ปลากระป๋องไม่ขึ้นราคา กกพ.ชี้FTไร้แววขยับลง

รัชดา ธนาดิเรก

รัฐบาลยัน “นมผง-ปลากระป๋อง” ยังไม่ขึ้นราคา พร้อมจับตาสินค้าอ่อนไหวเป็นพิเศษทั้งในประเทศ-ต่างประเทศทุกวัน ข่าวร้าย กกพ.แจงโอกาสค่าเอฟทีกลับไป 4 บาทต่อหน่วย  ต้องไปลุ้นช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า  คาดงวด พ.ค.-ส.ค. หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นหรือรัฐบาลไม่มีนโยบาย FT จ่อ 5.24 บาทแน่

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.2566 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อที่ประสบอยู่ทั่วโลก   ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศขยับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งรัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปกำกับดูแลราคาอย่างเต็มที่ โดยได้ให้นโยบายและการดำเนินการใดให้ยึดหลักทุกฝ่ายอยู่ได้  ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคให้เกิดความสมดุล ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย

“ราคานมผงเลี้ยงเด็กแรกเกิดที่มีข่าวปรับราคาเพิ่มขึ้น 10% และปลากระป๋องปรับขึ้นกระป๋องละ 2 บาทนั้น กรมการค้าภายแจ้งว่าสินค้าทั้ง 2 รายการ เป็นสินค้าควบคุม หากจะปรับราคาต้องยื่นขออนุญาตก่อน ซึ่งกรมได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้าตรึงราคาสินค้าในราคาเดิม เพื่อไม่ซ้ำเติมค่าครองชีพประชาชน และย้ำว่าขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติให้สินค้าทั้ง 2 รายการปรับขึ้นราคาจากราคาเดิม ส่วนราคาที่ขยับขึ้นบ้างขณะนี้ อาจเป็นการขอปรับส่วนลดทางการค้าของผู้ผลิตให้น้อยลง ทำให้ราคาจำหน่ายในท้องตลาดสูงขึ้น”

 น.ส.รัชดากล่าวว่า ส่วนกรณีนมถั่วเหลืองจะปรับขึ้นกล่องละ 1-2 บาทนั้น  เนื่องจากนมถั่วเหลืองเป็นสินค้าทางเลือก แต่ต้องกำหนดราคาให้สอดคล้องตามต้นทุนไม่ให้สูงเกินจริง ซึ่งกรมได้ประสานขอดูโครงสร้างต้นทุนว่าอัตราที่ปรับเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่

น.ส.รัชดาย้ำว่า ขณะนี้มีสินค้าและบริการควบคุมจำนวน 56 รายการ ซึ่งนายจุรินทร์ได้สั่งให้ติดตามการปรับเปลี่ยนราคาอย่างใกล้ชิด โดยกรมการค้าภายในได้กำหนดแนวทางไว้คือ สินค้าและบริการที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ เช่น เนื้อหมูชำแหละ ไก่สด และน้ำมันพืช จะมีการติดตามราคาและภาวะทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นประจำทุกวัน พร้อมให้เจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบและปฏิบัติการตรวจสอบราคาจำหน่ายเข้มงวดและต่อเนื่อง ส่วนสินค้าและบริการที่ต้องติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เช่น สบู่ น้ำยาล้างจาน อาหารปรุงสำเร็จ นมผง และกระดาษชำระ ซึ่งหากตรวจพบภาวะวิกฤต กรมอาจกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ทั้งการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมเพิ่มเติม ควบคุมราคาขาย และกำหนดให้ปันส่วน เป็นต้น มากไปกว่านั้น สินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น เช่น แชมพูและสบู่เหลว หากเปลี่ยนขนาดบรรจุ เปลี่ยนสูตร หรือเปลี่ยนกลิ่น เพื่อวางจำหน่ายใหม่ ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ทราบทุกครั้งก่อนวางจำหน่าย ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดตามระเบียบของกรม

วันเดียวกัน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า กกพ.อยู่ระหว่างรวบรวมปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ (แอลเอ็นจี) กำลังการผลิตก๊าซจากอ่าวไทย อัตราค่าเงินบาท ความต้องการใช้ไฟฟ้า และปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมมติฐานที่ตั้งไว้ เพื่อประกอบการพิจารณาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ซึ่ง กกพ. จะมีความชัดเจนในช่วงเดือน มี.ค.นี้

"งวด พ.ค.-ส.ค. จะสรุปอัตราค่าเอฟทีได้ประมาณเดือน มี.ค.นี้ เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนเม.ย. และเริ่มใช้เดือน พ.ค. เนื่องจากต้องพิจารณาต้นทุนเชื้อเพลิงและปัจจัยผลกระทบให้รอบด้าน เพื่อให้การพยากรณ์ใกล้เคียงมากที่สุด ซึ่ง กกพ.ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าแนวโน้มจะลดลงหรือไม่ เพราะปัจจัยที่สำคัญกว่าคือปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ยังไม่กลับมาปกติ แม้แนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่แน่นอนสูงเช่นกัน ขณะเดียวกันปริมาณการใช้ไฟของไทยในขณะนี้แนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากจะพิจารณาแนวโน้มค่าได้ใกล้เคียงที่สุดจึงอยู่ที่เดือน มี.ค.นี้” นายคมกฤชกล่าว

นายคมกฤชกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ 1.ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยว่าจะผลิตได้เท่าไร โดยก๊าซส่วนนี้จำเป็นที่สุด เพราะราคาเพียง 6-7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู 2.ปริมาณแอลเอ็นจีสปอต หรือก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร ที่ปัจจุบันราคากว่า 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งถือว่าราคาลดลงพอสมควร แต่ต้องติดตามความผันผวนหลังจากนี้อีกครั้ง และ 3.อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่เดิมประเมินจากระดับ 37-38 บาทต่อดอลลาร์ แต่ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าเหลือ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งระดับนี้ส่งผลดีต่อแนวโน้มค่าเอฟทีแน่นอน

 “หากสมมติฐานต่างๆ ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ในงวดก่อน อัตราค่าไฟฟ้าก็อยู่ในระดับประมาณ 5.2407 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ หากภาครัฐไม่มีนโยบายกำหนดให้ กกพ.คำนวณอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่มเหมือนช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2566” นายคมกฤชกล่าว และว่า ในระยะสั้นโอกาสที่จะเห็นอัตราค่าไฟฟ้าปี 2566 กลับไปต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังไม่เป็นไปตามแผน อีกทั้งต้นทุนราคาพลังงานยังทรงตัวในทิศทางขาขึ้น แต่หากกำลังการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพิ่มขึ้น และราคาแอลเอ็นจีอ่อนตัวลง ก็มีโอกาสที่ค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับลดลงได้ในช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"

ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด

ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ

บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง

"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"