พณ.คุม5สินค้าต่ออีกปี กกร.หวังตรึงค่าไฟยาว

“จุรินทร์” ไฟเขียวต่ออายุสินค้าควบคุม 5 รายการ หน้ากากอนามัย-ใยสังเคราะห์-เจล-กระดาษ-ไก่ อีก 1 ปี สั่งเร่งแก้ปัญหาลานเทช่วยชาวสวนปาล์ม กกร.หวังท่องเที่ยวหนุน ศก.ปี 66 ฟื้น 3-3.5% ห่วงแรงงานขาดแคลน ต้นทุนสูง ส่งออกชะลอ ค่าไฟธุรกิจที่ 5.33 บาทยังแพง ดันต้นทุนขึ้น 9-10%

เมื่อวันที่ 11 มกราคม เวลา 14.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 1/2566 พร้อมด้วยนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ว่า มีวาระสำคัญคือการต่ออายุสินค้าควบคุม 5 รายการ ปัจจุบันสินค้าควบคุมภายใต้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีสินค้า 51 รายการ และบริการ 5 รายการ สำหรับสินค้าและบริการที่ควบคุม 51 + 5 รายการนี้ มี 5 รายการที่กำลังจะหมดอายุวันที่ 24 ม.ค.2566 จึงมาขอมติให้ต่ออายุไปอีก 1 ปี

โดยที่ประชุม กกร.เห็นชอบให้ต่ออายุสินค้าควบคุม 5 รายการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2566 ถึง 24 ม.ค.2567 ประกอบด้วย 1.หน้ากากอนามัย 2.ใยสังเคราะห์ เพื่อผลิตหน้ากากอนามัยที่เรียกว่า สปันบอนด์ 3.แอลกอฮอล์และเจลล้างมือ 4.เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีกที่เรียกว่ากระดาษรีไซเคิล และรายการที่ 5 ไก่และเนื้อไก่ จะต่ออายุเป็นสินค้าควบคุมไปอีก 1 ปี ส่วนที่เหลือยังเป็นสินค้าควบคุมเช่นเดิม เพื่อประโยชน์ของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคร่วมกัน

นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงกรณีชาวสวนปาล์มเรียกร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาปาล์มราคาตกต่ำทั้งระบบ หลังโรงสกัดและลานเทหยุดซื้อจำนวนมากว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในประสานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามสถานการณ์ พบว่าโรงงานสกัดฯ ยังเปิดรับซื้อตามปกติ แต่เนื่องจากช่วงเทศกาลปีใหม่ลานเทและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มส่วนใหญ่ปิดรับซื้อ ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.2565 และเริ่มเปิดรับซื้อในวันที่ 2 ม.ค.2566 เกษตรกรที่มีรอบเก็บเกี่ยวในช่วงปีใหม่และมีผลปาล์มสุกเต็มที่ ต้องเร่งเก็บเกี่ยวพร้อมๆ กัน ส่งผลให้ปริมาณผลปาล์มที่เข้าสู่ตลาดมากกว่าปกติเกินกำลังการผลิตของโรงงาน คาดว่าสัปดาห์หน้าสถานการณ์น่าจะคลี่คลาย

โดยหลังจากวันที่ 15 ม.ค.นี้ ปริมาณผลปาล์มที่เข้าโรงงานจะเริ่มลดลง ประกอบกับความต้องการตลาดจะเพิ่มขึ้นจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เริ่มเดินทางมายังไทย รวมทั้งความต้องการใช้ที่จะสูงขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำชับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมคุมเข้มชายแดนป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มด้วย โดยหากพบพฤติกรรมอันถือว่าเป็นการฉวยโอกาสกดราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยไม่เป็นธรรม หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนของตลาด จะดำเนินการตามกฎหมายทันที

วันเดียวกัน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือน ม.ค.2566 กล่าวภายหลังการประชุมว่า กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว แม้แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคเอกชนยังคงมีความกังวลเรื่องปัญหาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขาดแคลน จึงจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางดึงกลุ่มแรงงานกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวต่อไป

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทย 11.1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวได้ อัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนธ.ค.2565 อยู่ที่ 63% เข้าใกล้ระดับปกติที่ 77% และในปีนี้ มีปัจจัยหนุนจากการที่ประเทศจีนเปิดประเทศโดยผ่อนคลายมาตรการกักตัวภาคบังคับ ตั้งแต่ 8 ม.ค.2566 น่าจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจสูงได้ถึง 20-25 ล้านคน ที่ประชุม กกร.จึงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% การส่งออกคาดอยู่ในกรอบ 1.0-2.0% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%

นายสนั่นกล่าวว่า กกร.ประเมินว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดของจีนจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเดินหน้าฟื้นตัวได้มากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป แม้ในช่วงแรกของการผ่อนคลายจะเกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและการส่งออกของจีนหดตัวลงเพิ่มเติมในระยะนี้ โดยเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนมีโอกาสเติบโตได้ 5% ตามเป้าหมาย เทียบกับปีก่อนที่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากเกินไปในภาวะที่ยังเผชิญแรงกดดันจากราคาพลังงานในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการส่งออกที่มีสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายของภาคเอกชน

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะลดค่าเอฟทีภาคธุรกิจเพื่อช่วยให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นเฉลี่ยหน่วยละ 5.33 บาท จากเดิมหน่วยละ 5.69 บาท แต่ถือว่ายังเป็นระดับสูงกว่าที่เอกชนต้องการให้พยุงไว้หน่วยละ 4.72 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นระดับ 9-10% ถือเป็นระดับที่สูงเช่นกัน แม้ผู้ผลิตจะพยายามดูแลราคาสินค้าไม่ให้พุ่งสูงมากเกินไปก็ตาม อีกความกังวลคือ หากรัฐบาลยุบสภา จะทำให้คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาแก้ไขด้านพลังงานร่วมกันอาจเกิดเกียร์ว่างอีก จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้ดูเรื่องการแก้ปัญหาค่าเอฟทีในระยะยาว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง