แบ่ง33เขตกทม.จบรอกม.ลูก

กกต.กทม.แบ่ง 33 เขตเสร็จแล้ว รอ กม.ลูกประกาศใช้ เดินหน้ารับฟังความเห็นก่อนชง 3 รูปแบบให้ชุดใหญ่เคาะ "Rapid Report" ทำหลอน! กกต.เท สจล. ไม่เห็นชอบระบบรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการ-รับสมัคร ส.ส.ออนไลน์

เมื่อวันที่ 11 มกราคม นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 33 เขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครว่า  กกต.กทม.ได้เตรียมความพร้อมโดยมีการแบ่งรูปแบบเขตเลือกตั้งไว้หลายรูปแบบตั้งแต่เดือน ก.พ.65 ตั้งแต่ข้อมูลแนวเขตเลือกตั้ง ข้อกฎหมายที่กำหนดจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 เพื่อให้ กกต. ได้ใช้ดุลยพินิจอิสระในการเลือกรูปแบบ เมื่อมีการประกาศจำนวนราษฎรใหม่ ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 เราจะนำจำนวนราษฎรรายแขวง รายตำบลดังกล่าวมาพิจารณาว่าเขตเลือกตั้งที่เราได้ทำไว้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ดูเบื้องต้นยังอยู่ในเกณฑ์ และได้เร่งดำเนินการแบ่งเขตอย่างจริงจังแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถประกาศเผยแพร่ได้ ต้องรอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้บังคับเสียก่อน เนื่องจากมาตรา 27 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง แต่เมื่อยังไม่มีกฎหมายรองรับ เราได้แต่เตรียมการไว้ แต่เมื่อกฎหมายประกาศบังคับใช้ ระเบียบที่กำหนดรายละเอียดของการแบ่งเขต ซึ่งทราบว่ามีการดำเนินการยกร่างไว้เสร็จแล้วจะประกาศออกมา คิดว่าไม่นาน

นายสำราญกล่าวว่า เมื่อได้รูปแบบที่ชัดเจนไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบแล้ว จะมีการประกาศรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในเขตจังหวัดนั้นๆ เป็นเวลา 10 วัน ตามที่ระเบียบกำหนด จากนั้นจะนำความเห็นมาประมวลภายในระยะเวลา 3 วัน โดยทุกความเห็นมีความสำคัญ ก่อนจะเลือกรูปแบบที่เหมาะสมเรียงลำดับ 1 2 3 4 5 เสนอต่อ กกต.ในวันรุ่งขึ้น จากนั้นเป็นกระบวนของสำนักงาน กกต.ว่าจะเสนอต่อ กกต.พิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยในส่วนของ กกต.กทม. แต่ละเขตเลือกตั้งเราแบ่งไว้เกินกว่า 3 รูปแบบ

เมื่อถามว่า ในส่วนของ กทม.มี 33 เขตเลือกตั้ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 เขต ใน 3 เขตดังกล่าวเมื่อแบ่งใหม่จะกระทบไปยังเขตอื่นรวมกี่เขตเลือกตั้ง นายสำราญ กล่าวว่า ขอยังไม่ระบุ แต่จากที่ได้แบ่งไว้ตอนเดือน ก.พ.65 เมื่อนำมาพิจารณากับจำนวนราษฎรที่ประกาศล่าสุดไม่แตกต่าง โดยของ กทม. 33 เขตเลือกตั้ง จะแบ่งเป็นฝั่งพระนครรวม 35 เขตปกครอง แบ่งเป็น 23 เขตเลือกตั้ง ฝั่งธนบุรีรวม 15 เขตปกครอง แบ่งเป็น 10 เขตเลือกตั้ง ซึ่งในทางกายภาพ กทม. ไม่ได้มีภูมิประเทศเป็นป่าเป็นภูเขา ดังนั้นการแบ่งเขตจะไม่มีเรื่องการร้องเรียนว่าแบ่งเขตแล้วเกิดปัญหาการเดินทางไม่สะดวก อีกทั้งหลักการแบ่งเขต กฎหมายเขียนไว้ว่า เขตพื้นที่ต้องติดต่อกัน ไม่สามารถแบ่งพื้นที่ของแต่ละแขวง ตำบล ถ้าจะยกต้องยกมาทั้งแขวงทั้งตำบล ที่สำคัญคือความสะดวกของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ส่วนที่ขณะนี้พรรคการเมืองเริ่มมีการติดป้ายหาเสียงนั้น นายสำราญกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วง 180 วันก่อนสภาครบวาระ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ โดยการปฏิบัติจะเป็นลักษณะเดียวกับที่ผู้สมัคร ซึ่งจนถึงขณะนี้ กกต.กทม.ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการกระทำในลักษณะที่ผิดกฎหมาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ กกต.กทม.ได้มีการประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่เนิ่นๆ มาจนปัจจุบันว่าอะไรควรทำหรือควรแก้ไข อีกทั้งกฎหมายเปิดโอกาสให้ กกต.สามารถแจ้งเตือนให้ผู้สมัครแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ดำเนินการ กกต.ดำเนินการเองโดยคิดค่าใช้จ่ายจากผู้สมัคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการ​การเลือกตั้ง ไม่เห็นชอบกรณีที่สำนักงาน กกต.เสนอแผนงานการจัดทำโปรแกรมการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบออนไลน์ และการรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการ ตามที่ก่อนหน้านั้นสำนักงานได้มีประสานและได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการสร้างระบบนานเกือบปีจนแล้วเสร็จ โดยมีรายงานว่าที่ประชุม กกต.ไม่เชื่อว่าระบบที่มีการจัดทำขึ้นจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในอดีต ที่ทำให้การรายงานผลการเลือกตั้งมีความคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งถ้า กกต.เห็นชอบให้สำนักงานดำเนินการตามที่ขอ หากเกิดปัญหาขึ้น จะกลายเป็นสิ่งที่มัดตัว กกต.เอง เพราะเป็นระบบของสำนักงานเอง ขณะเดียวกันงบในการจัดทำราว 20 ล้านบาทสูงเกินไป

   "กกต.ระบุว่าคราวเลือกตั้งปี 62 ที่สำนักงานให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน ) หรือ สพร. ทำระบบรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านแอปพลิเคชัน  Rapid Report แต่พอเกิดปัญหาระบบรายงานผลล่ม มีการโจมตีระบบ ก็ไม่มีใครที่จะรับผิดชอบ กลายเป็นปัญหามาตกหนักที่ กกต.” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ ภายหลังนายแสวง บุญมี ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ กกต. เคยระบุถึงนโยบายเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปที่จะเกิดขึ้นกรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในปี 66 ว่านอกจากระบบการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแล้ว จะพยายามนำใบรายงานผลการนับคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต หรือ ส.ส. 5/18 ที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งติดประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้งเมื่อมีการนับคะแนนเสร็จสิ้น เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อความโปร่งใส ให้ผู้สมัครและประชาชนตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน กกต.มอบนโยบายให้สำนักงานหารือกับทางสื่อมวลชนเพื่อขอความร่วมมือในการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เพราะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สื่อสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ดี แต่ตัวแทนสื่อแจ้งว่าหน่วยเลือกตั้งตั้งเกือบ 1 แสนหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ สื่อมีกำลังคนไม่พอ และใช้วิธีการสุ่มราว 2 พันหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น จึงติดต่อไปยัง สจล.

แต่ล่าสุดหลัง กกต.ไม่เห็นชอบแผนงานดังกล่าว ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสำนักงานจะมีการดำเนินการในเรื่องการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่ทางการอย่างไร ซึ่งโดยระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่มาก ชัดเจนว่าการที่สำนักงานจะประสานและได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานใดคงเป็นไปได้ยาก  ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะไม่มีระบบการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่ทางการเช่นที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง