เคาะเก็บต่างชาติ ค่าเหยียบแผ่นดิน กบง.อุ้ม‘เบนซิน’

ครม.ไฟเขียวเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทางอากาศ 300 บาท ทางน้ำ-ทางบก 150 บาท เริ่ม 1 มิ.ย. ชี้ใช้เป็นทุนหมุนเวียนดูแลนักท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว นายกฯ เร่ง "บัตรลุงตู่” ให้โอนเงินถึงมือ ปชช. 1 มี.ค.  กบง.หั่นค่าการตลาดน้ำมัน 2 บาท/ลิตร   คาดลดเบนซินลง 0.90-1.20 บาท

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า  ได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พ.ศ.... ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เสนอ

ทั้งนี้ ร่างประกาศฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย โดยกำหนดค่าธรรมเนียม 300 บาทต่อคนต่อครั้ง สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางอากาศ และ 150 บาทต่อคนต่อครั้ง สำหรับผู้เดินทางเข้าช่องทางบกและช่องทางน้ำ โดยยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางเพื่อการทูต กงสุล หรือการปฏิบัติราชการ (Diplomatic or Official Passport) ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพในประเทศไทย (Work Permit) หรือหนังสืออนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด ผู้โดยสารผ่าน (Transit Passenger) ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี และบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการ ท.ท.ช.กำหนด

พร้อมกันนี้ ครม.ได้มอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ดำเนินการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการตรวจลงตรา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ออกตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยกำหนดให้ใช้หลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นเอกสารประกอบการอนุญาตเข้าเมือง และให้ สตม.เป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตเข้าเมืองต่อไป

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า การออกประกาศ ท.ท.ช.ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ซึ่งให้ ท.ท.ช. สามารถเสนอต่อ ครม. ให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งใช้ในการจัดให้มีประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในระหว่างเที่ยวภายในประเทศไทย

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ดำเนินการศึกษาเชิงเปรียบเทียบแล้วพบว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจุบันมีกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่เก็บค่าธรรมเนียมแล้วมีสวัสดิการคืนแก่นักท่องเที่ยวผ่านประกันอุบัติเหตุ การเสียชีวิต และการส่งศพกลับประเทศ เพื่อดูแล ช่วยเหลือ เยียวยานักท่องเที่่ยว ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนี้จะช่วยลดภาระงบประมาณในการดูแล เยียวยานักท่องเที่ยวและด้านสาธารณสุข จากการเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไม่เต็มจำนวน มีความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินปีละประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี รวมถึงงบประมาณสำหรับการดูแลแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดความเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว รวมทั้งงบประมาณสำหรับการดูแลพัฒนาสาธารณูปโภคที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวให้ปลอดภัย

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ร่างประกาศดังกล่าวจะมีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน คาดว่าเริ่มวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ซึ่งการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลนักท่องเที่ยว จากการเก็บข้อมูลในปี 60-62 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปใช้บริการในสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งรัฐต้องใช้งบดูแลมากถึง 300-400 ล้านบาท

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.ให้เร่งนำโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้า ครม. เพื่ออนุมัติ จะได้เริ่มโอนเงินให้ประชาชนได้ในวันที่ 1 มี.ค. และข้อมูลผู้มีสิทธิแต่ละคนจะได้รับการคุ้มครองข้อมูลภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตนได้เข้มงวดไปไม่ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้มีสิทธิ โดยผู้ลงทะเบียนต้องเข้าไปตรวจสอบชื่อตัวเอง จะไม่ประกาศชื่อในที่สาธารณะ

วันเดียวกัน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง.มีมติเห็นชอบปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม โดยจะปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลับสู่สภาวะปกติตามปี 2563 ทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายรับในส่วนของน้ำมันดีเซลลดลงเป็นประมาณ 37.23 ล้านบาทต่อวัน (หรือประมาณ 1,117 ล้านบาทต่อเดือน) ดังนั้นจะทำให้ราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินปรับลดลง ประมาณ 0.90-1.20 บาทต่อลิตร โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2566 เป็นต้นไป (ส่วนน้ำมันดีเซลลดอยู่แล้ว ตามมาตรการภาครัฐไม่เกิน 35 บาท/ลิตร).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคาะ‘กริพเพน’ แทนขับไล่F16 ออปชันจัดเต็ม

ทอ.เคาะเลือก "JAS 39 Gripen   E/F"  บินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ หลัง “สวีเดน” จัดเต็มทั้งให้ลิขสิทธิ์ลิงก์-จรวดนำวิถีตัวเก่ง-offset policy ถึงแม้สหรัฐเสนอ Link 16 ฟรีให้ไทย

รับรอง‘ปชช.’เท้งผู้นำค้าน

ด้อมส้มเฮ! กกต.รับรองพรรคประชาชนแล้ว ปธ.วิปฝ่ายค้านยัน "ผู้นำฝ่ายค้าน"  เป็น "เท้ง" รอแต่งตั้งหลังรัฐบาลแถลงนโยบาย 

พท.ปิดฉากบ้านป่า! เขี่ยทิ้ง‘พปชร.’ดึง‘ปชป.’เสียบตกรางวัล‘ธรรมนัส’3เก้าอี้

อัปเปหิพลังประชารัฐแล้ว ปิดสวิตช์  "วงษ์สุวรรณ" ตามบัญชานายใหญ่ “กก.บห.” อ้าง   สส.ไม่สบายใจในการทำงานร่วมกัน