โพลยี้ผลงานผู้ทรงเกียรติ!

ตบหน้าทั่นผู้ทรงเกียรติ โพลประจานเสียงส่วนใหญ่ไม่พอใจการทำงาน สวนทาง “ชวน” ปชช.ยกนิ้วทำหน้าที่ได้ดี 43% เห็นควรให้นายกฯ ยุบสภาในเดือนนี้ “นิกร” ยกมือหนุนเพื่อไทยปมแก้รัฐธรรมนูญ ญาติวีรชนพฤษภา 35 หนุนกฎหมายนิรโทษฉบับหมอระวี ชี้ควรทำก่อนเลือกตั้งใหม่ 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง ผลงานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง

โดยเมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรอบเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า 31.98% ระบุว่าไม่ค่อยพอใจ เพราะส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการทะเลาะกัน และ ส.ส.ที่เข้าร่วมประชุมมีจำนวนน้อย, 30.46% ระบุว่าค่อนข้างพอใจ เพราะมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน นำเสนอปัญหาและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่, 25.96% ระบุว่าไม่พอใจเลย เพราะสภาล่มบ่อยครั้ง และการทำงานยังไม่มีประสิทธิภาพ,  9.77% ระบุว่าพอใจมาก เพราะตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน และการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ สำเร็จลุล่วง และ 1.83% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อการทำงานของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในรอบเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า 41.98% ระบุว่าค่อนข้างพอใจ เพราะมีเหตุผล สุขุม รอบคอบ และมีความเป็นกลางในการทำหน้าที่ รองลงมา 24.05% ระบุว่า พอใจมาก เพราะซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา มีความยุติธรรม มีความรู้ความสามารถ และทำหน้าที่ได้ดี, 20.38% ระบุว่าไม่ค่อยพอใจ เพราะไม่ค่อยมีความเป็นกลาง และขาดความเด็ดขาด, 11.76% ระบุว่าไม่พอใจเลย เพราะไม่มีความเป็นกลาง และไม่สามารถควบคุมให้การประชุมสภาดำเนินไปอย่างเรียบร้อยได้ และ 1.83% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ 

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบว่า 43.13% ระบุว่านายกฯ ควรประกาศยุบสภาภายในเดือน ธ.ค.2565 รองลงมา 33.82% ระบุว่านายกฯ ควรอยู่จนครบวาระของสภาในวันที่ 23 มี.ค.2566,  12.37% ระบุว่านายกฯ ควรยุบสภาภายในเดือน ม.ค.2566, 3.74% ระบุว่านายก ฯ ควรยุบสภาภายในเดือน ก.พ.2566,  2.82% ระบุว่านายกฯ ควรประกาศยุบสภา เพียงไม่กี่วันก่อนการครบวาระ และ 4.12% ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ

ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยประเด็นการเสนอชื่อบุคคลให้สภาเลือกเป็นนายกฯ และตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ว่าหากทันเสนอให้รัฐสภาพิจารณา พร้อมลงมติสนับสนุน แต่กังวลว่าจะทำได้เพียงเสนอ แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญทำให้แก้ไขได้ยาก ต้องมีเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงร่วมเห็นชอบด้วย

“ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคกำหนดไว้เป็นนโยบายที่จะหาเสียงเลือกตั้งกับประชาชน เพื่อให้เป็นพลังในการสนับสนุนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้สำเร็จ เหมือนสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย เคยดำเนินการ โดยประเด็นที่พรรคจะขับเคลื่อนคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีส่วนร่วมยกร่าง และประเด็นที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้น ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขด้วยเช่นกัน  แต่ประเด็นที่เพื่อไทยเสนอนั้น อาจเสนอเพื่อให้บอกกับประชาชนไว้ในช่วงเลือกตั้ง  แต่อาจหวังผลไม่ได้ สู้ประกาศกับประชาชนและให้ประชาชนสนับสนุนเพื่อเป็นพลังที่นำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ" นายนิกรระบุ             

วันเดียวกัน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับเครือข่าย 30 องค์กรประชาธิปไตย จัดสัมมนาเรื่อง “สร้างสรรค์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน” โดยนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธาน ครป.กล่าวถึง 10 เหตุผลที่ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่า 1.รัฐธรรมนูญ 2560 สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร 2.อำนาจรัฐราชการ ขุนทหาร และกลุ่มทุนธุรกิจการเมือง ครอบงำสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างต่อเนื่อง 3.หลักการสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิมนุษยชนถูกละเลย 4.หน้าที่ของรัฐ และแนวนโยบายแห่งรัฐ ถูกละเลยไม่มีผลในทางปฏิบัติ 5.แผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี ไม่ได้มาจากการรับฟังและมีส่วนร่วมจากประชาชน 6.ไม่ใส่ใจการกระจายอำนาจ ขัดขวางการส่งเสริมการบริหารงานส่วนท้องถิ่น 7.ส.ว.จากการแต่งตั้ง ถูกตั้งคำถามว่าหน่วงรั้งความก้าวหน้าของประชาธิปไตย 8.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อยู่ในสถานะอ่อนเปลี้ย 9.ล้มเหลวในการปฏิรูปในทุกมิติ และ 10.ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ

ขณะที่นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์  ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และอดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมว่า ข้อเสนอของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข โดยให้นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ตั้งแต่ 19 ก.ย.2549-30 พ.ย.2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ไม่รวมถึงการกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ-การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือเป็นการกระทำที่ส่งผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 5ราชบัญญัติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าเป็นหลักการเดียวกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ที่มี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ เป็นประธาน ซึ่งได้ศึกษามากว่า 1 ปี และได้เสนอต่อที่ประชุม สปช.เมื่อปลายปี 2558 และที่ประชุม สปช.ก็ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ไม่มีเสียงค้านแม้แต่คนเดียว จากนั้นได้เสนอไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการ แต่กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

นายอดุลย์กล่าวว่า กรณีที่มีท้วงติงเกรงว่าจะซ้ำรอย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยนั้น ต้องขอขอบคุณสำหรับความห่วงใย แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดความผิดพลาด เพราะนายทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการนิรโทษกรรมให้ตัวเองพ้นผิด ไม่ใช่ทุกฝ่ายไม่อยากทำให้เกิดความปรองดอง แต่หากทำตามข้อเสนอแนะของ กก.ปรองดอง ชุด ดร.เอนก เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาอย่างแน่นอน ส่วนที่บอกว่าต้องรอสัญญาณพิเศษก่อนนั้นยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เป็นเพียงการแอบอ้างเท่านั้น ขอทุกฝ่ายอย่าดึงสถาบันมายุ่งเกี่ยว

“ต้องชื่นชมหมอระวี ที่เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เพื่อให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ พรรคการเมืองต่างๆ ควรสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ และผลักดันให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้ง จะทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งมีความเป็นประชาธิปไตย และมีเสรีภาพอย่างอย่างแท้จริง จะไม่มีการกล่าวโจมตีกัน ใส่ร้ายกันให้เกิดความขัดแย้งบานปลายร้าวลึกอีก หลังการเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองก็จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลให้มีเสถียรภาพ และบริหารบ้านเมืองให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนทุกฝ่ายได้ สังคมไทยก็จะเกิดสันติสุข และขอย้ำว่าเรื่องมาตรา 112 เป็นพระราชอำนาจ หัวหน้ารัฐบาลพูดเองว่าพระองค์ท่านไม่ต้องการให้ใช้มาตรา 112 ดังนั้นทุกๆ ฝ่ายต้องรู้จักรอ อย่าใช้เป็นเงื่อนไขทำลายแนวทางปรองดอง ส่วนนายทักษิณก็ต้องรู้จักรอเช่นเดียวกัน ขอให้นิรโทษกรรมประชาชนก่อน จึงขอให้รู้จักอยู่เป็นอย่างที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร  บอกว่าถ้าฉลาดเกินไปจะกลายเป็นโง่” นายอดุลย์กล่าว

อดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองกล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยมีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าและมั่นคง การสร้างความปรองดองคือ การลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงด้วยการถอดบทเรียนรับรู้และเข้าใจถึงเหตุและผลแห่งความขัดแย้ง การสำนึกรับผิดและการฟื้นคืนความสัมพันธ์ การหาข้อตกลงใหม่ในกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน หากไม่เอาตามแนวทางนี้ บ้านเมืองจะเดินต่อไปไม่ได้ และไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ เสียเวลามา 8 ปีแล้ว โอกาสนี้เหมาะสมที่สุดแล้ว จึงเป็นโอกาสสุดท้ายของรัฐบาลนี้ พรรคการเมือง ส.ส.และ ส.ว.ที่เสนอเรื่องนี้มีหน้าที่ผลักดันต่อรัฐสภาต่อไป ภาคประชาชนก็ต้องร่วมกันสนับสนุน เรียกร้องให้บ้านเมืองเกิดความสามัคคีปรองดองให้ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด