นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่เชื่อปีกระต่ายการเมืองยังวุ่นวายเหมือนเก่า 63% ประเมินเลือกตั้งซื้อเสียงกระจายแน่ “ซูเปอร์โพล” ระบุ พท.ยังครองแชมป์หากเลือกตั้งวันนี้ แต่ “ภูมิใจไทย” คะแนนหายใจรดต้นคอ “พปชร.-ก.ก.” ความนิยมหล่นวูบ เด็กเพื่อไทยปูดอภิปรายไม่ลงมติจะมีแคนดิเดตนายกฯ ผู้ชายมาร่วมติว!
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง “การเมือง เศรษฐกิจ และโควิด-19 ในปี 2566” ซึ่งสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยโดยทั่วไปในปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบปี 2565 พบว่า 45.27% ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายเหมือนเดิม 36.11% สถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายมากขึ้น 10.07% สถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายน้อยลง 7.86% สถานการณ์ทางการเมืองจะไม่วุ่นวายเลย และ 0.69% เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 พบว่า 62.60% ระบุว่ามีแนวโน้มว่าจะซื้อเสียงเลือกตั้ง 36.56% มีแนวโน้มจะมีการใช้อิทธิพล และ/หรืออำนาจรัฐในการหาเสียง 33.74% จะมีการโกงการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถเอาผิดผู้บงการได้ 29.39% จะมีการใช้เงินในการหาเสียงมากกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด และจะมีแค่การทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งในเรื่องเล็กๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน 20.23% จะไม่มีการซื้อเสียงเลือกตั้ง 16.95% จะไม่มีการใช้อิทธิพล และ/หรืออำนาจรัฐในการหาเสียง 12.82% จะมีการใช้เงินในการหาเสียง 11.30% จะไม่มีการทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง 4.05% จะมีการโกงการเลือกตั้ง และเอาผิดผู้บงการได้ และ 0.53% ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจเรื่อง ถ้าเลือกตั้งวันนี้พรรคใดชนะ กรณีศึกษาประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,114 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงภาคที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง พบว่า 30.3% เลือกตั้งในภาคอีสาน 26.9% เลือกตั้งในภาคกลาง 17.8% เลือกตั้งในภาคเหนือ 16.2% เลือกตั้งในภาคใต้ และ 8.8% เลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร
เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เลือกตั้งจะเลือกพรรคใด พบว่า พรรคการเมืองอันดับแรก ได้แก่ พรรคเพื่อไทย (พท.) 23.4% แต่พรรคที่จี้ติดมาอันดับสองแทบไม่แตกต่างกัน คือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 21.9% ในขณะที่อันดับสาม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 9.9% พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ 8% พรรคก้าวไกล 5.8% พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 4.8% พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 4.3% พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 3.9% พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพนก.) 3.9% พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) 3.5 และอื่นๆ 10.6%
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดลกล่าวว่า ที่น่าพิจารณาคือ แนวโน้มความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.65 ซึ่ง พรรค พท.ได้ 26.9% ลดลงมาอยู่ที่ 23.4% ในเดือน ม.ค.66 ในขณะที่พรรค ภท.เพิ่มขึ้นจาก 14.2% มาอยู่ที่ 21.9% พรรค ปชป.เพิ่มขึ้นจาก 6.8% มาอยู่ที่ 9.9% ในขณะที่พรรค พปชร.ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจาก 22.3% ซึ่งเคยเป็นพรรคอันดับสองลงมาอยู่ที่ 8% ในอันดับที่สี่ของการสำรวจครั้งนี้ และพรรค ก.ก.ลดลงเช่นกันจาก 6.9% ลงมาอยู่ที่ 5.8%
"ที่น่าจับตามองคือ กลุ่มพรรคสวิงโหวตที่เป็นพรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ เช่น พรรค รทสช.เพิ่มขึ้นจาก 0.4% ขึ้นมาอยู่ที่ 4.8% แต่ถ้ามองว่าพรรค รทสช.แยกมาจากพรรค พปชร.ที่เคยได้ 22.3% ในการสำรวจเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว จะพบว่าคะแนนรวมของทั้งสองพรรคในการสำรวจครั้งนี้เหลือเพียง 12.8% จึงน่าติดตามว่าคะแนนนิยมลดลงและกระจายออกไปที่พรรคการเมืองใดบ้าง โดยการสำรวจครั้งนี้ พรรค ทสท.เพิ่มขึ้นจาก 1.9% มาอยู่ที่ 3.9% พรรค ชพนก.เพิ่มจาก 2.3% มาอยู่ที่ 3.9% พรรค ชทพ.เพิ่มจาก 2.3% มาอยู่ที่ 4.3% และพรรค สอท.เพิ่มขึ้นจาก 1.6% มาอยู่ที่ 3.5%
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลชี้ให้เห็นว่าพรรคที่เติบโตขึ้นมาเป็นอันดับสองได้แก่พรรค ภท.จี้ติดพรรค พท.ที่ยังคงรักษาอันดับหนึ่งไว้อยู่ แต่ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่น่าพิจารณาคือ พรรค พปชร.ตกลงไปอยู่อันดับที่สี่ และแม้คะแนนนิยมรวมกับพรรค รทสช.แล้ว คะแนนนิยมโดยรวมก็ลดลงจากเดิมอย่างมาก แต่พรรคที่น่าจับตามองคือพรรคสวิงโหวต โดยสมมติฐานเป็นกลุ่มที่อาจเปลี่ยนใจได้จำนวนมากมาจากกลุ่มที่อยู่กลางๆ ส่วนหนึ่งปันใจไปให้พรรคเกิดใหม่ ซึ่งถ้าพรรคการเมืองใหม่รวมตัวกันได้ก็จะมีอำนาจต่อรองการเมืองสูงไม่น้อย และถ้าเสนอนโยบายที่โดนใจประชาชนย่อมจะเพิ่มแต้มต่อได้มากยิ่งขึ้น
วันเดียวกัน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า ได้สอบถามนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถึงช่วงวันการอภิปราย ซึ่งนายอนุชายืนยันว่าได้อภิปรายแน่นอน รัฐบาลไม่ยุบสภาหนีและน่าจะมีการอภิปรายช่วงต้นเดือน ก.พ.
นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรค พท. กล่าวว่า การอภิปรายแบ่งเป็น 8 หัวข้อหลัก ครอบคลุมทั้ง การเมือง สังคม เศรษฐกิจ ประเด็นทุจริต และการไม่ทำตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อสภา ซึ่งเรามีการติวเข้มการอภิปราย โดยในการติวเข้มจะมีทีมแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่เป็นผู้ชายมาร่วมติวด้วย
ส่วนนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงการประชุมรัฐสภาในวันที่ 10-11 ม.ค.นี้ว่า จะเป็นการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปที่สำคัญ 2 ฉบับ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 2 วันเต็ม ส่วนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ที่พรรค พท.เข้าชื่อเสนอให้แก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 จะพิจารณาไม่ทันในสมัยประชุมปัจจุบันหรือสภาชุดปัจจุบันแน่นอน ซึ่ง ส.ส.ทุกพรรคทราบดี ดังนั้นการเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงหน้าร้านของพรรค พท.เท่านั้น และยังมีประเด็นที่น่าวิตกว่าองค์ประชุมจะครบหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กต่อแจงบ้านลอนดอน รมว.ดีอีดีดรับพ่อนายกฯ
ป.ป.ช.เปิดขุมทรัพย์ “บิ๊กต่อ” หลังพ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. ทรัพย์สิน 209 ล้าน
ภท.เฮรอดคดียุบพรรค! อิ๊งค์ขอเริ่มทำงาน2ม.ค.
“ภท.” เฮ รอดยุบพรรค กกต.ยุติสอบ “วันนอร์” ไม่หวั่นถูกเลื่อยขาเก้าอี้
ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3
“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด
ชวนบี้แก้ปมท้องถิ่นชิงลาออก
“แสวง” ลงพื้นที่ปราจีนบุรี ส่องรับสมัครนายก อบจ.วันสุดท้าย
จี้สอบ6ข้อป่วยทิพย หวั่น‘สมศักดิ์’แทรกแซง/‘แม้ว’ถก‘อันวาร์’เรื่องอาเซียน!
"บิ๊กป้อม" เลี่ยงเผชิญหน้า "ทักษิณ" ยกเลิกร่วมงานอวยพรครบรอบ 75 ปี
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย