ส.ว.-ฝ่ายค้านรุมอัด‘ชวน’ จงใจล่มสภาขัดจริยธรรม

"บิ๊กตู่" ประชด จับใครผูกขาเข้าประชุมสภาไม่ได้ "วิษณุ" ชี้ทำองค์ประชุมล่มหากจงใจอาจขัดจริยธรรม  "อนุทิน" พร้อมชี้แจงอภิปราย ​ม.152 ​ยันคนทำงานรู้ดีที่สุด​ "บังซุป" ขู่หากอภิปรายเหมือน ม.151 จะเสนอนับองค์ฯ รัฐสภา อาการหนัก เปิดประชุมช้าเกือบ 2 ชั่วโมง "ฝ่ายค้าน-ส.ว." รุมจวก "ชวน" มั่วนิ่มนัดพิเศษยัด กม.จริยธรรมสื่อฯ สุดท้ายองค์ประชุมล่ม "ฝ่ายค้าน" เดินหน้ายื่น ปธ.สภาฯ ร้องศาล รธน.ฟัน "ศักดิ์สยาม" ฝ่าฝืน รธน.ซุกหุ้นบริษัท

เมื่อวันอังคาร น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 พ.ศ..... ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.66 เป็นต้นไป ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์​ถึงกรณีในที่ประชุม ครม.ได้มีการกำชับเรื่ององค์ประชุมสภาให้มีการเข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพรียงหรือไม่ว่า กำชับแล้ว  เมื่อสักครู่ก็กำชับ กำชับทุกครั้งนั่นแหละในการเข้าร่วมประชุมสภา เพราะกฎหมายสำคัญมีอยู่ กฎหมายเรื่องของการเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อันนี้ตนจะไปจับเขาผูกขาก็ไม่ได้ 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ    กล่าวถึงกรณีที่เคยระบุจะทำความเข้าใจครม.เกี่ยวกับการชี้แจงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า ได้มีการซักซ้อมอะไรกันนิดหน่อย เรื่องการแบ่งเวลาว่าจะตอบเมื่อไหร่ อย่างไร ไม่มีอะไรมาก เพราะไม่รู้เขาจะพูดอะไร

เมื่อถามว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้ยืนยันกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ว่าจะสั่งการให้ ส.ส.พรรค ภท.เป็นองค์ประชุมในการอภิปรายตามมาตรา 152 นายวิษณุกล่าวว่า ก็ไม่เห็นเขาพูดอะไรตนไม่ทราบจะมีการไปยืนยันกันส่วนตัวหรือไม่ ต้องไปถามนายอนุทิน เมื่อถามว่า หาก ส.ส.มีเจตนาทำให้องค์ประชุมล่มในการอภิปราย 152 จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การทำองค์ประชุมล่มไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการที่องค์ประชุมไม่ครบเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ถ้าเป็นเรื่องจงใจอาจผิดเรื่องจริยธรรม

​ ด้านนายอนุทิน​ ​ชาญ​วี​รกูล​ กล่าวถึงกรณีการอภิปรายทั่วไปที่ฝ่ายค้านกังวลว่าพรรค ภท.​จะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม​ว่า  เจตนารมณ์​ของการอภิปรายมาตรา​ 152 เป็นการให้คำแนะนำของฝ่ายค้านต่อรัฐบาล​ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายของสภา​ ฝ่ายค้านจะมีการเตรียมการอย่างเต็มที่ทางเราจะมีการตอบอย่างเต็มที่​ เขาอยากพูดอะไรเขาก็พูด​ เราอยากพูดอะไรเราก็พูด​ ถือว่าเป็นประโยชน์​ต่อประชาชน​ อย่าไปกังวล

เมื่อถามว่า เวลาการอภิปรายมาตรา​ 152 ของรัฐบาลจะเพียงพอหรือไม่ ​ นายอนุทิน​กล่าวว่า​ ถ้ามีเนื้อหาสาระมันก็พอ​ มัวแต่ทะเลาะกันไปมา​ เราก็อย่าหลงไปในเกม เราก็พูดแต่ข้อเท็จจริง​ เขาจะไม่มีวันรู้มากกว่าเรา เพราะเราเป็นคนทำงาน​ เหมือนการพูดถึงผลงานของกระทรวงที่เราทำงาน​ เขามีเอกสิทธิ์​ส.ส. เขาก็อภิปรายเต็มที่​ ซึ่งรัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้​ ถ้าเป็นคำแนะนำจะดีมาก​ อะไรที่เป็​นประโยชน์​ต่อบ้านเมืองก็พร้อมที่รับฟัง​ และพร้อมที่จะปรับปรุง​แก้ไข​

ที่รัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรค ภท. แถลงว่า พรรค ภท.ยืนยันว่าจะเข้าเป็นองค์ประชุมในวันที่ 15-16 ก.พ. แต่ทั้งนี้การอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ ม.152 รัฐธรรมนูญให้เจตนารมณ์คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาให้รัฐมนตรี ซึ่งประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ ม.151 โดยหากการอภิปรายเป็นไปตาม ม.152 เราก็จะร่วมประชุมด้วย แต่หากพบว่าการอภิปรายไม่เป็นไปตาม ม.152 มีการอภิปรายเหมือน ม.151 หรือนำเรื่องเดิมมาอภิปรายซ้ำ พรรค ภท. จะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย และคงจะต้องมีการประท้วง รวมถึงขอให้นับองค์ประชุม โดยเราจะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม

ภท.จวกวิปไม่เข้มแข็ง

"วันนี้จะครบวาระสภา 4 ปีแล้ว ปรากฏว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มไปแล้วประมาณ 30 ครั้ง และการประชุมร่วมรัฐสภาล่มไปแล้ว 2 ครั้ง ยืนยันว่าพรรค ภท.ร่วมเป็นองค์ประชุมและสมาชิกอยู่ครบตลอดมา เราไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้องค์ประชุมล่ม ส่วนที่มีการบิดเบือนว่าเราทำให้องค์ประชุมล่ม เราไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมเพียงแค่ครั้งเดียว เพราะเห็นว่าวิปรัฐบาลทำงานไม่เข้มแข็ง ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เราจึงแสดงจุดยืนไม่เป็นองค์ประชุมในสัปดาห์ที่ผ่านมา" นายศุภชัยกล่าว

เมื่อเวลา 09.00 น. ในการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ซึ่ง ครม.เป็นผู้เสนอ ในวาระแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประธานการประชุมได้กดออดให้สมาชิกเข้าห้องประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 น. แต่ผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง กลับพบว่ามีสมาชิกเข้าประชุมเพียง 190 คน (จากสมาชิกทั้งหมด 667 คน) แบ่งเป็น ส.ส. 125 คน และ ส.ว. 65 คน ถือว่ายังไม่ครบองค์ประชุม 334 คน จึงไม่สามารถเปิดประชุมได้ เพราะยังขาดอีก 144 คน และยังไม่ได้มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ทีวีรัฐสภา

ต่อมา เวลา 10.00 น. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  (ก.ก.) ลุกขึ้นหารือ โดยมีเพียงเสียงผ่านไมค์ลอดออกมานอกห้องประชุมว่า ไม่แน่ใจว่าประธานนัดกี่โมง ตอนนี้เหตุใดองค์ประชุมยังไม่ครบ ทั้งที่ปกติหากนัดประชุม 09.00 น. พอเวลา 10.00 น. ก็จะครบองค์ประชุม และสามารถเปิดประชุมได้แล้ว

ต่อมาเวลา 10.15 น. ขณะรอสมาชิกให้ครบองค์ประชุม และยังไม่ได้มีการเปิดประชุม นายพรเพชรได้ขอชี้แจงต่อที่ประชุมให้สมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมรับทราบว่าการประชุมในวันนี้เป็นประชุมเพียงเรื่องเดียว โดยการอภิปรายในวาระ 1 กำหนดเวลาในการอภิปรายคนละ 7 นาที เรียงตามลำดับฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. เป็นการประชุมที่จะต้องมีการลงมติ ตนอยากจะขอให้สมาชิกพิจารณาให้เสร็จ เพราะร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กำหนดไว้ว่าจะพิจารณาฉบับนี้เท่านั้น ถ้าไม่จบหรือพิจารณาไม่ได้เลย ก็ต้องเลื่อนไป และยังขาดองค์ประชุมอีกประมาณ 100 คน เพราะมี ส.ว.มาเพียง 82 คน และ ส.ส. 151 คน รวม 233 คน

นายณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ยังค้างการพิจารณาอยู่ ซึ่งคงจะต้องเดินหน้า แต่จู่ๆ กลับมีใครไม่รู้ยัดร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ เข้ามา แล้วบี้นายชวนให้เอาเข้ามาให้ได้

ต่อมานายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พท. สอบถามนายพรเพชรว่า ตามวาระการประชุมรัฐสภาวันนี้ต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ต่อ แต่เมื่อนายชวนใช้คำว่าประชุมนัดพิเศษ หมายความว่าจะเอาอะไรมาต่อก็ได้หรือไม่ โดยนายพรเพชรยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ยังไม่ตกไป สามารถนำกลับมาพิจารณาต่อได้

ต่อมาในเวลา 10.50 น. มีสมาชิกเข้าประชุม 334 คน ถือว่าครบองค์ประชุม แม้นายพรเพชรจะยังไม่ได้แจ้งสมาชิกว่าองค์ประชุมครบ และเปิดประชุมตามระเบียบวาระ ก็ไม่ได้ปิดกั้น โดยปล่อยให้สมาชิกหารือและถกเถียงถึงการเลื่อนระเบียบวาระว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ หรือร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ โดยฝ่าย ส.ว.ทั้งหมด รวมถึง ส.ส.ฝ่ายค้านเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ยืนกรานที่จะให้นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ เพื่อพิจารณาต่อ และเสนอให้นำร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพิจารณาในวันที่ 8 ก.พ.

รัฐสภาล่มไม่ทันโหวตกม.คุมสื่อ

นอกจากนี้ ยังตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของนายชวน ที่เปิดประชุมนัดพิเศษโดยไม่หารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน  จนทำให้เกิดความวุ่นวาย จากนั้นที่ประชุมยังคงโต้เถียงกันยาวนานต่อเนื่องไปอีกกว่า 2 ชั่วโมง

ต่อมาเวลา 12.14 น. นายชวนชี้แจงว่า ไม่ได้คิดอะไรตามอำเภอใจ และปรึกษานายพรเพชรแล้ว จึงจัดประชุมรัฐสภานัดพิเศษ การบริหารเวลาในช่วงที่มีอยู่อย่างจำกัด จำเป็นต้องใช้สมองและความคิด เพื่อให้งานเกิดประโยชน์สูงสุด การจัดระเบียบวาระแบบปกตินั้นจะทำให้ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ได้รับการพิจารณา เพราะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ จะพิจารณาไปอีกนาน จึงควรทำงานให้ออกมาภายในเวลาที่ทำได้ ภายใต้อำนาจที่ประธานสามารถทำได้ เพื่อให้มีผลงานออกมา ถ้าประชุมปกติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน จะไม่ได้รับการพิจารณาอย่างแน่นอน และอาจจะถูกมองว่าประธานสมคบกับส.ว.หรือไม่ แต่ขอยืนยันว่าไม่มีลับลมคมในให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน

จากนั้นเวลา 12.41 น. หลังจาก ส.ว.และฝ่ายค้านได้ฟังการชี้แจงของนายชวน ก็ไม่ได้ทักท้วง นายชวนจึงแจ้งต่อที่ประชุมว่าเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ และให้นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายดังกล่าว

จากนั้นเวลา 17.25 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่ประธานการประชุม กดออดให้สัญญาณสมาชิกเสียบบัตรแสดงตนเช็กองค์ประชุม ก่อนลงมติรับหรือไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ปรากฏว่ามีสมาชิกเพียง 182 คน เท่ากับว่าไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายชวนทำหน้าที่ประธานสั่งปิดการประชุมในเวลา 17.45 น. ทั้งนี้ ถือว่าการประชุมร่วมรัฐสภาล่มเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ต้นปี 66

วันเดียวกัน พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ แถลงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นคำร้องถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ อีกครั้ง เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะสิ้นสุดลงหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้เคยยื่นคำร้องต่อนายชวนให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเอาผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 กรณีการแทรกแซงการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน แต่นายชวนวินิจฉัยไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของประธานสภาฯ

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า โดยคำร้องที่ยื่นต่อนายชวนครั้งนี้ จะอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ให้สมาชิกเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ส่งผ่านประธานสภาฯ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นรัฐมนตรีและ ส.ส.ของนายศักดิ์สยาม จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 กรณีห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด เป็นข้อกล่าวหาเฉพาะในเรื่องนี้

นพ.ชลน่านกล่าวด้วยว่า สำหรับหลักฐานที่ยื่น มีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย 14 เรื่อง ที่แสดงถึงการถือหุ้นของนายศักดิ์สยาม ส่วนการยื่นให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 นั้น ฝ่ายค้านยังดำเนินการอยู่ แต่จะรอฟังการยื่นเอาผิดครั้งนี้ก่อน ยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้ง ทำตามหน้าที่ฝ่ายค้านในระบบรัฐสภา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟันแก๊งอุ้มพ่อนายกฯ ปปช.มีมติคุ้ยป่วยทิพย์/รทสช.ผวาเช็กบิลรีบปัด!

ชั้น 14 พ่นพิษแล้ว ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ไต่สวนแก๊งอุ้ม “พ่อนายกฯ” นอนตีพุง รพ.ตำรวจ ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ 12 รายถูกหวยเต็มๆ