สามนิ้วซึม‘กก.’ไม่เลิกม.112

ก้าวไกล

            เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 ที่อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มธ.รังสิต กลุ่มราษฎรยกเลิก ม.112 เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยตัวแทนกลุ่มกล่าวว่า จากข้อแถลงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้มีความชัดเจนในการยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112  พวกตนต้องการคำตอบว่าจะแก้ไขอย่างไรในสถานการณ์ตอนนี้ และสุดท้าย "คณะราษฎรยกเลิก 112" ที่พวกตนมีความชัดเจนว่าต้องการยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของพวกตน จึงอยากมาฟังจากปากของหัวหน้าพรรค ว่าทิศทางของพรรคก้าวไกลจะเป็นอย่างไร

            ด้านนายพิธากล่าวว่า ตนเป็นห่วง น.ส.ทานตะวัน  ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และนางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม มากที่สุด ล่าสุดที่ได้ยินมาว่าสถานการณ์ร่างกายของทั้งสองก็ไม่ไหวแล้ว น.ส.ทานตะวันก็ปฏิเสธน้ำเกลือ  เพราะฉะนั้นเวลาของพวกเราที่อยู่ตรงนี้มีเหลืออยู่ไม่มาก ก็พยายามที่จะทำทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้

            เมื่อถามว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลคือการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 นายพิธากล่าวว่า  ขั้นต่ำที่สุดจะต้องมีการแก้ไข กับฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อให้เกิดการถกเถียงกัน แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกก็ได้รับการพูดคุยกัน แต่ในขณะเดียวกันรัฐสภาก็พยายามผลักดันเพื่อจะให้มีการพูดคุยกัน ถ้ามีโอกาสก็จะรีบผลักดันกฎหมายเข้าไป แต่ขณะเดียวกันถ้ามีฝ่ายอื่นที่จะแก้ไขมาตรา 112 ไปในทางที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศ เราก็พร้อมที่จะยื่นร่างประกบเข้าไป หากพรรคการเมืองหรือสภาจะไม่ให้โอกาสในการสร้างฉันทามติของสังคมไทย  กลัวว่าประเทศไทยจะหลุดมือและไม่สามารถนำกลับมาได้  การที่พรรคจะผลักดันจนถึงขั้นยกเลิกอาจจะเป็นไปได้

            นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลมีความชัดเจนในการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพต่างๆ พรรคก้าวไกลมีความชัดเจนว่าจุดยืนของเราไม่ได้เปลี่ยน เรารู้ว่าเรามี ส.ส.เท่าไหร่ หากต้องการการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ต้องใช้พันธมิตรมากกว่านี้ สิ่งที่เราพยายามทำก็คือการแก้ไขกฎหมาย มาตรา112 เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่เราสามารถคุยกันได้ และเราก็หวังว่ามาตรฐานขั้นต่ำตรงนี้จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวต่อไป

            "แน่นอนว่าจุดยืนของเรายังคงเหมือนเดิม ส่วนในรายละเอียดถ้าจะถามให้ลึกไปกว่านี้ ก็คงจะยังไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้" นายรังสิมันต์กล่าว

            วันเดียวกันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  (กสม.) ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การอดอาหารของเยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง โดยระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง เช่น กิจกรรมยืน  หยุด ขัง, การชุมนุมกรณี APEC รวมทั้งกรณีล่าสุดที่มีการอดอาหารประท้วงโดยเยาวชนนักกิจกรรม กสม.มีความห่วงใยในสถานการณ์ในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง และไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียใดๆ จึงขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติการตามสิทธิ หน้าที่ และอำนาจ โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน  เคารพในสิทธิและเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยให้การรับรอง

            กสม.ขอเสนอให้มีการเปิดพื้นที่สาธารณะในการพูดคุย แลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เป็นอยู่ โดยวิถีทางประชาธิปไตยและสันติวิธี และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันเร่งหาทางออกก่อนที่จะเกิดความสูญเสีย ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ด้วยความตระหนักว่าการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย โดย กสม.จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง