วุฒิสภาถกรายงาน กมธ.ปมเลือกตั้งทุจริต แฉท้องถิ่นซื้อหัวคะแนนรายละ 2 หมื่น เสนอมีกฎหมายกันผู้ให้เบาะแสไว้เป็นพยาน พร้อมมีรางวัลค่าตอบแทน หนุนจ่ายค่าเดินทางคนละ 500 บาท สร้างประชาธิปไตยกินได้-สำนึกตอบแทนคุณแผ่นดิน-เลือกคนดี ด้าน "จรุงวิทย์" แนะ กกต.เปิดแนวรบระดับหมู่บ้าน
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มกราคม ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานการศึกษาเรื่อง แนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.เป็นประธาน กมธ.ได้พิจารณาแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ในการนำเสนอรายงานนั้น ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ส.ว. ในฐานะเลขานุการ กมธ.ย้ำเนื้อหารายงานที่มีผลศึกษาจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ผ่านมาว่า ยอมรับว่าการเลือกตั้ง ส.ส.นั้นไม่สุจริตเที่ยงธรรม พบข้อเท็จจริงว่าทุกเขตเลือกตั้งที่ศึกษามีการซื้อหัวคะแนนล่วงหน้า โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นพบการซื้อหัวคะแนนรายละ 20,000 บาท ขณะที่การจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พบปัญหาโดยเฉพาะการได้เบาะแสเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้สมัครที่ซื้อเสียง หรือผู้ที่ถูกใช้ให้ไปซื้อเสียง เช่นในการเลือกตั้ง จ.ฉะเชิงเทรา พบว่าลูกถ่ายคลิปพ่อรับเงิน เมื่อแจ้งไปยัง กกต.พบว่าพ่อติดคุก ผู้สมัครได้ใบเหลือง และไม่สามารถเอาผิดคนทำผิดได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องมีกฎหมายเพื่อกันผู้ให้เบาะแสไว้เป็นพยานและมีรางวัลค่าตอบแทน
ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยามกล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาการรับเงินของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเรื่องของความจำเป็น เพราะปัญหาโควิดและเศรษฐกิจ ดังนั้น กมธ.มีข้อเสนอให้ กกต. หรือภาครัฐที่เกี่ยวข้องจ่ายค่าเดินทางให้ผู้ที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งคนละ 500 บาท เบื้องต้นจะใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาท จากคาดการณ์ที่จะมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 40 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 66 ล้านคน
“นโยบายของรัฐบาลให้เงิน 200-500 บาทต่อเดือน ใช้เงินปีละแสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นการให้ค่าเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่ 4 ปีมีครั้ง จะทำให้ประชาชนได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน ตอบแทนหลวง ให้คนเลือกคนดีมีความรู้ ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะยอมรับว่าในต่างจังหวัดต้องเดินทางไกล มีค่าใช้จ่าย 80-100 บาท ดังนั้นควรให้เขารู้สึกว่าประชาธิปไตยกินได้ตั้งแต่วันที่ออกมาใช้สิทธิ์” ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยามกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.ได้อภิปรายสนับสนุนเนื้อหาดังกล่าว พร้อมแสดงความกังวลต่อการเลือกตั้งที่เป็นธุรกิจการเมือง ใช้เงินซื้อเสียง ขณะที่การทำงานของ กกต. โดยเฉพาะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ไม่มีความรู้และไม่สามารถควบคุมการเลือกตั้งที่สุจริตได้ จึงมีข้อเสนอให้ กกต.ปรับวิธีทำงาน โดยเฉพาะการจับตาหัวคะแนนนักการเมืองที่เป็นผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
นายถาวร เทพวิมลเพชรกุล ส.ว.อภิปรายว่า ขอสนับสนุนให้ กกต.จ่ายค่าเดินทางเพื่อตอบแทนผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งรายละ 500 บาท พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งที่ปราบปรามไม่ได้ เนื่องจาก กกต.ประจำหน่วยหรือผู้อำนวยการเลือกตั้งในพื้นที่ไม่มีความรู้ ควบคุมการเลือกตั้งให้ยุติธรรมไม่ได้ พร้อมระบุว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาบางพื้นที่พบมีนายตำรวจเป็นหัวคะแนน ทำหน้าที่จ่ายเงินซื้อเสียง
ขณะที่นายจรุงวิทย์ ภุมมา ส.ว.และเป็นอดีตเลขาธิการ กกต. ในฐานะ กมธ.ชี้แจงว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าตามต่างจังหวัดมีการทุจริต ส่วนประเด็นที่เคยเป็นปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การขนหีบบัตรเลือกตั้งไม่ทันเวลาปิดหีบ ซึ่งตามกฎหมายให้ถือเป็นบัตรเสีย ดังนั้นต้องถามกระทรวงการต่างประเทศว่ามีความพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือไม่
นายจรุงวิทย์กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา กระบวนการป้องกันการซื้อเสียงได้ดำเนินการมาต่อเนื่อง แต่ตนมองว่าขณะนี้ต้องเปิดแนวรบที่หมู่บ้าน โดย กกต.ต้องประสานติดป้ายในหมู่บ้าน แจ้งประชาชนให้ทราบถึงการได้รางวัลตอบแทนหากแจ้งเบาะแสคนซื้อเสียง จำนวน 1 แสนบาท เพราะที่ผ่านมาพบการสอบสวนและทำได้แค่แจกใบเหลือง-ใบแดงเท่านั้น โดยที่ผ่านมาการตรวจสอบของ กกต.ยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกลับอีก ดังนั้นตนเชื่อว่าหากเปิดแนวรบที่หมู่บ้านได้ จะทำให้เห็นว่าในชาตินี้เลือกตั้งไม่ซื้อเสียงสามารถเกิดขึ้นจริงได้
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. อภิปรายว่า นักการเมืองปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ทั้งการแจกกล้วยและจ่ายเงินซื้อตัว ทำให้เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะถึง ประชาชนจะเลือกเพราะการแจกกล้วยมากกว่าเลือกคนดี ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ได้พบกับนักการเมืองท้องถิ่น ได้ทราบถึงประเด็นข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกการจำกัดวาระของนายก อบต.และเทศบาล รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ที่จำกัดอายุไม่เกิน 60 ปี ดังนั้นหากรัฐบาลชุดต่อไปเสนอแก้รัฐธรรมนุญ ตนจะนำเสนอปลดล็อกการจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของนักการเมืองท้องถิ่น และพิจารณาแก้ไขว่าด้วยคุณสมบัติของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ต่ออายุออกไปอีก 4 ปี จากเดิมที่กำหนดให้ครบวาระเมื่ออายุ 60 ปี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา
"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"
ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด
ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ
เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ
บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง
"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้