จบ7วันอันตราย ‘ตาย-เจ็บ’ลดลง ‘เมาขับ’พุ่งสวน

ปิดจ๊อบ 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุ 2,440 ครั้ง เจ็บ 2,437 ราย เสียชีวิต 317 ราย สุราษฎร์ฯ ครองแชมป์อุบัติเหตุ เชียงรายนำโด่งผู้เสียชีวิต โอ่ตัวเลขต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง แต่ตัวเลขเมาแล้วขับพุ่งเกิน 21%

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี แถลงสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 ม.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 241 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 253 คน และผู้เสียชีวิต 25 ราย

“สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 34.85% ตัดหน้ากระชั้นชิด 24.48% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 80.24% ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 85.06% ถนนกรมทางหลวง 48.96% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 24.48% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-17.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี”

นายโชตินรินทร์กล่าวต่อว่า ศปถ.มีการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,880 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 55,749 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 327,401 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 49,072 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สงขลา (13 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (15 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา สุราษฎร์ธานี และอุดรธานี จังหวัดละ 2 ราย

สำหรับอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.65-4 ม.ค.66) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,437 คน ผู้เสียชีวิตรวม 317 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 79 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี 81 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 15 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส, บึงกาฬ, พังงา, สตูล และสุโขทัย

“การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลง เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง”นายโชตินรินทร์กล่าว

 ด้าน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุฯ ตร. พร้อมคณะแถลงปิดศูนย์ฯ โดยระบุถึงการดำเนินการในรอบ 7 วัน ว่ามีการจัดกำลังตำรวจกว่า 50,000 นาย ดูแลการจราจรตลอด 7 วัน มีปริมาณรถเข้า-ออกจาก กทม. รวม 7,199,251 คัน ออกจาก กทม. 3,428,939 คัน และเข้า กทม. 3,770,312 คัน ซึ่งวันที่ประชาชนเดินทางออกจาก กทม.มากที่สุด คือวันที่ 29 ธ.ค.2565 วันที่ประชาชนเดินทางเข้า กทม.มากที่สุด คือวันที่ 3 ม.ค.2566

ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก มีการตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร  2,142 จุดตรวจ และจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 1,629 จุดตรวจ พบผู้ฝ่าฝืนทั้งสิ้น 518,367 ราย เป็นข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา 22,439 ราย (มากกว่าค่าเฉลี่ยปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง คิดเป็น 21.31 %) ขับรถเร็วเกินกำหนด 199,640 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 102,864 ราย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย 28,747 ราย

พล.ต.อ.รอยกล่าวถึงการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ที่รัฐบาลกำหนดค่าเป้าหมายให้จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (2563-2565)  ซึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุลดลงตามเป้าในทุกด้าน โดยการเกิดอุบัติเหตุ 7 วันปีใหม่ 2566 เกิดจำนวน 2,440 ครั้ง  ลดลงจากค่าเฉลี่ยปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง (3,153 ครั้ง) เป็นจำนวน 713 ครั้ง (ลดลง 22.61%), ผู้เสียชีวิต 7 วัน 317 ราย ลดลงจากค่าเฉลี่ยปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง (366 ราย) จำนวน 49 ราย (ลดลง 13.39 %), ผู้บาดเจ็บ 7 วัน 2,437 คน ลดลงจากค่าเฉลี่ยปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง (3,165 คน) จำนวน 728 คน (ลดลง 23%)

“สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 37.50%, ดื่มแล้วขับ 25.49% และตัดหน้ากระชั้นชิด 18.69% ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ รถจักรยานยนต์ 82.11%, รถกระบะ 5.56% และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 3.24%พล.ต.อ.รอยกล่าว

ด้านนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า วันสุดท้ายของการคุมเข้ม 7 วันอันตรายปีใหม่ 2566 สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติมีจำนวน 1,646 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 1,575 คดี คิดเป็น 95.69%,  คดีขับรถประมาท 6 คดี คิด 0.36% และคดีขับเสพ  65 คดี 3.95% ยอดสะสม 7 วัน (วันที่ 29 ธ.ค.2565-4 ม.ค.2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 8,923 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 8,567 คดี คิดเป็น 96.01%, คดีขับรถประมาท 21 คดี หรือ 0.24%, คดีขับเสพ 335 คดี หรือ 3.75% จังหวัดที่มีคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ร้อยเอ็ด จำนวน 469 คดี,  สมุทรปราการ 388 คดี และนนทบุรี  358 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 มีจำนวน 7,868 คดี กับปี พ.ศ. 2566 จำนวน 8,567 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรามีจำนวนเพิ่มขึ้น 699 คดี คิดเป็น 8.88%.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด