‘กกต.’จ่อเคาะกฎใหม่!

นับหนึ่งเลือกตั้ง กกต.ถกสัปดาห์นี้ จ่อเคาะระเบียบเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่ จับตาปมร้อน แบ่ง 400 เขตทั่วประเทศ สะพัดบิ๊กเนมหลายชื่อเปลี่ยนสนาม หนีปาร์ตี้ลิสต์ลงเขต "กรณ์" นำร่อง   ชทพ.คาดบิ๊กตู่ยุบสภาก่อนปิดสมัยประชุม 28 ก.พ.

ภายหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสําคัญ 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่แก้ไขให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก่อนหน้านี้ ที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นสองใบ และมี ส.ส.เขตเพิ่มจาก 350 คนเป็น 400 คนโดยลดจํานวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลงจาก 150 คนเหลือ 100 คนนั้น

เมื่อวันที่ 29 มกราคม นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงขั้นตอนในการเตรียมการเลือกตั้งต่อจากนี้ว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครจะดำเนินการเหมือนกับ กกต.จังหวัดอื่น คือเป็นฝ่ายที่ต้องปฏิบัติงานด้านธุรการต่างๆ ให้กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งในเรื่องการเตรียมการแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทางสำนักงานเลือกตั้ง ประจำกรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้วไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบตามระเบียบที่วางไว้ แต่จริงๆ กกต.กทม.ทำไว้ประมาณ 5-6 รูปแบบ แต่ที่ผ่านมายังเปิดเผยไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่แก้ไขทั้ง 2 ฉบับยังไม่มีการประกาศใช้ แต่เมื่อ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมีการประกาศและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม ตอนนี้ก็ต้องรอระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.กลางจะประกาศออกมารองรับการประกาศใช้กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเข้าใจว่าภายใน 2-3 วันนี้ ทาง กกต.จะพิจารณาระเบียบดังกล่าว ที่เข้าใจว่า กกต.กลางได้เตรียมการไว้พร้อมหมดแล้วเช่นกัน โดยพอระเบียบดังกล่าวประกาศใช้ ทางสำนักงาน กกต.กลางก็จะสั่งให้ กกต.ระดับจังหวัดดำเนินการในหลายเรื่องพร้อมกันทันที เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้ง การให้ปิดประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดให้ปิดประกาศเมื่อใดเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเขตเลือกตั้งและจากพรรคการเมือง ซึ่งขั้นตอนรับฟังความเห็นดังกล่าว ต้องใช้เวลา 10 วันในการรับฟังความเห็น ทั้งหมดทางเราเตรียมการไว้หมดแล้ว

ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกระบวนการปิดประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า ทุกจังหวัดก็จะต้องดำเนินการเหมือนกันหมด โดยนำไปปิดไว้ตามสถานที่ราชการต่างๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด ศาลา กทม. ที่ว่าการเขต ที่ว่าการอำเภอ และในเว็บไซต์ ซึ่งกฎหมายรองรับ

  "การแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ได้แบ่งแบบคิดเองทำเอง แต่ว่าไปตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เช่น ต้องให้การคมนาคมเกิดความสะดวกของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่แบ่งแยกพื้นที่ตำบลหรือแขวงออกมา ไม่ทำให้สูญเสียสังคมหรือความเป็นชุมชนดั้งเดิม คำนึงถึงเขตเลือกตั้งเดิมที่เคยประกาศมาก่อน และต้องให้จำนวนราษฎรในเขตที่แบ่งมีความใกล้เคียงกัน โดยต้องนำการแบ่งเขตดังกล่าวไปปิดประกาศไว้เป็นเวลา 10 วัน ซึ่งการแบ่งเขต ระเบียบเขียนไว้ว่าไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ คืออาจจะแบ่งเขตไว้มากกว่านั้น เช่น 5 รูปแบบ หรือ 6 รูปแบบก็ได้ หากจังหวัดไหนมีศักยภาพดำเนินการได้แค่ไหน ก็ดำเนินการไปตามนั้น จากนั้นพอครบ 10 วันก็รวบรวมความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในเขตเลือกตั้ง แล้วพิจารณารูปแบบที่ประกาศประกอบความคิดเห็นที่เป็นสาระสำคัญแล้วมาจัดเรียงลำดับว่ารูปแบบการแบ่งเขตแบบไหนที่น่าจะเหมาะสมที่สุด โดยต้องทำภายใน 3 วัน จากนั้นก็ส่งให้ กกต.กลางเพื่อพิจารณาว่าจะเอารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใด ที่เป็นอำนาจของ กกต.กลาง ซึ่งพอ กกต.พิจารณาแล้วเสร็จ ก็จะประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ส่วนจะประกาศได้เมื่อใด เป็นเรื่อง กกต.กลางจะเป็นผู้พิจารณา" ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครกล่าว

ทั้งนี้ กทม.จะมี ส.ส.เขตเพิ่มขึ้นจากตอนเลือกตั้งปี 2562 โดยเพิ่มมา 3 คนเป็น 33 คน จากเดิม 30 คน ซึ่งขณะนี้หลายพรรคการเมือง นักการเมืองหลายคน กำลังรอการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าวอยู่ โดยเฉพาะคนที่มีข่าวว่าการเลือกตั้งรอบนี้อาจหันมาลงสมัคร ส.ส.ระบบเขต กทม. ไม่ได้ไปลงปาร์ตี้ลิสต์ เช่น นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีต รมว.การคลัง ที่มีกระแสข่าวว่าอาจลงสมัคร ส.ส.เขต กทม.ในพื้นที่ กทม.โซนชั้นใน ที่เป็นเขตเลือกตั้ง 2 หรือ 3 ที่มีเขตสาทร ยานนาวา บางคอแหลม เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีข่าวว่านายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี แกนนำชาติพัฒนากล้า อดีต ส.ส.กทม. ก็จะลงสมัคร ส.ส.เขต กทม.พื้นที่จตุจักรเช่นกัน เนื่องจากแกนนำพรรคประเมินว่าชาติพัฒนากล้าอาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่มาก ทำให้หลายคนตัดสินใจหันไปลงระบบเขตแทน

กกต.จ่อคลอดระเบียบเลือกตั้ง

มีรายงานว่า กกต.จะมีการประชุมประจำสัปดาห์ในวันจันทร์และอังคารที่ 30-31 ม.ค.นี้ ที่คาดว่าจะมีการพิจารณาถึงเรื่องความคืบหน้าการเตรียมออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อรองรับการประกาศใช้กฎหมายลูกทั้งสองฉบับ โดยจะเป็นระเบียบใหม่ ที่จะเป็นระเบียบที่มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่จากระเบียบเดิม คือระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนใหม่ โดยจะเป็นระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 ขึ้นมาแทน

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เมื่อกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ ถือว่าการเมืองไทยเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเต็มรูป กกต.สามารถดำเนินการรับฟังความเห็นพรรคการเมืองเป็นครั้งสุดท้าย แล้วออกประกาศเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตได้ในเวลาไม่ช้านี้ ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งสามารถเดินหาเสียงในเขตที่ประสงค์จะลงสมัครได้อย่างเต็มที่

นายนิกรกล่าวว่า ตอนนี้ กกต.คงรอแต่วันที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภา เชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาภายหลังจากการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 ก.พ.2566 จบสิ้นลงก่อน เพราะน่าจะถือว่าจะเป็น Last Battle หรือการต่อสู้ฉากสุดท้ายของสภาชุดที่ 25 นี้ จากนั้นภาวะของสภาช่วงปลายสมัยที่เกิดการล่มบ่อยๆ น่าจะเป็นตัวเร่งให้มีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ.2566 ได้เหมือนกัน

 ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในประเด็นนี้ว่า กฎหมายลูกกับการยุบสภาเป็นคนละเรื่องกัน แต่ความเหมาะสมเมื่อมีกฎหมายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็ควรคืนอำนาจให้กับประชาชนได้

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสํารวจประชาชน เรื่อง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปะทะ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) สำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วภูมิภาค 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแข่งขันทางการเมืองระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จากพรรค พปชร.กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จากพรรค รทสช.

โพลเชื่อ‘ป้อม-ตู่’ไม่แตกแยก

ผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า เมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการแข่งขันทางการเมืองระหว่าง พล.อ.ประวิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า 46.56% ระบุว่า พล.อ.ประวิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้แตกกัน เป็นเพียงแค่การแข่งขันทางการเมือง รองลงมา 28.93% ระบุว่าการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร, 20.53% ระบุว่าเป็นสีสันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย, 12.52% ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นอิสระมากขึ้นในการตัดสินใจทางการเมืองและการบริหารประเทศ,  10.76% ระบุว่าการแข่งขันกันจะทำให้ทั้งสองพรรคได้ ส.ส.รวมกันแล้วน้อยกว่าจำนวน ส.ส.พรรค พปชร.ในการเลือกตั้งปี 2562, 9.01% ระบุว่า พล.อ.ประวิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์แตกกันอย่างแน่นอน,  8.78% ระบุว่า พล.อ.ประวิตรและพรรค พปชร.เป็นอิสระมากขึ้น สามารถร่วมรัฐบาลกับฝั่งไหนก็ได้หลังการเลือกตั้ง

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.ประยุทธ์จะจับมือกันในการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า 38.40% ระบุว่าเป็นไปได้มาก รองลงมา 30.07% ระบุว่าค่อนข้างเป็นไปได้, 18.32% ระบุว่าเป็นไปไม่ได้เลย, 11.76% ระบุว่าไม่ค่อยเป็นไปได้

ขณะที่นายนพดล กรรณิกา หัวหน้าโครงการวิจัยสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจเรื่องนายกรัฐมนตรีที่ใช่ พรรคการเมืองที่ชอบ สอบถามประชาชน 3,740 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงบุคคลที่ใช่เลยนายกฯ คนต่อไป จำแนกตามภูมิภาค พบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังคงยึดครองสูงสุดที่ภาคเหนือและภาคอีสาน 43.6%  ในขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีฐานสนับสนุนมาแรงในทุกภาค มากที่สุดในภาคกลาง 44.6% ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ได้มากสุดในกรุงเทพมหานคร 32.3% ในขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มากสุดคือภาคใต้ 34.4%

นายนพดลยังเผยถึงจตุพรเอฟเฟกต์ว่า  ผลกระทบทางการเมืองจากนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง โจมตีอดีตนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีผลกระทบ 67.7% ในขณะที่ไม่มีผล 32.3% จึงอาจเป็นไปได้ว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนนิยม ทั้งตัวบุคคลผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ และพรรคการเมืองในแต่ละภูมิภาค.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง