ฝ่ายค้านเอาคืนสภาล่ม บี้นายกฯไม่พึ่งเสียงส.ว.

สภาล่มสองวันติด! ฝ่ายค้านเอาคืน ส.ว.-ส.ส.รัฐบาล สกัดแก้ รธน. "สุชาติ" โอดหายเกือบร้อย จำต้องปิดประชุม พท.จ่อปลุกแก้ ม.272 หาเสียงเลือกตั้ง นักวิชาการบี้ "บิ๊กตู่" ประกาศไม่พึ่งเสียง ส.ว.หนุนนายกฯ สมัย 3

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 26 มกราคม เวลา 12.55 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ช่วงพิจารณาวาระรับทราบรายงานของหน่วยงาน นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เสนอให้นับองค์ประชุม ก่อนที่สภาจะดำเนินการประชุมต่อ เพื่อความสง่างาม มี ส.ส.รับฟังการพิจารณารายงานและร่างกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาล

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวสนับสนุนนายอุบลศักดิ์ว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. มีการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่ามี ส.ว.ไม่มาแสดงตน และฝ่ายรัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ และในการประชุมสภา วาระกระทู้ที่สำคัญ พบว่ามีบางพรรคการเมืองใช้สถานที่ของผู้ค้ายาเสพติดเป็นอาคารสำนักงาน แต่ไม่ได้พูดในสภา ต้องเลื่อนไปวันที่ 20 ก.พ. ซึ่งเชื่อว่ายุบสภาไปแล้ว ดังนั้นการประชุมวันนี้ (26 ม.ค.) จะให้ฝ่ายค้านนั่งฟังเพื่ออะไร รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ส.ส.ที่เป็นฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบเป็นองค์ประชุม ไม่ใช่ให้ฝ่ายค้านนั่งเป็นองค์ประชุม แต่ไม่อยู่ ต้องทำตามข้อบังคับของสภาอย่างเคร่งครัด ให้ตรวจสอบองค์ประชุม ถือเป็นความรับผิดชอบแต่ละบุคคล

ทำให้นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวขึ้นว่า “ผมนั่งอยู่บนนี้ เห็นหมด ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอยู่พอๆ กัน การทำหน้าที่ในสภาเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคน เพราะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ส่วนเรื่องเมื่อวานให้เป็นเรื่องเมื่อวาน ส่วนวันนี้เป็นเรื่องของวันนี้” พร้อมร้องขอให้ยกเลิกการเสนอนับองค์ประชุม แต่ไม่เป็นผล ทำให้นายศุภชัย ต้องเรียกสมาชิกมาแสดงตนเมื่อเวลา 12.58 น.

จากนั้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ได้สับเปลี่ยนทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และใช้เวลารอองค์ประชุมเพียงไม่กี่นาที ก่อนจะกล่าวปิดการแสดงตน พร้อมกล่าวว่า “ผมขึ้นทีไรก็ปิดการประชุมทุกที จนได้รับฉายาว่ามือปิดประชุม แต่ผมไม่รู้จะประชุมต่อได้อย่างไร เพราะองค์ไม่ครบ มีคนกดบัตรแสดงตน 122 คน และแสดงตนผ่านการขานชื่อ 30 คน และรวมผมด้วย เป็น 31 คน แต่ยังขาดอีกเยอะ องค์ประชุมไม่เป็นองค์ประชุม ต้องเลิกโดยปริยาย ต้องเลิกประชุม”

ทั้งนี้ การประชุมล่มดังกล่าวถือเป็นครั้งที่ 4 ของปี 2566 โดยปัจจุบัน ส.ส.ที่ยังปฏิบัติหน้าที่เวลานี้เหลือ 429 คน องค์ประชุมคือ 215 คน

ทางด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเหตุการณ์สภาล่มบ่อย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นห่วงอะไรหรือไม่ว่า นายกฯ ไม่ได้ห่วงกังวลอะไร และพูดเสมอว่าสภาเป็นเรื่องของสภา รัฐบาลดูแลงานในส่วนของรัฐบาลไป ในช่วงปลายสมัยประชุมสภากับกฎหมายสำคัญๆ นั้น ก็เป็นอย่างนี้ทุกสมัย ไม่มีทางที่กฎหมายจะเสร็จได้ทันทุกรัฐบาล และทุกรัฐบาลก็เป็นอย่างนี้ เพราะสภานั้นมีวาระ พอครบวาระทุกอย่างก็จบ แต่ไม่ได้แปลว่าตกไป กลับมาสมัยหน้านำกฎหมายมาต่อคิวได้เหมือนเดิม กฎหมายเร่งด่วนจำเป็นเอามาก่อน ไม่ได้มีปัญหา ซึ่งปกติทางการเมือง

ขณะที่นายนพดล ปัทมะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่เกิดเหตุการณ์สภาล่มวันที่ 25 ม.ค. ทำให้การพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่ยื่นแก้ไขมาตรา 272 และ 159 ต้องล่าช้าออกไป และโอกาสที่จะผ่านในสมัยประชุมนี้น้อยลง ถ้าแก้ไม่สำเร็จ พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้ารณรงค์ต่อไปในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าการโหวตตัวนายกรัฐมนตรีควรเป็นอำนาจของ ส.ส. ซึ่งประชาชนเลือกตั้งเข้ามา และตัดอำนาจ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่ให้มีอำนาจโหวต ตามมาตรา 272 ซึ่งถ้าแก้สำเร็จ จะมีผลดีมากมายตามมา

"ถามว่าถ้าแก้มาตรา 272 ไม่สำเร็จประชาชนยังมีทางสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตัวเองชอบให้ไปเป็นรัฐบาลหรือไม่   มองว่ามี เพราะถ้าประชาชนสนับสนุนพรรคที่คิดว่ามีศักยภาพที่จะเป็นรัฐบาลเพื่อพาประเทศออกจากวิกฤตทุกด้านได้ ก็เลือกพรรคนั้นให้ชนะขาดไปเลย เพื่อให้การโหวตตัวนายกฯ ในรัฐสภา เสียง ส.ส.มากพอที่จะโหวตเอาชนะเสียง ส.ว.บางคนให้ได้ และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยขอโอกาสจากประชาชนเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งให้แลนด์สไลด์" นายนพดล ระบุ

ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมจัดเวทีอภิปรายสภาที่ 3 ในหัวข้อการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ โดยมี นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, นายวันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต, นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ร่วมอภิปราย

นายอดุลย์กล่าวเปิดการอภิปรายว่า   ปัจจุบันหลายพรรคการเมืองแข่งขันทางนโยบายมากขึ้น รวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติเอง ในอนาคตควรส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยทางตรง ไม่อยากให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจต่อไป การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนจะสั่งสอนพวกเขาเอง โดยควรมองไปที่นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกที่ถูกต้อง ไม่ใช่บุคคลที่อ้างว่าเป็นคนดี แต่มีตำหนิและชำรุดแล้ว

นายวันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ส.ว.จะหมดอายุในกลางปี 2567 ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญอะไรอีกบ้างเพื่อรักษาอำนาจ ซึ่งนักวิชาการควรเป็นแสงไฟสว่างของสังคมออกมาติดตามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเมืองไทยมีฉันทามติที่ชัดเจน และขึ้นกับเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง

นายปริญญากล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ขอเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ อย่าเอาเสียง ส.ว.มาเลือกตนเองและต่ออายุนายกฯ ต่อไป เรื่องเหล่านี้อาจเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันหรือไม่ เพราะถ้าแก้รัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อได้ เท่ากับว่าจะสามารถไปแก้ไขอายุ ส.ว. ให้อยู่ต่อเกิน 5 ปีได้เช่นกัน ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 11 พ.ค.67 ซึ่งปาฏิหาริย์ทางกฎหมายทำให้การเมืองไทยไม่เริ่มต้นใหม่เสียที

"ผมขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอนเปิดตัวกับพรรคการเมือง ต้องแถลงว่าท่านจะเป็นนายกฯ จากประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่มาจากเสียง ส.ว. เพื่อไม่ให้เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น เพื่อให้การเลือกตั้งมีความเสมอภาคกัน พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเลิกคิดสูตรที่ไปรวมกับ ส.ว. และ ส.ว.อย่ามายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกนายกฯ อย่างสันติ โดย ส.ว.งดออกเสียงได้ ให้การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.2562 โดยเครือข่ายนักวิชาการ และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เสียงประชาชนปิดสวิตช์ ส.ว.อีกครั้งหนึ่งก่อนการเลือกตั้ง" นายปริญญาระบุ

นายพิชายกล่าวว่า อำนาจ ส.ว.ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จึงไม่มีสิทธิ์เลือกนายกฯ เพราะขัดหลักการและจิตสำนึกประชาธิปไตย มี ส.ว.เพียง 23 คนเท่านั้นที่ร่วมโหวตตัดอำนาจตนเองในร่างแก้ไขรัฐธรรมที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่ติดกับดักอำนาจรัฐประหาร ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้เกิน 300 เสียง แต่พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันจะได้เสียงไม่ถึง 200 เสียง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก