ปี65สุดท้าทาย เคาะจีดีพี3.2% ครึ่งหลัง66ฟื้น

“แบงก์ชาติ” รับโควิด-19 ป่วนหนัก ทำศักยภาพเศรษฐกิจไทยลดลง มองปี 65 สุดท้าทาย เงินเฟ้อทะยานแรงสุดรอบ 30-40 ปี ดอกเบี้ยขึ้นเร็ว-แรงสุดในรอบ 50 ปี การเงินตึงตัวทั่วโลก ทุบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว  ชี้ภาคการท่องเที่ยว-บริโภคยังแกร่ง ช่วยหนุนจีดีพีไทยโตฝ่ามรสุม เคาะปีนี้ที่ 3.2% ส่วนปี 66 โตแตะ 3.7%  ประเมินครึ่งหลังปีหน้าเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ "บิ๊กตู่" ชี้สถานะการเงินการคลังยังดีได้รับความเชื่อมั่น รอเฮของขวัญปีใหม่เข้า ครม.

เมื่อวันจันทร์ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงหลังศักยภาพของเศรษฐกิจไทยมีการลดลง จากปัจจัยหลักเรื่องโครงสร้างแรงงานและประชากรที่สูงวัย ขณะเดียวกันที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการลงทุนมากเท่าที่ควร ทำให้การยกระดับประสิทธิภาพเศรษฐกิจทำได้ไม่เต็มที่ และยังมีหลายปัจจัยที่เป็นเชิงโครงสร้างที่ต้องจับตาดู และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการช็อกอย่างรุนแรง และถือว่ากระทบศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงนั้น และยังอาจส่งผลระยะยาวต่อศักยภาพในอนาคต     

“ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะหลังชะลอลงจากปัจจัยดังกล่าว แต่ภาพรวม ณ ตอนนี้การขยายตัวยังอยู่ในกรอบ 3-4% ถือว่าเป็นธรรมชาติ โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.2% และปี 2566 ที่ 3.7% ส่วนปี 2567 ที่ 3.9% เป็นช่วงที่ถือว่าเติบโตได้เร็วกว่าศักยภาพ แต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับศักยภาพ แต่หลังจากนั้นการเร่งตัวจากปัจจัยสนับสนุนในระยะสั้นจะเริ่มแผ่วลง  โดยมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อจะยังไม่ได้เต็มที่จนถึงครึ่งหลังปีหน้า” นายปิติกล่าว

โดยปี 2565 ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจโลกและไทย จากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงสุดในรอบ 30-40  ปี และราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครน ที่เป็นแรงกระแทกด้านอุปทานมาซ้ำเติมเงินเฟ้อ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยโลกที่ขึ้นเร็วและแรงพร้อมเพรียงกันมากสุดในรอบ 50 ปี ควบคู่ไปกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ค่อนข้างเยอะในปีนี้ ก่อนจะอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการตึงตัวของภาวะการเงินทั่วโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกเทียบกับราคานำเข้าลดลงในหลายประเทศ ส่งผลให้อำนาจซื้อลดลง และเป็นผลพวงทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 2550

ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นบริบทที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยที่เพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวยังเปราะบางไม่ทั่วถึง แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อ่อนไหวค่อนข้างน้อย  ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้มีการดำเนินนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้มาตรการที่เฉพาะเจาะจงและมีการเข้าไปดูแลค่าเงินบ้างบางช่วง ถือเป็นการทำนโยบายการเงินแบบบูรณาการ ประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไปข้างหน้า

นายปิติกล่าวอีกว่า การจะกลับมาเห็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบภาวะปกติ (Policy  Normalization) ได้ในช่วงใดนั้นคงยังไม่สามารถเจาะจงได้ เพราะต้องขึ้นกับสถานการณ์ในปี 2566 ด้วย  โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าอาจจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเข้าใกล้กับจุดที่มีศักยภาพแล้วหรือยัง และเงินเฟ้อไม่ได้สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ซึ่งหากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะ Smooth take off ก็ไม่จำเป็นที่แนวนโยบายจะต้องปรับแบบกระชากหรือเปลี่ยนทิศทาง

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า แรงส่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าคือ ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การจ้างงานและรายได้ฟื้นตัวดีขึ้นและทั่วถึงมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่  10.5 ล้านคน ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมาเข้ามาแล้ว  9.5 ล้านคน ส่วนปี 2566 เพิ่มเป็น 22 ล้านคน และปี  2567 อยู่ที่ 31.5 ล้านคน โดยภาพรวมอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

“การฟื้นตัวของจีดีพีแทบจะไม่ได้เปลี่ยนจากประมาณการในครั้งก่อน โดยยังคงมองว่าจะฟื้นกลับไปสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปี 2566 และในแง่ของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนนั้น จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก” นายสักกะภพกล่าว

นายสักกะภพกล่าวอีกว่า ในปีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 6.3% และปี 2566 อยู่ที่ 3% และปี  2567 จะลดลงมาอยู่ที่ 2.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% ส่วนปี 2566 อยู่ที่  2.5% และปี 2567 ลดลงมาอยู่ที่ 2%

ขณะที่ น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ได้รับการกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อยู่ที่ 3.2% ส่วนปี  2566 คาดว่าไม่ต่ำกว่า 3% แน่นอน โดยมองที่ประมาณ  3.2% ส่วนคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 ที่  22 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากปี 2565 ที่คาดว่าจะปิดทั้งปีที่จำนวน 11 ล้านคน ทั้งนี้ปี 2566 ยังคงมองว่านักท่องเที่ยวยังไม่ใช่กลุ่มใหญ่ที่สุดที่เดินทางเข้าไทย แต่เป็นกลุ่มเอเชียใต้เป็นหลัก

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจไทยปี 2566 นั้น มองว่ายังเผชิญหลายโจทย์รุมเร้า โดยฝั่งต้นทุนจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าแรง และดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น  ขณะที่ฝั่งรายได้จะถูกกระทบจากการที่เศรษฐกิจแกนหลักของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและเงินบาทแข็งค่า จนฉุดความต้องการสินค้าส่งออกไทย นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ  ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจแต่ละประเภทแตกต่างกัน จึงทำให้การฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจในปี 2566 ยังมีลักษณะเป็นรูปตัวเค (K-Shaped)

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 3/2565 ถึงสถานะทางการเงินการคลังในขณะนี้ว่า "ยังดีอยู่ ได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือทั้งจากองค์กรต่างประเทศด้วยอะไรด้วย ก็ขอให้ใจเย็นแล้วกัน รัฐบาลพยายามทยอยทำสิ่งที่ดีที่สุด ทุกคนก็รู้ว่าปัญหามันเยอะ แต่ยังโชคดีที่หลายๆ อย่างดีขึ้น การใช้จ่ายอะไรก็ดีขึ้น แต่แน่นอนคนที่ลำบากก็ยังมีอยู่ ซึ่งรัฐบาลบริหารจัดการอย่างเหมาะสม พยายามรักษาเสถียรภาพการเงินการคลังไว้ให้ดี  ไปประชุมอาเซียน-สหภาพยุโรปก็ได้รับการชื่นชม และขอทำงานอย่างดีที่สุด"

เมื่อถามว่า คนตกใจค่าไฟที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องมองเหตุและผลว่าขึ้นเพราะอะไร ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่าต้นทุนสินค้ามาจากไหน ก็จะพยายามทำทุกอย่างให้เดือดร้อนน้อยที่สุด

เมื่อถามเรื่องของขวัญปีใหม่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์นี้เลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์พยักหน้าพร้อมกล่าวว่าเข้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง