นายกฯ ลั่นพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง ฝากช่วยกันรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสใน พ.ย.นี้ โวบางประเทศยังแก้ปัญหาไม่ได้เท่าเรา ศบค.พบผู้ติดเชื้อใหม่ 7,006 ราย ดับเพิ่ม 29 ราย นิด้าโพลเผย ปชช.กังวลเปิดประเทศทำโควิดระบาด ยอมเลือกความปลอดภัยของสุขภาพแม้ต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "จับมือ รวมใจ พาไทยรอด" ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสร้างผลกระทบกับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทราบดีถึงปัญหาความเดือดร้อน ปัญหาสุขภาพและอื่นๆ ที่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้มีการแก้ไขปัญหา ให้แนวปฏิบัติไปว่าทำอย่างไรที่จะแก้ไขถึงรายบุคคลและผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเราพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง
นายกฯ กล่าวต่อว่า สิ่งเดียวที่กำลังคิดกันทั่วโลกในทุกวันนี้คือ การฉีดวัคซีนให้ครบทุกคนทั้งประเทศ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ความสมัครใจต้องไม่กระทบถึงคนอื่น จึงขอฝากพวกเราทุกคนช่วยกันรณรงค์ รัฐบาลต้องการฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสในเดือน พฤศจิกายนนี้ ถ้าสามารถรณรงค์ได้จะเป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาล อย่าให้เขากล่าวหาว่ารัฐบาลตั้งเป้าหมายแล้วทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทุกอย่างพร้อมทั้งหมด ตนได้สั่งให้เร่งดำเนินการในทุกๆ พื้นที่ จัดทั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พารถไปฉีดวัคซีน เป็นการเพิ่มเพื่อให้มีจำนวนมากขึ้น ถ้าเราสามารถฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสได้เดือนนี้ และในเดือนธันวาคมอีก 20 ล้านโดส เราจะครบ 120 ล้านโดส วันนี้เราพยายามสร้างในระบบสาธารณสุขไทย วันข้างหน้าจะมีการเตรียมพร้อมและทยอยสร้างความเข้มแข็งระบบสาธารณสุขไทยที่เคยดีอยู่แล้วในระดับ 6 ของโลก
"แม้พวกเราบางคนอาจจะยังไม่พอใจในการแก้ไขปัญหา แต่ในต่างประเทศบางประเทศก็ยังไม่เท่าเราเลย ยืนยันประเทศไทยได้ใช้งบประมาณ 25% ของจีดีพีไปแก้ปัญหาโควิดและการจัดหาวัคซีน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยังทำได้แค่นี้ และหากมีรายได้มากขึ้นจะทำได้มากกว่านี้ วันนี้ทุกคนทราบดีสถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ แต่ขอร้องอย่าประมาทอย่าคิดว่าดีแล้ว ไม่ต้องระวัง วันก่อนนั่งรถไปหลังจากงานลอยกระทงดีใจเห็นประชาชนเกือบ 100% ใส่หน้ากาก แต่ก็ไม่ทราบว่าจะไปถอดตอนไหน วันนี้รัฐบาลเริ่มจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เราไม่อยากจะปิดกั้นหรือหยุดอะไรอีกแล้ว แต่จะเห็นได้ว่าเมื่อเราผ่อนคลายก็จะเกิดปัญหาระยะสองสามขึ้นมาถ้าเราไม่ร่วมมือกัน ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจหรือด้านสุขภาพที่อาจแย่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,006 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,227 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,003 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 224 ราย มาจากเรือนจำ 771 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,064,581 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,591 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,956,923 ราย อยู่ระหว่างรักษา 87,271 ราย อาการหนัก 1,612 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 388 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 29 ราย เป็นชาย 19 ราย หญิง 10 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 76 มีโรคเรื้อรัง 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน จ.สงขลา 5 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 20,387 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มเติมของวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา รวม 472,644 โดส โดยมียอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.รวมทั้งสิ้น 88,803,596 โดส
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 21 พ.ย. พบว่าเป็น กทม. 756 ราย สงขลา 485 ราย นครศรีธรรมราช 426 ราย สุราษฎร์ธานี 283 ราย สมุทรปราการ 246 ราย เชียงใหม่ 242 ราย ปัตตานี 231 ราย ชลบุรี 188 ราย ยะลา 174 ราย และตรัง 139 ราย
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์และแนวทางการป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ ว่า ขึ้นอยู่กับกลไกของสาธารณสุขจังหวัดและแนวทางการป้องกันที่ ศบค.ให้ไว้ ยืนยันว่าขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอสำหรับคนไทยทั้งประเทศแล้ว ขอให้เร่งประชาชนไปรับวัคซีนเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง พร้อมเร่งรณรงค์ให้ประชาชนดำเนินการตามแนวทางของ ศบค.เพื่อให้ประชาชนปรับตัวดำรงชีวิตควบคู่กับสถานการณ์ได้ หากพื้นที่ไหนหย่อนยาน มาตรการก็จะมีความเสี่ยง ดังนั้นงานหรือกิจกรรมต่างๆ สามารถจัดได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกัน และที่ผ่านมาหลายงานหลายพื้นที่ก็สามารถดำเนินการได้ดี
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกแบบมาตรการ COVID Free Setting เพื่อให้การเปิดกิจการ/กิจกรรม สถานบริการต่างๆ รวมถึงการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาลมีความปลอดภัย ซึ่งโรงพยาบาลถือเป็นสถานบริการรูปแบบหนึ่งที่มีผู้มารับบริการจำนวนมาก ดังนั้นต้องทำพื้นที่ให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 เช่นกัน จึงมอบนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดใช้มาตรการ COVID Free Setting เหมือนกับสถานบริการทั่วไป คือบุคลากรต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ ส่วนผู้รับบริการหากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบจะต้องตรวจคัดกรองด้วย ATK ก่อนเข้าพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรและผู้รับบริการรายอื่น โดยจะเร่งให้โรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเป็นต้นแบบให้หน่วยงานและองค์กรอื่นๆ ปฏิบัติตาม
นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ในส่วนของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 กระทรวงมหาดไทย และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดให้เร่งรัดการฉีดในผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากกลุ่มนี้เมื่อป่วยจะเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูง รวมถึงให้ขยายการฉีดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ทั้งที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องและไม่ได้ขึ้นทะเบียนด้วย และกำหนดจัดสัปดาห์ฉีดวัคซีนสู่เป้าหมาย 100 ล้านโดส ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. -5 ธ.ค.64 เนื่องในวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุขและวันพ่อแห่งชาติ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง “เปิดประเทศ 2 อาทิตย์แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง” ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.64 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค 1,320 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 48.11 ระบุว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม รองลงมาร้อยละ 29.85 ระบุว่าค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 9.62 ระบุว่าค่อนข้างแย่ลง ร้อยละ 8.94 ระบุว่าแย่ลงมาก
สำหรับความพึงพอใจต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 42.88 ระบุว่าค่อนข้างพอใจ รองลงมาร้อยละ 29.09 ระบุว่าไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 17.04 ระบุว่าไม่พอใจเลย
ด้านความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ว่าจะรุนแรงขึ้นใน 1-2 เดือนข้างหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.11 ระบุว่าค่อนข้างกังวล เพราะมาตรการป้องกันยังไม่เข้มงวด ร้อยละ 32.50 ระบุว่ากังวลมาก เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาภายในประเทศ อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ร้อยละ 15.23 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล
เมื่อถามถึงการให้ความสำคัญของประชาชนระหว่างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจกับความปลอดภัยของสุขภาพ (เช่น ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.94 ระบุว่าเลือกความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก รองลงมาร้อยละ 27.58 ระบุว่าเลือกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของสุขภาพ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง
ขู่แก้รธน.ก่อนโดนสอยยกสภา
"เพื่อไทย" แทงกั๊กร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับพรรคส้ม
แจง4คนไทยติดขั้นตอน เย้ยรบ.-ทหารมีไว้ทำไม
กต.แจงลูกเรือประมงไทย 4 คนยังติดขั้นตอนปล่อยตัวจากเมียนมา
เอาแน่‘กาสิโน’ขึ้นบนดิน
“ทักษิณ” สวมบทนายกฯ ตัวจริง ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย 3 แห่งรวด
ไม่กล้าเขี่ยพีระพันธ์ แม้วเกทับไฟฟ้าเหลือ3.70 จะทุบทุนผูกขาดทุกชนิด!
"พ่อนายกฯ" โชว์เหนือ จะทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 ต่อหน่วย เ
‘อ้วน’ ยันปล่อย 4 คนไทยเร็วๆนี้
ครบรอบวันชาติเมียนมา 4 ลูกเรือประมงไทยรอเก้อ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่อภัยโทษ 151 คนไทยถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์