ไทยไฟเขียวเที่ยวทั่วปท.

“หมอหนู” นั่งหัวโต๊ะประชุมรับมือนักท่องเที่ยว ยันไม่มีการแบ่งเชื้อชาติใด แต่ต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม แนะซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโควิด เผยหากเข้าไทยแล้วเที่ยวไปได้ทั่ว ยามอยู่ที่สาธารณะควรใส่หน้ากาก ระบุไม่มีฉีดวัคซีนฟรี ใครอยากได้ต้องเสียเงิน “พิพัฒน์” เผยชาวจีนล็อตแรกมาไทย 200 ชีวิต 9 ม.ค.

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ม.ค. ที่ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1  ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมกำหนดมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ครั้งที่ 1/2566 โดยมีรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม

โดยก่อนการประชุม นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า ข้อสรุปแต่ละมาตรการมีอยู่แล้ว และจะนำมาหารือและแจ้งให้แต่ละหน่วยงานทราบในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในไทย ที่คาดว่าในต้นปีจะมีประมาณ 4-5 หมื่นคน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับทราบมาตรการรองรับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

เมื่อถามว่า มาตรการป้องกันกรณีที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาครั้งนี้แตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เราจะใช้มาตรการที่มีอยู่เดิมให้มากที่สุด และเรารับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะกับจีน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาสามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศ ไม่ได้แบ่งว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาติไหน เพราะเราถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวทั้งหมด  แต่ละคนก็มาจากประเทศที่มีการติดเชื้อ อยู่ที่ว่าจะเป็นเชื้อใหม่หรือเก่า ถ้าเป็นเชื้อใหม่ มาตรการรับมือก็เปลี่ยนได้ ดังนั้นอย่านำมาตรการของไทยไปเทียบกับประเทศอื่น เพราะนี่ประเทศไทยไม่เหมือนกัน

“เรายังไม่มีไอเดียฉีดวัคซีนฟรีให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากต้องการจะฉีดชนิดอื่นที่ต่างจากจีนจะต้องเก็บค่าบริการ ไม่ฟรีแน่นอน อยากให้เขาเข้ามา แต่ก็มีเหตุผล ไม่ใช่แถมแหลกสะบัด ส่วนจะราคาเข็มละเท่าไหร่นั้น กระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดค่าบริการต่อไป” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังประชุมว่า เป็นการทำความเข้าใจเรื่องของการรับนักท่องเที่ยว ทั้งด้านการคมนาคม ท่องเที่ยว และสาธารณสุข โดยแต่ละหน่วยงานรับทราบมาตรการและรับปฏิบัติ ขณะที่ กทม.พร้อมให้ความร่วมมืออย่างดี ยืนยันว่ามีมาตรการพร้อมรับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ และสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ตลอดตามความเหมาะสม โดยจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ขอให้คงมาตรฐานชาพลัส ผู้ให้บริการสวมหน้ากากอนามัย

นายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าประเทศที่มีข้อกำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางกลับเข้าประเทศตัวเองนั้น ต้องซื้อประกันสุขภาพทุกประเทศ ไม่เฉพาะแค่ประเทศจีน โดยเงื่อนไขของประกันเป็นไปตามหลักสากลในการรักษาพยาบาล และยังครอบคลุมโควิด-19 หากตรวจพบสามารถรักษาตามปกติ ส่วนประเทศใดที่ไม่มีเงื่อนไขต้องตรวจ RT-PCR ขอแนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพไว้เช่นกัน เพื่อความสะดวกด้านต่างๆ หากมีการติดเชื้อหรือเจ็บป่วย จะมีสถานที่รักษา สำหรับประเด็นค่าเหยียบแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ถือเป็นคนละเรื่องกัน และยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ตนเอง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา จะเดินทางไปตรวจความพร้อมและดูสถานการณ์การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทย ทั้งไฟลต์จากประเทศจีนและอื่นๆ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายพิพัฒน์กล่าวว่า หลังจากจีนประกาศเปิดประเทศ โดยผ่อนคลายมาตรการโควิดสำหรับผู้เดินทางเข้าจีน ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. จะมีเที่ยวบินจากจีนที่นำนักท่องเที่ยวทยอยเข้าไทยมาไฟลต์แรกตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.นี้ เป็นเที่ยวบินที่มาจากเมืองเซี่ยเหมิน ในมณฑลฝูเจี้ยนทางตอนใต้ของจีน ประมาณ 200 คน ส่วนการเพิ่มไฟลต์บินจากจีนมายังไทย เบื้องต้นมองเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะช่วงหลังเทศกาลตรุษจีน

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดหลักการและการขับเคลื่อนมาตรการควบคุมโควิด-19 ของไทยเพื่อรองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ปี 2566 ในภาพรวมตามที่คณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้ให้แนวทาง โดยจะไม่ใช้มาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับโควิด-19 เพื่อกีดกันผู้เดินทางจากประเทศใด และขณะนี้ระบบสาธารณสุขของไทยมีความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ มีการเตรียมความพร้อมหากพบการระบาดรุนแรงขึ้น แต่จะมีการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การดูแลจัดการน้ำเสียจากเครื่องบิน รวมทั้งติดตามประเมินผลสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2566 เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมตามสถานการณ์ต่อไป

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งเสนอโดย สธ.นั้น กรณีก่อนเข้าประเทศไทยต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม และหากมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ แนะนำให้เลื่อนการเดินทางและรักษาให้หายก่อนเดินทางเข้าไทย แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพเดินทางที่ครบคลุมการรักษาโควิด-19 ก่อนเข้าไทย เพื่อลดภาระการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงพำนักในไทย ส่วนระหว่างพำนักในไทยจะแนะนำให้ผู้เดินทางจากต่างประเทศป้องกันตนเองเช่น สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในสถานที่สาธารณะ รถโดยสารขนส่งสาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ เน้นการตรวจคัดกรองด้วย ATK เมื่อมีอาการ ส่วนกรณีผู้เดินทางที่จะออกจากไทยไปยังประเทศที่มีนโยบายคัดกรองก่อนเข้าไทย จะแนะนำให้ผู้เดินทางพักในโรงแรม SHA Plus ซึ่งจะมีบริการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

“ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์โรค และตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีพบการระบาดในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ มีการเพิ่มกลไกการรายงานสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์ การควบคุมโรค ที่เน้นแจ้งจำนวนนักท่องเที่ยวและตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจที่สนามบิน โดยรายงานทุกสัปดาห์ มีการกำหนดเกณฑ์สำหรับการปรับมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้ออัตราสูงขึ้น หรือมีการกลายพันธุ์ และมีการเฝ้าระวัง ตรวจสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในน้ำเสียจากเครื่องบิน” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวถึงกรณีการให้วัคซีนแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ไม่ว่าจะสัญชาติใด หากต้องการจะรับวัคซีนในไทย ก็จะมีการให้บริการเพื่อเน้นให้เห็นถึงการเป็นเมดิคัลฮับของไทย แต่จะไม่ให้บริการฟรี ซึ่งทั้งส่วนของรายละเอียดประกันสุขภาพและการให้วัคซีนนี้ สธ.จะดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรายละเอียดข้อกำหนดและประกาศให้ทราบต่อไป

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.กล่าวว่า เหตุการณ์โควิดปีนี้ปีที่ 4 แล้ว เราจะไปคิดแบบ 4 ปีที่แล้วไม่ได้ สายพันธุ์ตอนนี้อ่อนลงเยอะ อย่าไปคิดแบบเดิม 4 ปีที่แล้ว ให้ดูข้อมูลหลักฐานที่มี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็เห็นตรงกันว่าไม่ได้มีความน่ากังวลมากนัก ทั้งแง่ของสายพันธุ์ แง่ของภูมิคุ้มกัน และแง่ของวัคซีนทั่วโลกที่ครอบคลุมกว่า 80% และขอให้มั่นใจว่า สธ.ไม่ได้ประมาท เราเตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังจุดเสี่ยง และมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด