“รฟท.” แจงอีกปมเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อมูลค่า 33 ล้านบาท ระบุต้องทำ 2 ฝั่ง รวม 112 อักษร รวมงานรื้อถอน-รับประกัน 1 ปี ย้ำจัดจ้างโปร่งใส ชี้เจาะจงบริษัทเอกชนเพราะรับงานก่อสร้างต่อเนื่อง “มงคลกิตติ์” เล็งยื่น บก.ปปป.เอาผิดอีก “เด็กทสท.” จี้รัฐเปิด TOR สัญญาจ้าง “ศรีสุวรรณ” แนะ “ศักดิ์สยาม” เพิ่มคนนอกเป็นกรรมการสอบป้ายสถานีกลาง
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. การรถไฟแห่งประเทศไทยออกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมกรณีการลงนามจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ งบประมาณ 33 ล้านบาท โดยเนื้อหาโดยสรุประบุว่า ยังมีผู้ที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็น เช่น กรณีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ใช้งบประมาณปรับปรุงป้ายชื่อสูงตัวอักษรละ 5 แสนบาทนั้น ถือเป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อน การปรับปรุงป้ายชื่อไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนป้ายชื่อจำนวน 56 อักษรอย่างที่มีการตั้งข้อสังเกต แต่มีการปรับปรุงป้ายชื่อมากถึง 112 ตัวอักษร (110 ตัวอักษร กับ 2 ตราสัญลักษณ์ฯ) เพราะมีการติดตั้งป้ายชื่อสถานีอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และยังมีจำนวนตัวอักษรที่เพิ่มขึ้นจากป้ายเดิมอีกด้วย
สำหรับรายละเอียดของการติดตั้งตัวอักษร ได้แบ่งเป็นตัวอักษรภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร และตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ฝั่งละ 1 ตราสัญลักษณ์ ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ฝั่ง จะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง 48 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม 62 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ รวมทั้งสิ้น 112 ตัวอักษร (110 ตัวอักษร กับ 2 ตราสัญลักษณ์ฯ)
ที่สำคัญการกำหนดขอบเขตของงานโครงการ ในวงเงิน 33 ล้านบาทนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ค่าใช้จ่ายการปรับปรุงป้ายชื่อตัวอักษรเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงงานรื้อถอน การเปลี่ยนผนังกระจก โครงผนังกระจกอะลูมิเนียม การจัดทำระบบไฟแสงสว่าง ค่าการออกแบบด้านวิศวกรรมโครงสร้างและรูปแบบการติดตั้งที่มีขอบเขตงานที่เกี่ยวกับการรื้อถอนของเดิม และติดตั้งของใหม่ที่กระทบต่อโครงสร้างของอาคารสถานีที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว ตลอดจนมีการกำหนดการรับประกันความชำรุดบกพร่องภายในขอบเขตงานอีก 365 วันด้วย รวมถึงความรับผิดชอบบำรุงรักษางานระบบไฟแสงสว่าง ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะจ่ายให้ แต่ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบตลอดระยะเวลาการรับประกันผลงาน
ช่วงท้ายเอกสารระบุว่า การรถไฟฯ ใช้งบประมาณในการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในราคาตัวอักษรละ 5 แสนบาท จึงไม่ใช่ความจริง เพราะในข้อเท็จจริงมีการติดตั้งตัวอักษรมากถึง 112 ตัวอักษร ไม่ใช่ 56 ตัวอักษร อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอื่นๆ เข้าไปรวมอยู่ในเนื้องานอีกจำนวนมากด้วย และที่สำคัญราคาการเปลี่ยนป้ายชื่อดังกล่าวยังสอดคล้องกับราคาประมาณการของชมรมป้าย ซึ่งประเมินค่าใช้จ่ายตัวอักษร
ส่วนประเด็นการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหมาะสมในการใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงนั้น การรถไฟฯ ชี้แจงว่า เนื่องจากเป็นการจ้างปรับปรุงงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินงานก่อสร้างจนแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว และยังอยู่ระหว่างการรับประกันความชำรุดบกพร่องของกิจการร่วมค้าเอส ยู ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสถานี ซึ่งงานจ้างปรับปรุงฯ นี้ มีขอบเขตงานที่เกี่ยวกับการรื้อถอนของเดิมและติดตั้งของใหม่ที่กระทบต่อโครงสร้างของอาคารสถานีที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว ย่อมส่งผลต่อการรับประกันความชำรุดบกพร่องของงาน การรถไฟฯ จึงได้กำหนดขอบเขตของงานให้ผู้รับจ้างต้องดำเนินงานภายใต้เงื่อนไข ข้อกำหนด รายการจำเพาะ ตามขอบข่ายวัตถุประสงค์ ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 ซึ่งมีเพียงบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข จึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 56 (2) (ค) ที่ให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดจ้างจากผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักธรรมาภิบาลทุกประการ
“การรถไฟฯ ขอเน้นย้ำข้อเท็จจริงเพื่อให้ความมั่นใจอีกครั้งว่า โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส คุ้มค่า เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชน อีกทั้งยังถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทุกประการ พร้อมกับคำนึงถึงความสวยงาม ความปลอดภัย สอดคล้องกับการยกระดับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้เป็นศูนย์กลางระบบรางที่ดีที่สุดในประเทศและภูมิภาคต่อไป”การรถไฟฯ ระบุในเอกสารชี้แจงครั้งนี้
วันเดียวกัน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า ได้ไปยื่นเรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว รวมทั้งจะรวบรวมหลักฐานไปดำเนินคดีต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ในวันอังคารที่ 10 มกราคมนี้
ส่วนนายนรุตม์ชัย บุนนาค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา บางคอแหลม กทม. พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ลงนามระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โครงการนี้ถูกจับตามอง เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยตั้งแต่ปี 2558 บริษัทดังกล่าวได้รับสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐไปแล้วทั้งหมด 9 โครงการ
“เราเชื่อว่าการทำสัญญาใดๆ กับรัฐ โดยเงินภาษีของประชาชน ควรจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ พรรคไทยสร้างไทยขอเรียกร้องให้มีการเปิด TOR ทั้งหมดของการจัดซื้อจัดจ้างที่บริษัทนี้ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อล่าสุด หากมีการเปิดเผย TOR ของโครงการเปลี่ยนป้ายชื่อ ประชาชนจะได้ทราบถึงหน่วยงานและผู้รับผิดชอบโครงการ รายละเอียดที่ทำให้งบประมาณสูงเกินความเป็นจริง” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยสร้างไทยระบุ
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์การรถไฟแห่งประเทศไทยว่า การตั้งคณะกรรมการใดๆ ขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบเรื่องที่เป็นข้อพิพาทดังกล่าว ควรที่จะต้องแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นกลาง และมีความเป็นอิสระจริงๆ ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้ใดหรือตำแหน่งใดที่จะให้คุณให้โทษกรรมการนั้นๆ ได้
"ทางออกที่เหมาะสมในกรณีดังกล่าว สมาคมขอแนะนำว่าท่านรัฐมนตรีควรที่จะแต่งตั้งกรรมการเข้าไปเพิ่มอีก 4-5 คน โดยแต่งตั้งบุคคลที่เป็นตัวแทนจากคณะวิศวกรรมของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง ธนบุรี พระนครเหนือ เกษตรศาสตร์ และจุฬาฯ ซึ่งก็จะทำให้คณะกรรมการฯ ดังกล่าวมี 14-15 คน โดยมีผู้รู้จากภายนอก 8-9 คน ก็จะทำให้สัดส่วนกรรมการจากบุคคลภายนอกมากกว่า หากจะมีการโหวตใดๆ เกิดขึ้นในคณะกรรมการฯ หากคณะกรรมการฯ จากบุคคลภายนอกโหวตให้กรรมการจากกระทรวงคมนาคม ก็จะทำให้มีน้ำหนักและได้รับความน่าเชื่อถือจากสังคมมากกว่า” นายศรีสุวรรณระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน