ล่มซ้ำซาก คราวนี้เป็นที่ประชุมรัฐสภา ส.ว.โดดประชุมร่วมร้อยคน แก้ รธน.ริบอำนาจวุฒิสภาค้างเติ่ง "บิ๊กตู่" ปิดห้องถก "ชวน-พรเพชร" แก้ปัญหาสภาล่ม บอก "ผมพยายามเต็มที่แล้ว" จับตาอภิปรายตามม.152 องค์ประชุมไม่ครบจบทันที
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 มีวาระประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในเวลา 09.00 น. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ..... มาตรา 159 เพิ่มที่มานายกรัฐมนตรี และยกเลิกมาตรา 272 อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ที่ฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ แต่ปรากฏว่าเวลาล่วงเลยไปกว่า 1 ชั่วโมง ก็ไม่สามารถเปิดประชุมได้ ทำให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นหารือต่อที่ประชุมว่า ไม่ทราบจะต้องรอถึงเมื่อใดจึงจะสามารถเปิดประชุมได้ ฝ่ายค้านอยากทราบว่ามีกำหนดรอเวลาเปิดประชุมหรือไม่ อย่างไร หากเปิดประชุมไม่ได้ก็จะได้เลิกประชุม ถ้ารอต่อไปเปลืองค่าแอร์
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส.ส.มาเกินครึ่งแล้ว เหลืออีกเพียง 30 คนก็จะเปิดประชุมได้ ขอให้ ส.ว.รีบดื่มน้ำชากาแฟแล้วเข้าห้องประชุม
จากนั้น นายจิรายุลุกขึ้นอีกครั้งแจ้งว่าประเพณีปฏิบัติไม่มีกำหนดเวลารอ จึงอาจรอต่อไป หรือไม่ก็อาจต้องอดทนรออีก 4 ชั่วโมง
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายธีระชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้ ส.ว.มาร่วมลงชื่อ 44 จาก 250 คน ส่วน ส.ส.มาร่วมลงชื่อ 275 จาก 500 คน ถือว่า ส.ส.ร่วมลงชื่อเกินกึ่งหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ถือว่าเลยมาแล้ว 2 ชั่วโมงจากที่นัดไว้ วันนี้เป็นการประชุมเพื่อยกเลิกอำนาจของ ส.ว.โหวตนายกฯ แต่ ส.ว.ไม่มาร่วมประชุม จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า สมาชิกรัฐสภาเล่นเกมองค์ประชุมหรือไม่ ตัดอำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วฝ่ายนั้นไม่มา เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
กระทั่งเวลา 11.09 น. ที่ประชุมสามารถเปิดประชุมได้ ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีสมาชิกมาร่วมลงชื่อจำนวน 342 คน แบ่งเป็น ส.ว. 51 คน และ ส.ส. 291 คน แต่ยังไม่สามารถเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากที่ประชุมขอให้ลงมติในญัตติที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอค้างไว้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. กรณีการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ ดำเนินการถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เนื่องจาก ส.ว.ไม่มีส่วนรู้เห็นในการจัดระเบียบวาระประชุมดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมเสียเวลารอให้สมาชิกมาแสดงตนเพื่อลงมติในญัตตินี้นานร่วม 1 ชั่วโมง โดยมีสมาชิกรัฐสภามาแสดงตนเป็นองค์ประชุมเพียง 308 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม นายชวนจึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.05 น. ทั้งนี้ นายชวนแจ้งว่าวันนี้ส.ส.แจ้งลาประชุม 15 คน ส่วน ส.ว. 95 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่มเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ต้นปี 66
ผมก็พยายามเต็มที่ให้แล้ว
ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายพรเพชร วชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้มีการหารือนอกรอบที่ห้องรับรอง ร่วมกับนายชวน นายพรเพชร และนายวิษณุ กว่า 10 นาที โดยมีรายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ได้มีการพูดคุยถึงกรณีการประชุมสภาล่มซ้ำซาก รวมทั้งร่างกฎหมายที่ยังคงค้างอยู่ในสภา
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นการพูดคุยกันถึงเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ จะให้คุยเรื่องอะไรอีก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องสภาล่มหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า "ท่านก็บอกผม ซึ่งผมก็รับทราบและขอบคุณ ซึ่งผมก็พยายามเต็มที่ให้แล้ว”
ด้านนายชวนให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นเดียวกันว่า การที่องค์ประชุมล่มในวันเดียวกันนี้ถือเป็นเรื่องตามปกติ ซึ่งวันเดียวกันนี้มี ส.ว.ลาประชุมกว่า 90 คน ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วองค์ประชุมวันเดียวกันนี้จะต้องมีสมาชิกจำนวน 333 คน แต่หลังจากที่เรียกสมาชิกรัฐสภา ก็ได้สมาชิกเป็นองค์ประชุมรวม 309 คน จึงได้สั่งปิดการประชุม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีจำนวน ส.ว.ลาประชุมถึง 95 คน ถือเป็นเจตนาที่จะทำให้ไม่สามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐบาลนูญฉบับดังกล่าวได้ใช่หรือไม่ ประธานรัฐสภาตอบว่า ฝ่าย ส.ว.ส่วนหนึ่งคงมีความกังวลว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ด่าเขา ขณะที่ ส.ว.อีกส่วนหนึ่งก็มาทำหน้าที่ตามปกติ จึงมี ส.ว.ส่วนหนึ่งพยายามไม่ให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ความจริงแล้วการประชุมร่วมรัฐสภาถือเป็นวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาให้ร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของสภาได้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นร่างกฎหมายเหล่านั้นจะต้องถูกพิจารณาตามหลัง เหมือนกรณีของร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง ที่อยู่ระหว่างตามหลังกฎหมายฉบับอื่น และค้างการพิจารณาอีกหลายวัน
จับตาสภาล่มรับซักฟอก
นายชวนกล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะหารือกับทางประธานวุฒิสภา เพื่อกำหนดวันนัดประชุมร่วมรัฐสภาวาระปกติอีกครั้ง เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ และร่างพระราชบัญญัติ ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. ตามด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
ขณะที่นายพรเพชรยืนยันว่า ส.ว.ไม่ละทิ้งหน้า กล้าปฏิเสธว่าไม่มี แม้แต่ตนเองก็ไม่เคยละเว้นหน้าที่แม้แต่วันเดียว
เมื่อถามว่า มองอย่างไรต่อกรณีที่มี ส.ว.บางคนออกมาทำนายอนาคตทางการเมืองของประเทศจะกลายเป็นการชี้นำ หรือเป็นการให้ร้ายพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า เท่าที่เห็นก็มี มีเพียงคนเดียวนอกนั้น ไม่เห็นมีอะไร ส่วนใครจะทำ ตัวเป็นหมอดูหรือคาดการณ์อะไรเป็นเรื่องของเขา ตราบใดที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือไปทำอะไรที่เป็นการละเมิดหรือไม่เหมาะสม ก็ปล่อยให้เขาทำไป แต่สังคมจะเป็นผู้พิจารณาเอง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.ว่า ทางสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จะเป็นผู้เตรียม ข้อมูลต่างๆ แต่เชื่อว่าพอถึงเวลารัฐมนตรี มีความชำนาญจะสามารถตอบได้ แม้มีการเตรียมข้อมูลเรื่องตัวเลขแต่ ระหว่างพูดอาจไม่ได้ใช้
เมื่อถามว่า ระหว่างการอภิปรายหากองค์ประชุมไม่ครบทำให้สภาล่มจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าล่มตอนอภิปรายก็ถือว่าจบการอภิปราย ก็แค่นั้น แม้จะล่มในการอภิปรายวันแรกก็ถือว่าจบ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาจะนัดกันว่า หากล่มวันแรก ในวันที่สองจะมีการอภิปรายต่อหรือไม่ ซึ่งความจริงไม่จำเป็น เพราะตกลงกันแล้วว่าให้อภิปรายในวันที่ 15-16 ก.พ.นี้ สมมุติหากวันที่ 15 ก.พ. อภิปรายไปถึงเวลา 15.00 น. แล้วมีมือดี ยกมือขอนับองค์ประชุม ประธานในที่ประชุมอาจจะให้มาอภิปรายต่อในอีกวันหรืออาจจะ เห็นว่าได้มีการอภิปรายกันแล้ว หากองค์ประชุมไม่ครบก็แสดงว่าไม่ติดใจ ก็ถือว่าจบ เพราะการอภิปรายคือการเปิดโอกาสให้คนที่สงสัยถาม เมื่อจะถามก็ต้องอยู่ ถ้าไม่อยู่ก็แปลว่าไม่มีอะไรจะถามไม่เหมือนกับอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะล่มก็ต้องให้ครบคนที่ขออภิปราย แต่ครั้งนี้เป็นการอภิปรายทั่วไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะอภิปรายใคร เหมือนกับการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อแถลงเสร็จก็เปิดให้มีการอภิปราย แต่เมื่ออภิปรายไปสักพักองค์ประชุมก็ล่ม ถือว่าจบการแถลงนโยบาย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลอย่าเสี่ยง! แจงยิบทำไม 'MOU 44' เข้าข่าย รธน. มาตรา 178
นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 178
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น