กกต.ชงงบหาเสียง3แบบ เมินส่งตีความคำ‘ราษฎร

กกต.ชง 3 รูปแบบค่าใช้จ่ายผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต-ปาร์ตี้ลิสต์ ให้พรรคการเมืองเลือก "อิทธิพร"  เมินยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ปมคำนวณจำนวนราษฎรตามข้อเสนอวิษณุ ยันปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30  น. ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือกับพรรคการเมือง เพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งหารือในเรื่องของการติดป้ายประกาศ ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และวิธีการสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง (ไพรมารีโหวต) เพื่อเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ในส่วนของค่าใช้จ่ายของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กกต.ได้กำหนดตุ๊กตาไว้ รวม 3 รูปแบบ

รูปแบบแรก กกต.คิดเอง โดยคำนวณกับปัจจัย 7 ประการ ได้แก่ อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ดัชนีราคาผู้บริโภค น้ำมันดีเซล ราคาไม้อัดขนาด 4X8 ฟุต หนา 4 มิลลิเมตร กระดาษโปสเตอร์ขนาด 15.5X21.5 (บาทต่อแผ่น) ค่าไวนิลขนาด 1X3 เมตร (บาทต่อผืน) และฟิวเจอร์บอร์ด 130 เซนติเมตร X 3 มิลลิเมตร (บาทต่อแผ่น) ซึ่งหากสภาอยู่ครบวาระ ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ใช้จ่ายได้คนละ 6.5 ล้านบาท และพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 152 ล้านบาท ส่วนกรณีมีการยุบสภาผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายได้คนละ 1.74 ล้านบาท และพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 40.6 ล้านบาท 

รูปแบบที่ 2 เป็นการนำปัจจัย 7 ประการไปหารือกับ 3 หน่วยงานทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ ทำให้จำนวนค่าใช้จ่ายของผู้สมัครเพิ่มขึ้นกว่าที่ กกต. ตั้งตุ๊กตาไว้ ส่วนรูปแบบที่ 3 เป็นข้อเสนอของ 3 หน่วยงาน ที่เห็นว่าควรคำนวณอัตราเงินเฟ้อรวมเข้าไปด้วย การเสนอทั้ง 3 รูปแบบได้มีการเสนอให้ผู้แทนพรรคการเมืองได้พิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ซึ่งพรรคการเมืองได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย มีทั้งที่เห็นว่าเหมาะสมแล้ว มากเกินไป หรือน้อยเกินไป โดย กกต.มีแบบสอบถามความเห็นให้พรรคการเมืองได้แสดงความเห็นว่าพึงพอใจรูปแบบใด จากนั้นสำนักงาน กกต.จะนำความเห็นมาประมวล และส่งให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาว่าเท่าใดจึงจะเหมาะสมก่อนที่จะออกประกาศ

สำหรับการติดป้ายหาเสียงประเด็นที่พรรคการเมืองสอบถามคือ ต้องการทราบว่าสามารถติดป้ายไว้ที่ใดบ้าง ส่วนขนาดมีทั้งที่มองว่าที่ กกต.กำหนดใหญ่หรือเล็กเกินไป แทนที่จะให้พรรคเป็นผู้ดำเนินการ กกต.ควรเป็นคนกำหนด และมีข้อเสนอในเรื่องของสถานที่ติดป้ายประกาศว่า กกต.ควรจะเป็นผู้กำหนด

นายอิทธิพรยังกล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีการนำ ส.ส.ที่มีการนำจำนวนรัฐบาลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส. และแบ่งเขตเลือกตั้งว่า ยืนยันว่า กกต.ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 86 บัญญัติไว้ว่าให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางได้ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566 ว่ามีจำนวนเท่าใด โดยมีทั้งบุคคลที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งถ้าพิจารณาถ้อยคำที่ใช้ จะเห็นว่าให้เอาจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรมาพิจารณา ซึ่ง กกต.ได้ยึดหลักการนี้ในการแบ่งเขตมาโดยตลอด

เมื่อถามว่า เป็นห่วงว่าจะมีการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่าราษฎร แล้วจะมีผลต่อการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่ นายอิทธิพรยืนยันว่า เราทำตามที่กฎหมายเขียนไว้ว่าให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อเป็นบรรทัดฐานนั้น สิ่งที่เราพิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมายแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ในรูปแบบที่ 2 ที่ กกต.มีการนำปัจจัย 7 ประการ ในการคิดคำนวณไปหารือกับ 3 หน่วยงาน พบว่า มีการให้นำดัชนีราคาผู้บริโภค จากปีฐานคือปี 2562 มาคำนวณด้วย ซึ่งก็จะทำให้กรณีครบวาระผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตใช้จ่ายได้คนละ 7 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อ 163 ล้านบาท แต่ถ้ายุบสภาแบบแบ่งเขตใช้จ่ายได้คนละ 1.9 ล้านบาท และบัญชีรายชื่อใช้จ่ายได้ 44 ล้านบาท

ส่วนรูปแบบที่ 3 เป็นการคิดจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2562-2565 จะพบว่าในกรณีอยู่ครบวาระ ผู้สมัครแบบแบ่งเขตจะใช้ค่าใช้จ่ายได้ 6 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อ 141 ล้านบาท และหากกรณียุบสภา แบบแบ่งเขตสามารถใช้ได้ 1.6 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อใช้จ่ายได้ 38 ล้านบาท

วันเดียวกัน นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่ กกต.สั่งให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กกต.กทม.อยู่ระหว่างดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มอีกประมาณ 1-2 รูปแบบ โดยจะใช้เวลาดำเนินการภายใน 1-2 วัน จากนั้นก็จะเผยแพร่ให้ประชาชนและนักการเมืองได้แสดงความคิดเห็นเป็นเวลา 10 วัน ส่วนรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 5 รูปแบบ  ก็ยังคงอยู่ และอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยหลังรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งให้ กกต.กลางพิจารณาไปก่อน ย้ำว่า กกต.กทม.แบ่งเขตเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่ง กกต.กทม.เดินตามทีละข้อ

ทั้งนี้ การแบ่งเขตไม่ได้คำนึงถึงแค่จำนวนราษฎรเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเรื่องประกอบการพิจารณา ทั้งเรื่องของการคมนาคม เดินทางสะดวก ถ้ากรณีพื้นที่หรืออำเภอมีประชากรน้อย สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนประชากรได้ โดยพยายามให้แต่ละพื้นที่มีส่วนต่างของประชากรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด การที่ กกต.สั่งให้มีการแบ่งเขตเพิ่มเติม ไม่ได้หมายความว่าการแบ่งเขต 5 รูปแบบที่ กกต.กทม.ดำเนินการนั้นไม่ถูกต้อง เพียงแต่ให้ไปดำเนินการแบ่งเขตเพิ่มเติม ซึ่ง กกต.ระบุว่าต้องแบ่งเขตไม่ให้หนีไปจากกฎหมายกำหนด

ทางด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า  ความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ อาจเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การเลือกตั้งโมฆะแบบที่เคยเกิดเมื่อปี 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างเหตุผลเรื่องการจัดคูหาเลือกตั้ง ในการล้มผลการเลือกตั้ง เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ ดังนั้นทางออกที่ง่ายกว่าคือ  กกต.ควรออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา กกต.ใช้วิธีการแบ่งเขตคำนวณแบบนี้หรือไม่ เพราะอะไร แต่ถ้าที่ผ่านมา กกต.ไม่ได้แบ่งเขตแบบนี้ ในครั้งนี้ก็ไม่ควรทำ หาก กกต.ฝืนทำแล้วทำให้มีคนยื่นร้องว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ คนที่ต้องรับผิดชอบแต่ผู้เดียวคือ กกต. ไม่ใช่ไปล้มผลการเลือกตั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อังกินันทน์' ชนะขาด! ประกาศผลนับคะแนนเลือกตั้ง 'นายก อบจ.เพชรบุรี'

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี (อย่างไม่เป็นทางการ) ณ เวลา 23.59 น. โดยนับครบแล้วทั้ง 734 หน่วยเลือกตั้ง

'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง

ประกาศผลนับคะแนนเลือกตั้ง 'นายก อบจ.อุดรธานี' อย่างไม่เป็นทางการ

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี