"ทรู-ดีแทค" ตั้งโต๊ะแถลงข่าวควบรวมกิจการ พร้อมตั้งกองทุนร่วมกัน 6,566 ล้านบาท เพื่อลงทุนในผู้ประกอบการและสตาร์ทอัปบนแพลตฟอร์มดิจิทัล "ศุภชัย" ให้เหตุผลเพราะมีข้อจำกัดที่ว่า 2 บริษัทไม่สามารถที่จะเพิ่มมูลค่าต่อได้ ขณะที่ กสทช.จับตาเงื่อนไข ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทเลนอร์ แถลงข่าวการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็มและกองทุนสตาร์ทอัป เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค
นายศุภชัยกล่าวว่า การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค ซึ่งยุค 4.0 ไปถึงยุค 5.0 คือยุคแห่งเทคโนโลยีอย่างแท้จริง โดยโทรคมนาคม (Telecom) จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชัน และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัปไทย และสตาร์ทอัปต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
“เราก็เล็งเห็นว่าตัวเราทั้ง 2 บริษัท ก็มีข้อจำกัดที่ว่าเราไม่สามารถที่จะเพิ่มมูลค่าต่อได้ ข้อจำกัดที่ว่าเรายังคงเป็นผู้ประกอบการที่ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก แล้วก็ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถที่จะเพิ่มมูลค่าให้ผู้บริโภคและให้ประเทศไทยได้”
นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน โดยบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะตั้งกองทุนร่วมกันมูลค่าประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6,566 ล้านบาท เพื่อลงทุนในผู้ประกอบการและสตาร์ทอัปบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้คนไทย
ด้านนายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า เรามีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลในประเทศต่างๆ ในเอเชียมาแล้ว ดังนั้นขณะที่เรายังพัฒนาต่อไป ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างคาดหวังบริการที่ล้ำสมัยและการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เราเชื่อว่าบริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม
ปัจจุบัน ทรูมูฟเอชมีฐานลูกค้า 32 ล้านเลขหมาย ดีแทค 19.3 ล้านเลขหมาย หากรวมกันจะเป็น 51.3 ล้านเลขหมาย พลิกขึ้นมามีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่งในแง่ฐานลูกค้าที่จะมากกว่าเอไอเอสที่มีฐานลูกค้า 43.7 ล้านเลขหมาย แม้ในตลาดปัจจุบันจะยังมีเอ็นที หรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือด้วย แต่ฐานลูกค้าก็ยังห่างมากแค่ระดับล้านเลขหมายเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวันเดียวกันนี้ นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้มาชี้แจงที่สำนักงาน กสทช.เรื่องการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค ตามคำเชิญของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.เผยว่า นายชารัดได้ชี้แจงว่า ขณะนี้การดำเนินการอยู่ระหว่างระดับบน คือบริษัทแม่ของทั้งสองคือเทเลนอร์และซีพี ดังนั้นจึงยังไม่เกี่ยวข้องกับ กสทช. ส่วนระดับกลางซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 65 นั้น เป็นกระบวนการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และดีแทค ซึ่งยังไม่มีการเจรจากันถึงระดับล่าง คือบริษัทผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. คือบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) จึงยังไม่เข้าเงื่อนไข กฎเกณฑ์ หรือประกาศของ กสทช.แต่อย่างใด
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องกระบวนการตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องอำนาจเหนือตลาด หรือการผูดขาดตลาดในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม กสทช.จะมีการตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งดีทีเอ็นและทียูซีต้องแจ้งและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของ กสทช. โดยในวันพรุ่งนี้ (23 พ.ย.) กสทช.จะเชิญตัวแทนจากทรูเข้ามาชี้แจงต่อจากดีแทค
ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.กล่าวว่า แม้ว่าสำนักงาน กสทช.มีการชี้แจงว่าไม่สามารถห้ามการควบรวมของทรูและดีแทคได้ เพราะไม่ได้เป็นบริษัทผู้รับใบอนุญาต แต่ทั้งสองบริษัทคือบริษัทแม่และเป็นผู้ถือหุ้นของทั้งดีทีเอ็นและทียูซี ดังนั้น กสทช.ต้องดูและมีการกำหนดเงื่อนไขการให้บริการไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งตามระเบียบแล้วทั้ง 2 บริษัทต้องแจ้งให้ กสทช.ทราบก่อนการควบรวมบริษัท 90 วัน แต่สำนักงาน กสทช.แจ้งว่า กสทช.ไม่สามารถยับยั้งการควบรวมบริษัทได้ ซึ่งตนเองก็ยังคาใจว่ากฎหมายเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งต้องขอดูในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ
สภา415เสียง แก้ไขข้อบังคับ คนนอกรื้อรธน.
“รัฐสภา” ถกแก้ข้อบังคับการประชุม "สว.-รทสช." รุมค้านเปิดทาง
เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล
"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี
พนันออนไลน์ถูกกม.! จบ1เดือนปาดหน้ากาสิโน/ผวาทุนเทา
“จุลพันธ์” อวยเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์สุดลิ่ม ปูดมีมากกว่า 1 จุดแน่ เพราะช่วยกระตุ้นจีดีพี รีบปัดมีการเกี้ยเซียะทุนใหญ่
เหนือ-อีสาน อุณหภูมิยังหนาวจัด กทม.16 องศา มีหมอกบาง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและ
ขอแบ่งเค้ก‘กาสิโน’ แทบทุกหน่วยงานหนุน/รบ.ยกสิงคโปร์โมเดลทำรายได้พุ่ง
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งทุบโต๊ะทำคลอด “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”