ของขวัญปีใหม่จาก ส.ส. สภาล่มตั้งแต่นัดแรกของปี "ชวน" บรรจุแล้ว ญัตติซักฟอกรัฐบาลแบบไม่ลงมติ อภิปรายปลายเดือนนี้ คาดใช้เวลา 2-3 วัน เพื่อไทยตีปีก ต้องได้เวลาถล่มมากกว่า 22 ชั่วโมง "สุทิน" เผยกรอบเนื้อหาชัดเจนแบ่งกันจบแล้ว สร้างหนัง สร้างสตอรีกันจบก็แบ่งบทกันไปเล่น ตอนนี้ทุกคนก็ไปซ้อมบท
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า ตรวจแล้วเสร็จ และตนอนุมัติให้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมแล้ว ส่วนจะกำหนดวันอภิปรายวันใดนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะอภิปรายในช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้ ส่วนกำหนดเวลาที่ชัดเจน ตนให้นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ประชุมร่วมกับฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อพิจารณา
เมื่อถามว่า กรณีที่ฝ่ายค้านต้องการเวลาอภิปรายไม่ต่ำกว่า 22 ชั่วโมง นายชวนกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการอภิปรายดังกล่าวควรมีเวลา 2-3 วัน เบื้องต้นทราบว่ารัฐบาลต้องการชี้แจงและตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านเช่นกัน
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ความพร้อมในการจัดบุคคลเพื่ออภิปรายในประเด็นต่างๆ นั้น เราทำในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ละพรรคจะรับมอบภารกิจเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับความล้มเหลวทุกด้านของ ครม. ซึ่งแต่ละพรรคไปวางแนวทางการอภิปรายของตัวเอง ขณะที่กรอบเวลาการอภิปรายเห็นว่าอย่างน้อยเวลาที่จะได้ไม่ควรต่ำกว่าครั้งที่ผ่านมาที่เราได้ 22 ชม. ดังนั้น ครั้งนี้ก็น่าจะได้มากกว่า 22 ชม
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า เวลาที่เหลือ 2 เดือน จะมีกฎหมายใดบ้างที่เราควรเร่งรัด และควรจะเป็นนโยบายพิเศษ เพราะยังมีกฎหมายหลายฉบับที่ค้างคาและน่าเสียดายจึงอยากเรื่องฉบับที่เป็นประโยชน์มากที่สุดให้ทัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเตรียมตัวเปิด อภิปรายญัตติทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 นายสุทินกล่าวว่า เตรียมตัวมานานแล้ว เราจึงแบ่งกันทำการบ้าน กรอบเนื้อหาชัดเจน แบ่งกันจบแล้ว สร้างหนังสร้างสตอรีกันจบก็แบ่งบทกันไปเล่น ตอนนี้ทุกคนก็ไปซ้อมบท ใครที่รับหัวข้อไปแล้วก็ไปหารายละเอียดและหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ดีที่สุด โดยในส่วนของพรรค พท. เราจะประชุมเพื่อตรวจการบ้านในเวลา 15.00 น. ส่วนพรรคอื่นก็เข้าใจว่าตรวจการบ้านเช่นกัน ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะรวมกันทั้ง 6 พรรคเพื่อตรวจเช็กความเรียบร้อย
เมื่อถามว่า จะมุ่งเป้าการอภิปรายไปที่ประเด็นอะไรบ้าง ประธานวิปฝ่ายค้านตอบว่า เราจะมุ่งตรวจที่ 4 ปีที่ผ่านมา อะไรที่รัฐบาลน่าจะทำแล้วไม่ทำ ทำไมถึงไม่ทำ และอะไรที่ทำแล้วล้มเหลว เวลาที่เหลืออยู่ควรจะแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายที่เคยแถลงไว้ ถ้าทำไม่ได้เลย และไม่ได้ทำ คุณจะรับผิดชอบต่อสภาประชาชนอย่างไร ขณะที่ปัญหาเรื่องการทุจริตนั้นมีอยู่แล้ว เพราะอยู่ในนโยบายการปราบปรามการทุจริต ทั้งเรื่องความล้มเหลวในการใช้งบประมาณ ใช้งบประมาณไปในทางที่ผิด ไม่เกิดผล ซ้ำร้ายยังเกิดหนี้
ถามว่า การอภิปรายจะมีเรื่องใหม่ๆ ที่สังคมสนใจ เช่น เรื่องป้ายสถานีกลางบางซื่อหรือไม่ นายสุทินกล่าวย้ำว่า เรื่องนี้อยู่ในกลุ่มนโยบายที่เคยมีการแถลงไว้ว่าจะมีการปราบปรามการทุจริต แล้วทำไมจึงเกิดเรื่องเช่นนี้ และจำนวนตัวเลขถึงเยอะ เราจะไม่ปล่อย เราจะซักถาม
ใส่หน้ากากมา 4 ปี
ซักว่า ข้อมูลที่มีอยู่จะทำให้ถึงขั้นว้าวจนส่งผลต่อรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่ใช่เซอร์ไพรส์ แต่เมื่ออภิปรายภาพรวม จะได้รู้ว่าคุณล้มเหลวจริงๆ ใน 4 ปีที่สูญเสียโอกาสชัดเจน ซึ่งเมื่ออภิปรายขยายความแล้ว ภาพออกมาประชาชนจะเสียดาย 4 ปี ที่ผ่านมา ก็เหมือนกับที่ใส่หน้ากากมา 4 ปี เราจะถอดให้เห็นว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
จากนั้นเวลา 10.40 น. ที่ประชุมสภาฯ เข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... เพื่อลงมติในมาตรา 7/4 ซึ่งเมื่อคราวที่แล้วได้อภิปรายเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี การลงมติต้องใช้เวลารอองค์ประชุมนาน 15 นาที กว่า ส.ส.จะแสดงตนเป็นองค์ประชุมครบ ก่อนที่จะโหวตเห็นชอบมาตราดังกล่าว
ต่อมาพิจารณามาตรา 8 ว่าด้วยคณะกรรมการกัญชา กัญชง ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพิ่มเป็น 25 คน โดยที่ประชุมได้ท้วงติง ถึงการเพิ่มตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้เป็นกรรมการ โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายคัดค้านพร้อมตั้งคำถามว่า กรณีเพิ่มตำแหน่งดังกล่าวส่อมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เนื่องจากนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กมธ.และที่ปรึกษาดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติด้วย คล้ายกับว่านายประพัฒน์เข้ามาเป็น กมธ. เพื่อเขียนกฎหมายให้ตนเอง ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ ในกลุ่มเกษตรแห่งชาติและกลุ่มสหกรณ์ มีสมาชิก 14 ล้านครัวเรือน ตนสงสัยว่าให้ตำแหน่งนายประพัฒน์ทำไม ดังนั้น จึงขอให้ กมธ.ชี้แจง
จากนั้นพิจารณามาตรา 8/1 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการกัญชา กัญชง จำนวน 7 คน และให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ 7 ด้าน ด้านละ 1 คน คือ ด้านกฎหมาย, ด้านเกษตรกรและพันธุ์พืช, ด้านการตลาด, ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค, ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น, ด้านวิจัยและพัฒนาและด้านสมุนไพร ทั้งนี้ กำหนดให้กรรมการดังกล่าวมาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 3 คน มี ส.ส.ตั้งข้อสังเกตการกำหนดคุณสมบัติที่อาจเปิดช่องให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน จากนักธุรกิจด้านกัญชา
นายพิเชษฐ์ย้ำว่า การเขียนเนื้อหาดังกล่าวเหมือนกับตามใจพวกพ้อง นักลงทุน และกฎหมายมีช่องโหว่ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นการผลักดันร่างกฎหมายเพื่อตนเอง โดยเฉพาะนายประพัฒน์ ที่เป็นผู้ปลูกกัญชารายใหญ่ มีตำแหน่งใหญ่ในสภาเกษตรกร และนั่งเป็น กมธ.เพื่อนำตำแหน่งของตนเองไปเป็นกรรมการ
นอกจากนั้น มี ส.ส.เสนอแนะให้เพิ่มบทบัญญัติ ลักษณะต้องห้ามของกรรมการคือ ห้ามเป็นผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่เกี่ยวกับกัญชา กัญชง หรือสารสกัดในลักษณะเพื่อการค้าหรืออุตสาหกรม ไม่ว่าททางตรงหรือทางอ้อม เพื่อป้องกันกลุ่มทุน นักธุรกิจเข้ามาร่วมเป็นกรรมการฯ หวังสกัดผลประโยชน์ทับซ้อน
ส.ส.แจกของขวัญสภาล่ม
ทั้งนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กมธ. ชี้แจงว่า ยอมรับว่าใน กมธ. ล้วนมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีผลประโยชน์ทางตรง และทางอ้อม เพื่อให้เป็นตัวแทนของคนทุกฝ่าย ให้ความเห็นจากคนหลากหลายเพื่อลงมติ โดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ขณะที่การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนั้น ไม่สามารถบัญญัติลักษณะต้องห้ามที่เสนอได้ เนื่องจากทำไม่ได้จริง และในช่วงแรกของการปลดล็อกกัญชา จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ
“หลายคนใน กมธ. ตามธรรมชาติมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น แพทย์ ต้องลดยาบางอย่างที่เกี่ยวกับกัญชาเพื่อให้ประชาชนมีกัญชาใช้มากขึ้น” นายปานเทพชี้แจง
ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานกมธ. ชี้แจงว่าการกำหนดตำแหน่งในร่างกฎหมาย ไม่ได้ระบุชื่อหรือตัวบุคคล ดังนั้นบุคคลเมื่อเป็นแล้วต้องพ้นไป ผู้จะดำรงตำแหน่งต่อจะมาเป็นกรรมการต่อ ข้อเท็จจริงที่บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ฉบับเดิมนั้นดี คือร่างของนายอนุทิน ชาญวีรกูล และคณะที่เสนอ แต่การพิจารณาของ กมธ. ได้ตัดและเพิ่มใหม่ ตนต้องยอมรับในมติเสียงส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี กมธ.ไม่ยินยอมให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่คำที่อธิบายได้คือ ผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ ต้องมีประสบการณ์ความรู้ด้านกัญชา ซึ่งจะเกี่ยวกับกัญชาไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมการลงมติในมาตราต่างๆ ยังคงขลุกขลักอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะมาตราที่ 10/1 เรื่อง อำนาจหน้าที่คณะกรรมการกัญชา กัญชง นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ต้องกดออดเรียกสมาชิกมาแสดงตนนานกว่า 15 นาที จึงมีสมาชิกครบองค์ประชุมแบบฉิวเฉียดเกินองค์ประชุมมาแค่ 2 คน
ขณะที่การโหวตมาตรา 11 ที่ กมธ.เสนอให้ตัดข้อความทิ้งทั้งมาตรา ก็ยังเกิดปัญหาเสียเวลารอสมาชิกเนิ่นนาน จนกระทั่ง ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนทักท้วงขอให้ปิดประชุม เพราะสมาชิกอยู่กันไม่ครบ โดยนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เสนอให้ถอนร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ออกไปก่อน อย่ามาถ่วงเวลาแบบนี้ เพราะความไม่พร้อมสูงมาก เสียเวลาที่ต้องรอ ดูแล้วกฎหมายก็ไม่ผ่าน ถ้าจะผ่าน องค์ประชุมคงครบไปนานแล้ว แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้มาเป็นเดือนแล้ว ควรถอนไปก่อน แต่นายศุภชัยก็พยายามยื้อเวลา ให้รอไปเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมานายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เคยรอสมาชิกครบองค์ประชุมนาน 53 นาทีมาแล้ว ขอความร่วมมือให้อดทน
กระทั่งครบ 35 นาที มีสมาชิกมาครบองค์ประชุม แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาเสียบบัตรลงมติมาตราดังกล่าว กลับมีสมาชิกเสียบบัตรลงคะแนนแค่ 204 คนเท่านั้น ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม นายศุภชัยจึงสั่งปิดประชุมเวลา 15.05 น. ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์สภาล่มรับปีใหม่ 2566 ซึ่งเปิดประชุมนัดแรกก็ล่มทันที.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป