรต่อ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หาก ส.ว.โหวตค้านถือว่ากลไกจบแล้ว เพราะตามกฎหมายประชามติระบุว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หากให้สภาเป็นผู้เสนอญัตติต้นเรื่อง เมื่อได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่ต้องส่งให้ ส.ว.ลงมติด้วย หาก ส.ว.ไม่เห็นชอบญัตติต้องตกไป อย่างไรก็ดี จากนี้เราต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ใช้เสียงประชาชนเป็นตัวตัดสินอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’

“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ