ไล่บี้เหตุรล.สุโขทัยอับปาง รํ่าไห้รับ6ลูกประดู่สละชีพ

ไล่บี้ปม "ร.ล.สุโขทัย" ล่ม  กมธ.ขอข้อมูล-ไทม์ไลน์ 7 ชม.ช่วงการพูดคุยระหว่างผู้การเรือกับผู้บังคับบัญชา "เต้" อนุมานนายสั่ง "เรือจมไม่ได้" ส่งผลให้รักษาเรือมากกว่าชีวิต ขณะที่เสธ.ทร.ยันไม่เป็นความจริง  หลายหน่วยยังคงปูพรมหาผู้สูญหาย   พร้อมส่งยานใต้น้ำค้นหาร่างผู้ที่อาจติดอยู่ในเรือ แต่ยังไม่พบ สัตหีบร่ำไห้รับร่าง 6 ลูกประดู่สละชีพในหน้าที่ 

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 เวลา 08.00 น. น.ส.ราตรี จันทรัตน์ ประมง อ.ละแม จ.ชุมพร ได้รับแจ้งจากเครือข่ายชาวประมงว่าพบทุ่นกลมสีขาวขนาดใหญ่น้ำหนักร่วม 10 ตัน ลอยอยู่กลางทะเลเขตรอยต่อระหว่าง อ.ละแม และ อ.หลังสวน ห่างจากฝั่งกว่า 10 กิโลเมตร พร้อมกับรายงานให้นายอำเภอละแมและหน่วยงานเกี่ยวข้องทราบ ซึ่งเรือประมงลำที่พบอยู่ระหว่างการเก็บกู้เครื่องมือทำการประมง โดยมีรายงานว่าจากการตรวจสอบจากภาพถ่ายที่เรือประมงส่งมาทางไลน์ พบว่าเป็นโดมเรดาร์ขนาดใหญ่มีน้ำหนักหลายตัน มีระบบสื่อสารและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายใน ซึ่งถือเป็นหัวใจของเรือ ติดตั้งอยู่บนแท่นสูงสุดของ ร.ล.สุโขทัยลำที่อับปางในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีมูลค่าสูงราคาหลายล้านบาท

 นอกจากนั้นเมื่อช่วงบ่าย มีเรือประมงอวนลากที่ทำการประมงอยู่น้ำลึกห่างจากฝั่งกว่า 10 ไมล์ทะเล ได้พบแพชูชีพ 1 หลัง ลอยอยู่กลางทะเล ห่างจากฝั่ง อ.ละแมราว 20-30 กิโลเมตร โดยแพชูชีพดังกล่าวมีชื่อระบุว่า “ร.ล.สุโขทัย NO.3” และถุงยา 1 ถุง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ใช้ 2 ซิม สภาพฝาหลุดออกจากตัวเครื่อง ส่วนเรืออวนลากลำที่พบได้เก็บแพและสิ่งของต่างๆ ที่พบไว้บนเรือแล้ว แต่เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าฝั่งได้

พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน  โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการค้นหาผู้สูญหายว่า ยังแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการออกเป็น 11 พื้นที่ เรือหลวงตากสิน อยู่ในพื้นที่ค้นหาที่ 5 เรือหลวงนเรศวร อยู่ในพื้นที่ค้นหาที่ 9 และทำหน้าที่ควบคุมอากาศยาน เรือหลวงกระบุรีอยู่ในพื้นที่ค้นหาที่ 10 และ 11  เรือหลวงนราธิวาสอยู่ในพื้นที่ค้นหาที่ 12 เรือ ต.114 ลาดตระเวนเฝ้าตรวจ บริเวณหมู่เกาะอ่างทอง เรือ ต.270 อยู่ในพื้นที่ค้นหาที่ 14 ในส่วนของการปฏิบัติการของอากาศยาน เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลแบบดอร์เนีย จากทัพเรือภาคที่ 1 ทัพเรือภาคที่ 2 และทัพเรือภาคที่ 3 ทำการค้นหาในพื้นที่ค้นหา 6 และ 10 โดยมีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบซีฮอว์กและเฮลิคอปเตอร์  แบบ EC-725 ของกองทัพอากาศ รอรับการส่งกำลังบำรุงในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการ

กองทัพเรือได้สั่งการให้กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ นำยานสำรวจใต้น้ำของเรือหลวงบางระจันทำการบันทึกภาพใต้น้ำบริเวณเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เพื่อค้นหาร่างของกำลังพลที่อาจติดค้างอยู่ภายในเรือ รวมถึงการตรวจหารอยรั่วของน้ำมันที่อาจเกิดการรั่วไหล สรุปยอดในช่วง 15.00 น. กำลังพลบนเรือหลวงสุโขทัย จำนวน 105 นาย ช่วยเหลือได้แล้ว 76 นาย เสียชีวิต 6 นาย ยังคงสูญหาย 23 นาย 

ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และไปตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ณ สโมสรสัญญาบัตร กองเรือยุทธการ รวมทั้งไปร่วมในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพทหาร 6 นาย ณ ฌาปนสถานกองทัพเรือสัตหีบ และร่วมพิธีสวดพระอภิธรรม

ก่อนหน้านั้น ร่างของ 6 ทหารเรือที่เสียชีวิตถูกลำเลียงโดยเครื่องบิน C130 กองทัพอากาศ จากท่าอากาศยานจาก กองบิน 5 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึงสนามบินอู่ตะเภา กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง บรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ในการนี้ กองทัพเรือได้จัดทหารกองเกียรติยศให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ โดยโลงบรรจุร่างของเหล่าทหาร ได้ถูกปกคลุมด้วยผืนธงชาติ ชักแถวลำเลียงลงจากเครื่องบินขึ้นท้ายรถฮัมวีเดินทางสู่ฌาปนสถานกองทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และประกอบพิธีสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 3 คืน โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาเรื่อง ร.ล.สุโขทัยอับปาง ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แต่มีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงแทน โดยนายณัฐชาถามถึงไทม์ไลน์การเกิดเหตุเรือล่ม อุปกรณ์ช่วยชีวิต ความพร้อมใช้งานและการซ่อมบำรุงของเรือรบหลวงสุโขทัย รวมถึงภารกิจสำคัญอะไรที่ถึงขนาดต้องนำเรือรบออกไปฝ่าคลื่นมรสุม ได้มีการตรวจสอบสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาหรือไม่ ทั้งยังสอบถามถึงผู้รับผิดชอบที่เซ็นหนังสือให้เรือรบออกไปปฏิบัติภารกิจเสี่ยงชีวิต

 พล.อ.ชัยชาญชี้แจงว่า เรือได้ฝ่าคลื่นลมไป และมีน้ำเข้าเรือและเข้าสู่เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน เป็นเหตุไม่สามารถควบคุมเรือได้ ส่งผลให้น้ำเข้าสู่เรืออย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อุปกรณ์ช่วยชีวิต โดยปกติจะมีอัตราประจำเรือ ส่วนหนึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ชูชีพส่วนบุคคล แพชูชีพ และชูชีพเป็นวง แต่แพชูชีพปล่อยไม่ได้เพราะคลื่นทะเลแรง แม้แต่เฮลิคอปเตอร์ที่นำไปช่วยก็ทำได้ยาก เพราะเรือและเสากระโดงโคลงเคลง ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าภายในเรือมีเสื้อชูชีพครบหรือไม่ ได้สั่งให้กองทัพเรือไปตรวจสอบให้กระจ่างและชี้แจงต่อสังคมแล้ว การซ่อมบำรุงร.ล.สุโขทัย ได้ซ่อมบำรุงใหญ่เมื่อปี 61-63 และรับกลับมาปี 64 งบประมาณซ่อมบำรุงที่กองทัพเรือได้รับ โดยเฉพาะกับการซ่อมบำรุงเรือ เฉลี่ยปีละ 1,300 ล้านบาท สำหรับปี 66 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 1,800 ล้านบาท ทั้งนี้ อายุการใช้งานเรือของกองทัพเรือเฉลี่ยส่วนใหญ่เกิน 30 ปีขึ้นไป ส่วนอายุเรือรบหลักๆ อยู่ที่ 40 ปี ฉะนั้นสาเหตุจริงๆ ที่ทำให้เรืออับปางต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

พล.อ.ชัยชาญกล่าวอีกว่า เรือกระบุรีได้เตรียมเครื่องมือแพยาง ซึ่งมีอยู่ 8 แพ และเรือเล็ก แต่ด้วยสภาพคลื่นลมทำให้ไม่สามารถส่งลงไปได้ ในวันที่ 18 ธ.ค. เรือรบหลวงสุโขทัยปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนในสภาพอากาศที่เป็นคลื่นลมแรง และก่อนจะออกภารกิจก็จะประเมินสถานการณ์จากข้อมูลของกรมอุตุฯ นอกจากนี้ เรายังได้ฝึกซ้อมตลอดเวลา และก่อนออกเรือจะชี้แจงกำลังพลถึงการปฏิบัติงานบนเรือ แต่กรณีกำลังพลที่ร่วมเดินทางไปชุมพร ต้องให้กองทัพเรือเข้าไปสอบข้อเท็จจริงว่ากำลังพลเหล่านั้นได้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและปฏิบัติตัวอย่างไร เรื่องการอยู่รอดในภาวะฉุกเฉินมีการฝึกตามวงรอบอยู่แล้ว

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมเพื่อพิจารณากรณี ร.ล.สุโขทัย โดยมี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ เป็นตัวแทนเข้าชี้แจงต่อคณะ กมธ. ภายหลังการประชุม พล.ร.อ.ชลธิศให้สัมภาษณ์ว่า ประเด็นแรกเรื่องของกำลังพลที่อาจติดอยู่ในเรือที่อับปางจากการตรวจสอบก่อนที่เรือจะอับปางลง กำลังพลทั้งหมดได้ขึ้นมาอยู่ในบริเวณที่ไม่จมน้ำแล้ว แต่เมื่อเรืออับปางไปแล้วอาจมีพลังดูดของน้ำ โดยขณะนี้หมู่เรือที่เข้าไปสำรวจและกู้เรือได้ไปถึงพื้นที่แล้ว เป็นเรือลากทำลายทุ่นระเบิด และได้ส่งยานลงไปสำรวจความเสียหายและวิธีเก็บกู้เรือขึ้นมา ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้จะเป็นการค้นหากำลังพลที่อาจถูกพลังน้ำดูดลงไปด้วย

เมื่อถามว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ เสนาธิการทหารเรือกล่าวว่า มีการดำเนินการอยู่ ซึ่งเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้ความจริงปรากฏคือสาเหตุของเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เพราะตั้งแต่ตนรับราชการมา 35-36 ปี ไม่เคยพบเจอเหตุในลักษณะนี้ กองทัพเรือจึงอยากหาสาเหตุเพื่อดำเนินการแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก เมื่อถามว่าเหตุเรือสุโขทัยอับปางในครั้งนี้ มีคำสั่งว่านายสั่งไม่ให้เรือจมใช่หรือไม่ เสนาธิการทหารเรือยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ในขั้นนี้จะเสนอข้อเท็จจริงเท่านั้น ความเห็นหรือข้อคิดเห็นต่างๆ ตนไม่ขอพูดถึง   

“มีความเห็นเป็นจำนวนมาก มีเขาเล่าว่า มีคนนี้คิดว่า มีคนนั้นเห็นว่า แต่ต้องดำเนินการสอบสวนและหาข้อเท็จจริง” เสนาธิการทหารเรือกล่าว

ขณะที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ในฐานะโฆษก กมธ. แถลงผลการเข้าชี้แจงของเสนาธิการทหารเรือและคณะว่า ทาง กมธ.ได้ขอข้อมูลบันทึกการซ่อมบำรุงย้อนหลังของเรือหลวงสุโขทัย การใช้งบประมาณในการซ่อมแซม บันทึกข้อมูลการประสานงานระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้การเรือหลวงสุโขทัย ในวันที่ 18 ธ.ค. จนถึงเวลาเรืออับปาง ว่ามีการพูดคุยกันระหว่าง ผบ.ทร.กับผู้การเรือหลวงสุโขทัยในช่วงระยะเวลา 7 ชม. ก่อนหน้านั้นอย่างไร รวมถึงขอข้อมูลอุทกศาสตร์กองทัพเรือว่าขณะนั้นคลื่นมีความสูงเท่าไหร่ ความเร็วลมเป็นอย่างไร มีการเตือนภัยก่อนออกเรือหรือไม่ และบันทึกจำนวนชูชีพย้อนหลัง 7 วัน ว่ามีเพียงพอต่อกำลังพลหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเรือพังจากจุดใด ต้องกู้เรือให้ได้ก่อนจึงจะสามารถทราบสาเหตุได้แน่ชัด โดยเสนาธิการทหารเรือได้ชี้แจงต่อ กมธ.ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากภัยธรรมชาติมีคลื่นสูง 4-5 เมตร โดยมีการประคับประคองเรือให้ถึงที่สุดแล้ว     

นายมงคลกิตติ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้กองทัพเรือยังได้ชี้แจงถึงการเข้าให้ความช่วยเหลือของเรือหลวงกระบุรี และเรืออื่นๆ ที่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้เพราะคลื่นสูงมาก อีกทั้งผู้การเรือหลวงสุโขทัย แจ้งว่าเรือที่เอียงอยู่ระหว่าง 60-80 องศา การอยู่บนเรือจะปลอดภัยกว่าอยู่บนผิวน้ำ ส่วนเฮลิคอปเตอร์ก็ไม่สามารถบินต่ำได้ เพราะกระแสลมแรง จากการประเมินเบื้องต้น ผบ.ทร. ผู้การเรือหลวงสุโขทัย มีความเป็นห่วงตัวเรือมากพอสมควรเพราะในกองทัพเรือมีคำสั่งว่าเรือจมไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรือหลักของกองทัพ ทำให้กำลังพลและผู้การเรือหลวงสุโขทัยตัดสินใจที่จะปกป้องเรือจนลืมคิดถึงชีวิตตัวเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง