สภา3วันหนี4วันล่ม สื่อตั้งฉายาปธ.‘ชวน ซวนเซ’ พลิกหาร100เหตุการณ์แห่งปี

สื่อรัฐสภาตั้งฉายาสภาปี 65 "3 วันหนี 4 วันล่ม" จากปัญหาสภาล่มซ้ำซาก ประธานชวน-"ชวน ซวนเซ" ชลน่าน-"หมอ(ง) ชลน่าน" วาทะเด็ด “นายกฯ ทำปฏิวัติ” ส.ส.เต้-ดาวดับ ไร้ดาวเด่นคนดีเกลี้ยงสภา 4 ปีซ้อน "ชวน" ยันไม่ได้เซ ยึดหลักการไม่ตามใจ ส.ส. ชี้สภาชุดนี้มีผลงานมากที่สุด "ผู้นำฝ่ายค้าน" โบ้ยซีกรัฐบาลเสียงไม่มากพอมีส่วนทำสภาล่ม "สภาผู้แทนฯ" ร่อยหรอ 2 ส.ส.พลังท้องถิ่นไทไขก๊อก เหลือ ส.ส. 437 คน “เอนก” ขยับเป็น ส.ส.ป้ายแดง

ที่รัฐสภา วันที่ 28 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาร่วมกันตั้งฉายาสะท้อนการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติตลอดปี  2565 โดย "สภาผู้แทนราษฎร" ได้รับฉายา "3 วันหนี  4 วันล่ม" เนื่องจากการประชุมของ ส.ส.ตลอดปี 2565  ประสบแต่ปัญหาสภาล่มซ้ำซาก ตั้งแต่เริ่มศักราชใหม่จนส่งท้ายปี ทำให้การทำงานล่าช้า โดย ส.ส.ฝ่ายค้านมักเล่นเกมนับองค์ประชุม ทั้งที่ฝ่ายตนก็ขาดประชุม ขณะที่ ส.ส.รัฐบาลไร้ความรับผิดชอบในการรักษาองค์ประชุมทั้งที่เป็นเสียงข้างมาก มิหนำซ้ำช่วงท้ายวาระการดำรงตำแหน่ง  ส.ส.ต่างหนีลงพื้นทีหาเสียงก่อนเลือกตั้ง ละเลยการประชุม ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเป็นที่มาของฉายาดังกล่าว

"วุฒิสภา" ได้รับฉายา "ตรา ป." เพราะตลอดปี  2565 ส.ว.ยังคงทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในการลงมติพิจารณาเรื่องสำคัญแต่ละครั้งก็ไม่มีแตกแถว เพื่อประโยชน์ของ 2 ป.  คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประยุทธ์ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประวิตร โดยเฉพาะในการแก้รัฐธรรมนูญ  และปัจจุบัน ส.ว.ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุน ป.ประยุทธ์ และฝ่ายสนับสนุน ป.ประวิตร จนกระทั่งล่าสุดมีการเช็กชื่อแล้วว่า ส.ว.คนไหนจะสนับสนุน ป.ใด เป็นนายกรัฐมนตรี

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา "ชวน ซวนเซ" เนื่องจากการทำหน้าที่ของนายชวน จากที่เคยได้รับความเคารพและเชื่อฟังจาก ส.ส.รุ่นน้อง  สามารถยุติข้อขัดแย้งต่างๆ ได้ แต่ในปีนี้กลับตรงกันข้าม  คือถูกลดความยำเกรง ไม่ได้รับการยอมรับ และยังถูก  ส.ส.ท้าทาย จนหลายครั้งกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประสานงานของวิปรัฐบาลที่ไม่ดีพอ จนทำให้นายชวน ซวนเซ เสียหลักไปด้วย

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้รับฉายา  "พรเพชร พักก่อน" การทำหน้าที่ควบคุมการประชุมของนายพรเพชรตลอดปี 2565 มักโดน ส.ส.-ส.ว.ทักท้วง  จนบางครั้งได้แสดงความรู้สึกไม่พอใจผ่านสีหน้า และไม่สามารถควบคุมการประชุมร่วมรัฐสภาให้เดินหน้าได้อย่างราบรื่น มักถูก ส.ส.ประท้วงว่าทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาล เหมือนสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากกว่าทำหน้าที่ตรวจสอบ จึงทำให้เกิดคำถามว่า นายพรเพชร ควรพักก่อนหรือไม่?

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา "หมอ(ง) ชลน่าน" แม้นายแพทย์ชลน่านจะมีความโดดเด่นในการทำหน้าที่ จนได้รับฉายาดาวเด่นเมื่อปี 2564 แต่เมื่อได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านจริง กลับหมอง การอภิปรายในสภาไม่โดดเด่นเหมือนอดีต ได้ทำหน้าที่ในนามหัวหน้าพรรคเท่านั้น ขาดอิสระ

"ดาวเด่น 65" ในปีนี้ ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาเห็นว่า  "ไม่มีผู้ใดเหมาะสม" และโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว

"ดาวดับ 65" ได้แก่ "นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ที่มีความโดดเด่นในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน โหนกระแสสังคมเพื่อหาพื้นที่ให้ตัวเอง ทั้งคดีนักแสดงสาว “แตงโม”, การว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงของ “โตโน่” รวมถึงกรณี “เรือหลวงสุโขทัยอับปาง” ล้วนแต่เป็นความพยายามหาซีนของ ส.ส.เต้ ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้อง และมักแสดงความเป็นผู้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง ทั้งที่ไม่ได้รู้จริง ดังนั้น แม้นายมงคลกิตติ์จะพยายามหาแสงให้ตัวเองมากเพียงใด สุดท้ายก็เป็นเพียง "ดาวดับ"  และตัวตลกสีสันการเมืองเท่านั้น

'ชวน' โต้ยึดหลักไม่ซวนเซ

 “วาทะแห่งปี 65" ได้แก่ "เรื่องปฏิวัติผมไม่ได้เกี่ยวข้อง นี่ครับคนปฏิวัติ..ท่านนายกฯ คนเดียว" ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อ 20 กรกฎาคม  2565 และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ที่นั่งอยู่ข้างกัน ดูจะไม่ยี่หระกับคำพูดดังกล่าว แต่กลับยกมือ ยิ้ม ยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิ ท่ามกลางเสียงปรบมือของ ส.ส.อย่างชอบใจ ทั้งที่ตัวเองก็มาจากการเลือกตั้ง  การพูดและกระทำเช่นนี้จึงไม่ควรเกิดขึ้นในองค์กรนิติบัญญัติ ที่สำคัญการปฏิวัติ รัฐประหาร ยังเป็นการกระทำที่ผิดและทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วย

 “เหตุการณ์แห่งปี” คือ “เกมพลิกสูตรหาร 100"  โดยมีความพยายามของ ส.ส.และ ส.ว.ทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง  ส.ส.ไม่ทันกำหนดเวลา เพื่อพลิกสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากหาร 500 กลับไปเป็นสูตรหาร 100  ตามเดิม ซึ่งเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐสภาทุ่มเทให้ความสำคัญ ใช้ช่องของรัฐธรรมนูญกับผลประโยชน์พรรคพวกตัวเอง เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง  โดยไม่ได้คำนึงว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ใดๆ

 คู่กัดแห่งปี ได้แก่ “นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” สมาชิกวุฒิสภา และ “นายรังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่ทั้งคู่ได้มาประชุมร่วมกัน หลายครั้งเกิดวิวาทะแบบไม่ลดราวาศอก ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ. ที่เริ่มต้นจากการอภิปรายของนายรังสิมันต์ มักพาดพิงที่มาของ ส.ว.บ่อยๆ จนทำให้นายกิตติศักดิ์ ประท้วง และดึงเรื่องหนี้ กยศ.มาตอบโต้นายรังสิมันต์ ให้สำเหนียกตัวเองเพราะไม่ยอมชำระหนี้ จนนายรังสิมันต์โต้แย้งกลับว่าได้ชำระหนี้ กยศ.จนครบถ้วนแล้ว

"คนดีศรีสภา 65" ปี 2565 ซึ่งถือเป็นปีที่ 4 ที่ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภายังไม่เห็นว่าจะมี ส.ส.หรือ ส.ว.คนใดเหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว

ทั้งนี้ การตั้งฉายาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติหรือ  ส.ส.และ ส.ว.เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาทุกปี ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของ ส.ส.และ  ส.ว.อย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนขอเป็นกำลังใจให้ ส.ส.และ ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ให้มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ ส.ส.และ ส.ว.ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ ขอให้ทบทวน ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนต่อไป

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงฉายา "ชวน ซวนเซ" ว่า ไม่เซ ไม่เมาก็ไม่เซ เราต้องมั่นคง การยึดหลักการก็อาจจะเป็นไปได้ที่สมาชิกไม่เห็นด้วย เช่นลงมติว่าเรื่องนี้ควรจะลงมติใหม่หรือไม่ อย่างนี้สมาชิกส่วนหนึ่งเขาก็ไม่เห็นด้วยและคัดค้าน แต่ประธานต้องยึดว่าหลักเป็นอย่างไร ไม่สามารถเบี่ยงเบนเป็นอย่างอื่นได้ ฉะนั้นไปซวนเซอะไรไม่ได้ สมาชิกไม่พอใจก็เป็นไปได้ เป็นเรื่องธรรมดา แต่เขาไม่พอใจเพราะเราไม่ตามใจ ดังนั้นหลักก็ต้องมั่นคง 

ถามถึงฉายาสภา “3 วันหนี 4 วันล่ม” นายชวนกล่าวว่า คิดว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับสภาว่าไม่ได้เกิดบ่อย เพียงแต่ช่วงปลายมีปัญหาหน่อย แต่ถึงอย่างไร สภาชุดนี้ก็มีผลงานมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา 

ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวถึงฉายาสภา “3 วันหนี 4 วันล่ม” ว่า น้อมรับไม่ว่าจะเป็นฉายาของสภาหรือบุคคล ฉายาดังกล่าวเป็นเรื่องจริง  ฉายานี้เป็นคำตอบให้กับพวกเราที่จะบอกประชาชนว่า รัฐบาลที่มาจากเสียงข้างน้อย ที่ใช้กลไกกฎหมาย รัฐธรรมนูญกระบวนการวิธีการที่มิชอบ สร้างปัญหาในสภามาก เกิดสภากล้วย ทำงานด้วยกล้วย ยุคนี้เราใช้คำว่า  money politic หรือธนกิจการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องเด่นในญัตติอภิปรายครั้งนี้ด้วย ภาพของ “3 วันหนี 4 วันล่ม”  จึงชัด เพราะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสียงข้างมากที่แท้จริงในสภา 

ส.ส.ออกอีก 2 สภาเหลือ 437

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สำหรับฉายา หมอ(ง) ชลน่าน  นั้นก็ขอขอบคุณ ไปอ่านเหตุผลที่ให้มาก็เข้าใจได้ เปรียบเทียบกับปี 64 ที่ทำหน้าที่เป็นสมาชิกทั่วไป ไม่ใช่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็จะเป็นอีกบทบาทหนึ่ง แต่ที่ไม่ตรงอย่างหนึ่งคือเรื่องของการขาดความเป็นอิสระ ตนขออนุญาตแจงว่าในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง  เป็นองค์กรและสถาบันทางการเมืองที่มีรูปแบบการบริหารเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย มีความเป็นอิสระเต็มที่เท่าที่กฎหมายอนุญาตให้ทำ ส่วนจะรับฟังความเห็น รับข้อเสนอจากภายนอกภายในเป็นวิธีการทำงาน แต่สุดท้ายการทำหน้าที่อยู่ที่ตัวบทกฎหมายและระเบียบข้อบังคับพรรค ซึ่งการทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าพรรคหรือผู้นำฝ่ายค้านในสภา จะทำหน้าที่เหมือนสมาชิกปกติทั่วไปไม่ได้ ยอมหมองใน ง.งูที่อยู่ในวงเล็บ แต่สดชื่นตลอดเวลาที่ได้ทำงานกับสื่อมวลชนรัฐสภา ที่ให้ความสนใจใส่ใจกับเรื่องของบ้านเมือง ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ

"ในส่วนวาทะแห่งปี 65 ได้สะท้อนภาพการเมืองได้อย่างแจ่มชัด คงไม่มีคำพูดใดที่จะทำให้พวกเราจดจำไปมากกว่านี้ เป็นการรับสารภาพกลางสภา ว่าคนนี้คือคนที่ยึดอำนาจ ถือว่าเหมาะสมยิ่ง" นพ.ชลน่านกล่าว               

เช่นเดียวกับนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม  พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวยอมรับฉายาสภาผู้แทนราษฎร "3 วันหนี 4 วันล่ม" เพราะภาพมันออกมาอย่างนั้น ความรู้สึกของสังคมก็อาจจะสอดคล้องอยู่  จึงเข้าใจได้ว่าทำไมสื่อถึงตั้งแบบนั้น

 นายสุทินกล่าวว่า ฉายาของผู้นำฝ่ายค้าน หมอ(ง)  ชลน่าน นั้นก็ธรรมดา เพราะเขามีงานเยอะขึ้น อาจจะจืดไปหน่อย แต่ฉายาที่ตั้งก็มีเหตุผล ส่วนฉายาประธานสภา  "ชวน ซวนเซ" ไม่เห็นด้วย เพราะต้องยอมรับว่านายชวนทำหน้าที่ได้ดี ขณะที่ฉายาประธานวุฒิสภา “พรเพชร พักก่อน” คิดว่าเหมาะสม แต่เบาไป ความจริงน่าจะหนักกว่านั้น ส่วนฉายาวุฒิสภา “ตรา ป.” คิดว่าถูกที่สุด ที่ผ่านมา  ส.ว.ทำงานภายใต้ธงของรัฐบาล ยังไม่เห็นอะไรที่แตกแถว หรือยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล

 "วาทะแห่งปี 'เรื่องปฏิวัติผมไม่เกี่ยวข้อง นี่ครับคนปฏิวัติ...ท่านนายกฯ คนเดียว' ถือว่าเด่นจริงๆ พูดง่ายๆ  ว่าเป็นการจับคนปฏิวัติ จับโจรสารภาพต่อหน้าศาล” นายสุทินกล่าว

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวถึงฉายา “ดาวดับ” ว่า ตกใจที่ได้รับฉายา ตั้งแต่เป็น ส.ส.มา 4 ปีไม่ติดชาร์ต มีติดชาร์ตครั้งเดียว ตอนเป็นคู่กัดกับนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ คิดว่าปีนี้ไม่น่าจะมี แต่สื่อมวลชนคงเอ็นดู

วันเดียวกัน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวนทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ก่อนเข้าระเบียบวาระได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาถึงการลาออกของ ส.ส. 2 คน คือ  นายชัชวาลล์ คงอุดม และนายนพดล แก้วสุพัฒน์ ขอลาออกจาก ส.ส.พรรคพลังท้องถิ่นไท ทำให้สิ้นสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญ ทำให้นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ได้รับการเลื่อนให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลัง แทนตำแหน่งที่ว่าง จากนั้นนายอเนกได้กล่าวปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ นายชวนแจ้งต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันมี ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้คือ 437 คน องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งคือ 219 คน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป