สั่งลดค่าไฟฟ้า รอ‘กกพ.’เคาะ กฟผ.รับไม่ไหว

"สุพัฒนพงษ์" เผยนายกฯ สั่งลดค่าไฟแล้ว แต่รับไม่สามารถทำให้ถูกใจได้ทุกกลุ่ม รอบอร์ด กกพ.เคาะอีกครั้ง 28 ธ.ค.นี้ ด้าน ปตท.ผุดแผนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้ลดลงอีก ขณะที่ กฟผ.โอดรับภาระค่าเอฟทีไม่ไหว อาจกระทบการนำส่งเงินเข้ารัฐ

เมื่อวันจันทร์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ทบทวนราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ให้ถูกลงกว่าเดิมที่ 190.44 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นค่าไฟ 5.69 บาทต่อหน่วย แต่คงไม่เยอะเท่าไหร่และอาจไม่ถูกใจใครบางกลุ่ม ซึ่งขณะนี้ได้ส่งตัวเลขให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  เรียบร้อยแล้ว โดยวันที่ 28 ธ.ค.จะมีการประชุมบอร์ด กกพ.เพื่อคำนวณตัวเลขใหม่อีกครั้งในหลายมิติ 

ทั้งนี้ อยากให้ทำความเข้าใจว่าเป็นวิกฤตพลังงานจริง ๆ ซึ่งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงมากอยู่ที่ระดับ 29-30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดคือการปรับตัว ซึ่งขณะนี้บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.จะเร่งกำลังผลิตในอ่าวไทยให้มากขึ้น โดยในต้นปี  2566 จะสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ จึงอยากให้เข้าใจว่าของมีขึ้นได้ก็ลงได้ 

“ในช่วงนี้ภาคธุรกิจฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก และยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่เราก็ต้องนำเข้า LNG  มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งวันนี้เรานำเข้าเชื้อเพลิงซึ่งแพงมากเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยเป็นราคาที่ยังไม่ได้คิดค่าสายส่ง จะตกหน่วยละประมาณ 6.50 บาท แต่หากรวมแล้วจะตกหน่วยละ 7-8 บาท ซึ่งก็มีแผนที่จะลดการนำเข้าก๊าซ  LNG แล้วใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าแทน เดือนละ 400  ล้านลิตร หรือ 15% ของการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมด และการขยายเวลาใช้ถ่านหิน 5% รวมเป็น 20% เข้าไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) แบกหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือภาคครัวเรือนก็เริ่มมีการประหยัด ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะช่วยอย่างไร  เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟลดลง ซึ่งใช้ไฟโดยรวมที่ 17%  ของภาคพลังงานทั้งหมด รัฐบาลก็ไม่ได้อยากไปผลักภาระให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบุญคุณต่อการเติบโตของประเทศ  และยืนยันว่าตัวเลขเอฟทีจะลดลงแน่นอน แต่อาจไม่ถูกใจใคร จึงอยากให้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งทุกฝ่ายพยายามเต็มที่ ต้องเสริมสภาพคล่อง กฟผ.ด้วย ซึ่งพิจารณาตัวเลขคืน กฟผ.ที่ 0.33 สตางค์ คือต่ำเท่าที่จะต่ำได้แล้ว 

“อยากให้กลุ่มธุรกิจทำเหมือนตอนเราแก้ปัญหาโควิด  หันหน้าคุยกัน เราตระหนักว่าอะไรปรับได้ก็ปรับ ซึ่งอยากให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ช่วยดูตรงนี้ เพราะเป็นภาคพลังงานที่ใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลิงสูง และใช้ในราคาเฉลี่ยเหมือนกัน ซึ่งเอกชนยังไม่มีความพยายามใช้น้ำมันเตาหรือก๊าซตัวอื่นเลย อย่ามาเอาค่าเฉลี่ยราคาเท่ากับประชาชนกว่า 23 ล้านครัวเรือน” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างหาวิธีช่วยเหลือตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขอความร่วมมือพิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.66) เป็น 6,000  ล้านบาท มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า แบ่งเป็นส่วนที่ 1 ลดราคาค่าก๊าซให้ กฟผ. เพื่อลดค่าไฟกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน 

ส่วนที่ 2 ลดราคาก๊าซสำหรับโรงแยกก๊าซ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้ การช่วยเหลือมีหลายวิธีที่ไม่ใช่เฉพาะการช่วยเหลือในเรื่องของเงินเท่านั้น แต่ยังมีการบริหารจัดการเพื่อที่จะทำให้ต้นทุนลดลง เพื่อเอาไปคำนวณช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น 

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า หากภาคเอกชนต้องการให้ปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 ภาครัฐจะต้องหาเงินมาสนับสนุนหรือให้งดนำส่งเงินเข้ารัฐ ทั้งนี้รายได้ที่ กฟผ.นำส่งรัฐนั้นค้างจ่ายปีก่อนๆ ที่  6,000 ล้านบาท และในปี 2565 ประมาณ 17,000 ล้านบาท หากให้แบกรับไปมากกว่านี้ก็คงไม่ไหว

สำหรับการปรับอัตราค่าเอฟทีในรอบนี้ มาจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาแพงมาทดแทนเพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาที่ลดลง อีกทั้งต้องทยอยจ่ายคืนหนี้ค่าเอฟทีให้ กฟผ.บางส่วนราว 33 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาทต่องวด เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายในเวลา 2 ปี ขณะที่ กฟผ.ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน  101,881 ล้านบาท

"หากจะจ่ายคืนค่าเอฟทีให้ กฟผ.ต่ำกว่า 33 สตางค์ต่อหน่วยก็คงไม่ไหวแล้ว กฟผ.ไม่สามารถแบกรับต้นทุนไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว หากต้องการลดค่าไฟรัฐคงต้องหาเงินส่วนอื่นมาช่วยอุดหนุน" นายบุญญนิตย์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง