อบต.ฮือนัดบุกทำเนียบฯ ทวงถามขึ้นค่าตอบแทน

ตัวแทน อบต.นัดเคลื่อนไหวย่อยบุกทำเนียบฯ 14 ก.พ.นี้ ทวงถามความคืบหน้าเพิ่มค่าตอบแทนให้สมาชิก อบต.ทั่วประเทศ พร้อมประกาศจุดยืนบอยคอตพรรคการเมืองที่ต่อต้าน หนุนพรรคที่สนับสนุน "หน.พลังท้องถิ่นไท" ชงรัฐบาลปรับรื้อโครงสร้างเงินเดือน-สวัสดิการ "อบต.-กำนัน-ผญบ." ให้เท่าเทียม อย่าคึกแค่ช่วงหาเสียง

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ มีรายงานข่าวว่า สมาคม  อบต.แห่งประเทศไทย นำโดยนายวิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมฯ พร้อมแกนนำในชุดปัจจุบัน เตรียมเคลื่อนไหวย่อยบุกทำเนียบรัฐบาล โดยนัดมารวมพลพร้อมกันในวันที่  14 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ เพื่อแสดงพลังของ อบต.ทั่วประเทศผ่านตัวแทน โดยต้องการมาพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อทวงถามรัฐบาลในการพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนให้สมาชิก อบต.ทั่วประเทศเกือบ 4 แสนคน

ทั้งนี้ จะมีแกนนำ อบต.แต่ละภาค ภาคละ 10 คน แต่งเครื่องแบบเต็มยศเป็นตัวแทนเดินทางมายังทำเนียบฯ  โดยจะนั่งรถตู้มาประมาณ 10 คัน จากเดิมนัดมากันนับพันคน แต่แกนนำห้ามไว้เนื่องจากบริเวณทำเนียบฯ สถานที่คับแคบ จึงขอให้ส่งตัวแทนมาร่วมเท่านั้น โดยแกนนำยืนยันว่าถ้าจะระดมพลกันจริงๆ เพียงแค่วันเดียวก็นัดพร้อมกันได้ทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเดินทางมาครั้งนี้ อบต.จะประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า พรรคการเมืองไหนสนับสนุนเพิ่มค่าตอบแทน จะเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ส่วนพรรคไหนคัดค้านหรือเหยียบเรือสองแคมเพราะกลัวกระแสสังคมก็จะไม่สนับสนุน ส่วนพรรคการเมืองบางพรรคที่เคยคัดค้านการขึ้นค่าตอบแทน ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ก็จะขอความชัดเจนอีกครั้งว่ายังจะคัดค้านอยู่หรือไม่ หลังจากผู้แทน อบต.เข้าพบนายกฯ แล้วก็จะติดตามเรื่องอย่างต่อเนื่อง และกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อให้ข้อเรียกร้องบรรลุผล

ที่รัฐสภา นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวว่า ตนขอเสนอให้รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยพิจารณาปรับรื้อโครงสร้างเงินเดือน ค่าตอบแทนตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสมาชิกสภา อบต., กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน  รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่น  เช่น นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล เป็นต้น เพราะเห็นว่ายังมีช่องว่างและมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ทั้งเรื่องของเงินเดือนและสวัสดิการ

นายโกวิทย์กล่าวว่า ยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างสมาชิกสภา อบต.กับผู้ใหญ่บ้าน ที่แต่ละแห่งจะกำหนดไว้ให้ผันแปรตามรายได้ของ อบต. เช่น อบต.ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 จะมีรายได้ประมาณ 10 ถึง 25  ล้านบาท สมาชิก อบต.ก็จะมีเงินค่าตอบแทนตำแหน่งเดือนละ 7,200 บาท ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านเริ่มต้นที่  8,000 บาท และจะมีการพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้ปีละ  200 บาททุกปี ไปจนถึง 13,000 บาท แต่ก็ยังมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอีก 3 คนช่วยงาน มีเงินเดือนคนละประมาณ 5,000 บาท นอกจากนี้ผู้ใหญ่บ้านยังมีสวัสดิการที่สามารถเบิกค่าเล่าเรียนบุตรและค่ารักษาพยาบาลได้ แต่สมาชิกสภา อบต.ไม่มี จึงต้องทำให้เท่าเทียม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวิธีคิดที่ต่างคนต่างคิดเรื่องเงินเดือนตัวเองอย่างไม่เป็นระบบ ทั้งที่สมาชิก อบต., ผู้ใหญ่บ้าน และกำนันก็ทำงานคล้ายกัน

"การที่พรรคการเมืองหนึ่งเสนอให้ขึ้นเงินเดือน นายกฯ อบต. ส่วนอีกพรรคหนึ่งเสนอให้ขึ้นเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นเป็นวิธีคิดที่ใช้ไม่ได้ เพราะรัฐบาลน่าจะทำตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ทำในช่วงหาเสียง เพราะคนเหล่านี้มีความยากลำบากในการทำงานตอบสนองนโยบายของรัฐบาล จึงต้องขึ้นเงินเดือนอย่างเท่าเทียม และเสมอภาค" นายโกวิทย์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี