31ส.ส.ไขก๊อกพรึ่บ! ซบ‘ภท.’สภาเหลือ442คน ‘สอท.’ไปต่อรอรวมพรรค

"วิษณุ" เผย กม.ลูกรอนายกฯ ลงนามก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ  ถวาย "เสธ.หิ" อยู่ข้าง "ลุงตู่" ลั่นช่วยรวมไทยสร้างชาติ 100% ตามคาด 31 ส.ส. "ฝ่ายค้าน-รัฐบาล-พรรคเล็ก" ลาออกรอเปิดตัวเข้าภูมิใจไทย "สนธิรัตน์" เสียงแข็ง "สอท." แพไม่แตก ดีลรวมพรรคคืบหน้า "ตั๊น" โต้ถูกโยงเป็นกบฏล้ม "จุรินทร์" จี้ "อีแอบ" หยุดสร้างความแตกแยก "พิธา" หวานขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คิดเหมือน พท. "หมอระวี" ดิ้นตั้งกลุ่ม "อัมโน ไม้ซีกงัดไม้ซุง" รวมพรรคเล็กสู้บัตรสองใบ

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 14 ธ.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่อยู่ในมือรัฐบาลว่า ขณะนี้รอเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางกลับจากปฏิบัติภารกิจร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 12-15 ธ.ค. ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม 

"เมื่อนายกฯ เดินทางมาถึง ก็จะลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป" นายวิษณุกล่าว

มีรายงานว่า ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางกลับจากประเทศเบลเยียม มีกำหนดการลงพื้นที่ จ.เชียงรายในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ พร้อมด้วยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย,  นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และคณะ โดยช่วงเช้าเดินทางไปที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย เพื่อเป็นประธานเปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand-Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF2022) และเยี่ยมชมนิทรรศการการแข่งขันการออกแบบเกม

ช่วงบ่ายจะเดินทางไปศูนย์ฝึกอบรมผาหมี ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อเยี่ยมชมโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้พืชมูลค่าสูง ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่สร้างรายได้ ลดปัญหาความยากจนและสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน

ขณะที่นายหิมาลัย ผิวพรรณ หรือเสธ.หิ อดีตนายทหารชื่อดัง และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการทำงานการเมืองว่า ตนไปช่วยงานการเมืองพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แน่นอน แต่เป็นการไปช่วยส่วนตัวในฐานะกองเชียร์ และไม่ได้มีตำแหน่งในพรรค 

ถามว่าอยู่กับลุงตู่ใช่หรือไม่ นายหิมาลัยกล่าวว่า ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เพราะการทำงานของตนยึดหลัก 3 ประการ คือ กตัญญู สัจจะและการเมือง  ในฐานะที่เคยเป็นรุ่นน้องทหารเสือฯ ร.21 รอ. กับ พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ รวมทั้งการรักษาสัจจะในการทำงานการเมืองด้วย

"พรรค รทสช.มีโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งมากกว่าที่มีการประเมินกัน แต่ตอนนี้ยังฟันธงไม่ได้ เพราะต้องรอกฎหมายลูกประกาศใช้ มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และการออกระเบียบต่างๆ ให้จบก่อน" นายหิมาลัยกล่าว

นายหิมาลัยกล่าวว่า จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาทำให้เกิดความสงสัยและเกิดคำถาม 3 ข้อเกิดขึ้น คือ 1.เมื่อคนไทยในประเทศเลือกผู้สมัครคนนี้มา แต่เมื่อบัตรจากต่างประเทศมาเปลี่ยนผลการเลือกตั้งในประเทศ อย่างนี้เป็นตรรกะหรือไม่ เพราะคนที่เลือกในต่างประเทศเขาก็ไม่ได้มาเสียภาษีในประเทศไทย แต่คนที่ได้รับผลกระทบคือคนที่อยู่ตรงนี้แต่เลือก ส.ส.ของตัวเองไม่ได้ คนที่ได้เป็น ส.ส. ก็ไม่ตรงกับความต้องการของคนในเขตนั้น

2.ไม่ควรจัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร หรือการเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศทุก เพราะเป็นการสิ้นเปลือง ถ้าจะจัดก็ควรให้สิทธิเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าหากคนไทยให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและสิทธิของตัวเองก็ควรกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ 3.การกำหนดผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปี เพื่อลงคะแนนกำหนดอนาคตประเทศชาติได้ แต่ขณะเดียวกันกลับเลือกอนาคตของตัวเองไม่ได้ ต้องไปรอ 20 ปี  

 “การเมืองในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งปี 62 ที่มีคนรุ่นใหม่มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น และให้ความสำคัญกับนโยบายพรรคมากขึ้นด้วย แต่ขอตั้งข้อสังเกตอีกเรื่องคือ การให้บุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิเลือกตั้งชี้ชะตาอนาคตประเทศได้ แต่ขณะเดียวกันกฎหมายประเทศไทยระบุให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะต้องอายุ 21 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถทำนิติกรรมในทางกฎหมายได้ ถือเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกัน ผมไม่ได้เรียกร้องให้หน่วยงานไปพิจารณา แต่เป็นข้อสงสัย และกลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้น" นายหิมาลัยกล่าว

31 ส.ส.ลาออกซบ 'ภท.'

ที่รัฐสภา มีรายงานว่าหลังจากที่มีกระแสข่าวจะมี ส.ส.ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งจำนวนมากในวันที่ 13-14 ธ.ค.เพื่อเตรียมไปเปิดตัวกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในการประชุมพรรควันที่ 16 ธ.ค.นั้น ล่าสุด วันที่ 14 ธ.ค. ได้มี ส.ส.จำนวน  31 คน ยื่นหนังสือลาออกต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ  11 คน ได้แก่ 1.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. 2.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. 3.น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. 4.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 5.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ 6.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม 7.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 8.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก 9.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี 10.นายธรรมวิชญ์  โพธิพิพิธ  ส.ส.กาญจนบุรี 11.นายอัฎฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 

 พรรคเพื่อไทย จำนวน 7 คน ได้แก่ 1.นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ 2.นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. 3.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 4.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี 5.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก 6.นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา 7.นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา

พรรคก้าวไกล 5 คน ได้แก่ 1.นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี 2.นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย 3.นายพีรเดช คําสมุทร ส.ส.เชียงราย 4.นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5.นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

พรรคเศรษฐกิจไทย 2 คน ได้แก่ 1.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 2.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี, พรรคชาติพัฒนา 1 คน ได้แก่ นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร, พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน ได้แก่ น.ส.นันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ, พรรคเพื่อชาติ 1 คน  ได้แก่ นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ, พรรครวมพลัง 1 คน  ได้แก่ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน ได้แก่ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย อดีต ส.ส.อุบลราชธานี ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ ให้มีผลในวันที่ 13 ธ.ค.2565 และพรรคเสรีรวมไทย 1คน ได้แก่ นายเดชทวี ศรีวิชัย อดีต ส.ส.ลำปาง พรรคเสรีรวมไทย ให้มีผลวันที่ 14 ธ.ค.2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลาออกดังกล่าวส่งผลให้เหลือ ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 442 คน

นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงส.ส.ในกลุ่มทั้ง 8 คนว่า ได้ยื่นใบลาออกจากพรรคแล้ว เข้าใจว่าฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนวันที่ 16 ธ.ค.พรรค ภท.จะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นั้น อย่างคนที่มีความชัดเจนแล้วไม่ติดอะไรก็สามารถไปได้ ถ้าลาออกแล้วไปสมัครและสวมเสื้อพรรค ภท. ซึ่งจะไม่มีประเด็น ส่วนคนที่ยังมีความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ก็ต้องระมัดระวัง แต่ไปร่วมงานแสดงความยินดีได้ ไม่มีปัญหา

"การไปพรรค ภท.ไม่มีเงื่อนไข เราดูนโยบายเป็นหลัก ถ้าดูนโยบายขณะนี้จากกลุ่มฐานประชากรเราส่วนใหญ่ ซึ่งภาคตะวันตกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำสวนพืชไร่ ถามชาวบ้านตอนนี้ค่อนข้างจะพึงพอใจกับนโยบายพรรค ภท.ค่อนข้างมาก และอาจมีประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกันบ้าง ก็ต้องยอมรับ ทับซ้อนกันกับพรรคเดิม และที่แยกตัวไปจากพรรค พปชร.ไปพรรครวมไทยสร้างชาติแค่บางส่วน คนที่เป็นผู้แทนเก่าก็ไม่มีทางเลือก ต้องไปหาพรรคสังกัดใหม่ ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่มีที่ลง" นายสุชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.ทั้ง 8 คน ประกอบด้วย 1.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 2.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม 3.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 4.นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี 5.นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี  6.นายธรรมวิชญ์  โพธิพิพิธ ส.ส. กาญจนบุรี 7.นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี และ 8.พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี

ด้าน นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตนและนางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย จะยังไม่ยื่นใบลาออกจากส.ส. เพราะกรณีของตนจะส่งนางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ ภรรยา ลงสมัคร ส.ส.แทนในการเลือกตั้งสมัยหน้า เช่นเดียวกับนางผ่องศรี จะส่งนายปวีณ แซ่จึง ลงสมัคร ส.ส.แทนในสมัยหน้า จึงไม่มีความจำเป็นต้องลาออกจาก ส.ส. เพราะไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.ไว้ รอให้มีการยุบสภา หรือสภาอยู่ครบวาระค่อยย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย แต่ในวันที่ 16 ธ.ค. จะยังคงไปเปิดตัวร่วมกับพรรคภูมิใจไทย

'ตั๊น'ปัดกบฏไล่จุรินทร์

ที่พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค สอท. กล่าวถึงข่าวการควบรวมพรรคชาติพัฒนากล้าว่า พรรคยังเดินหน้าทางการเมืองเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พรรคอยู่ในการปรับยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับสถานการณ์ ส่วนกรณีการพูดคุยเจรจากับพรรคการเมืองตามเป็นข่าวนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งคาดว่าพรรคจะมีการเปิดเผยข่าวดีในเร็วๆ นี้

ถามถึงการลาออกของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคและประธานยุทธศาตร์ภาคใต้ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า เป็นการแยกจากกันด้วยดี และมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน ด้านการบริหารโครงสร้างที่วางไว้มีความพร้อมรับการปรับเปลี่ยนแปลง และไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการทำงานของพรรค ทั้งในส่วนภาพรวมและในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากพรรคมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่ทำงานร่วมกับพรรคยังเดินหน้าตามทิศทางของพรรคต่อไป และมีผู้ที่จะมารับผิดชอบงานในส่วนของนายนิพิฏฐ์อยู่แล้ว ซึ่งไม่ทำให้การดำเนินงานของพรรคเกิดการสะดุดหรือมองว่าเป็นอุปสรรคปัญหาใดๆ อีกทั้งหากปรับยุทธศาสตร์เรียบร้อยพรรคจะเข้มแข็งมากขึ้นในพื้นที่ภาคใต้

 “การลาออกของคุณนิพิฏฐ์ ผมมองว่าก็เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ซึ่งพรรคก็ยอมรับในการตัดสินใจ และยืนยันว่าไม่ได้มีข้อขัดแย้งใดๆ กับคุณนิพิฏฐ์ สำหรับตัวผู้แสดงเจตจำนงเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคใต้ ในตัวหลักยังดำเนินการทางการเมืองร่วมกันต่อไป” เลขาฯ พรรค สอท.กล่าว

วันเดียวกัน น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกระแสข่าวเป็น 5 ใน 6 คนของรองเลขาธิการพรรค ที่ร่วมก่อการเข้าชื่อเพื่อกดดันให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป.ลาออกจากตำแหน่งว่า ขอปฏิเสธไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวดำเนินการใดในพรรคในลักษณะที่ถูกโยงชื่อและภาพข่าวตามที่ถูกกล่าวหา เพราะตระหนักดีว่าในช่วงเวลาที่เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งที่ทุกพรรคการเมืองต้องเตรียมความพร้อม ทั้งนโยบายในการรณรงค์หาเสียงและคัดสรรว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในนามพรรคเพื่อสู้ศึกการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จึงไม่ใช่เวลาที่จะมาสร้างข่าวหรือสร้างความแตกแยกด้วยการตอกลิ่มเพิ่มขึ้นในพรรค

"มีจุดยืนที่มั่นคงและชัดเจนมาตลอด โดยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อก่อนหน้านี้แล้วไม่คิดจะย้ายพรรคไปอยู่พรรคอื่น ยังขอทำงานให้พรรคตามที่ได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคและผู้ใหญ่ในพรรคโดยทำหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนอย่างเต็มที่และดีที่สุด พร้อมที่จะร่วมสู้ศึกเลือกตั้งร่วมกับพรรค ปชป. จึงขอเรียกร้องให้สมาชิกพรรคบางคน บางกลุ่มยุติพฤติกรรมการปล่อยข่าวที่ต้องการสร้างความแตกแยก หรือใช้สถานการณ์นี้สร้างเงื่อนไข หรือเรียกร้องผลประโยชน์ส่วนตัวโดยสร้างความเสียหายต่อพรรคของเราทุกคน" น.ส.จิตภัสร์กล่าว

ส่วนนายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ปชป.วันนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร ตนยังยืนยันว่าผู้นำพรรคในการสู้ศึกเลือกตั้งรอบต่อไปชื่อนายจุรินทร์อย่างแน่นอน และแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรค ปชป.ก็ต้องชื่อจุรินทร์ เพราะชั่วโมงนี้ท่านยังเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดในพรรค

 “ขอให้พี่น้องชาวใต้มั่นคงและมั่นใจกับประชาธิปัตย์ พรรคผูกพันกับพี่น้องชาวใต้มาอย่างยาวนาน แต่เป็นธรรมชาติของพรรคที่เป็นสถาบันการเมืองที่มีอายุมากกว่า 76 ปี ย่อมมีขึ้นมีลงบ้างเป็นธรรมดา แต่วันนี้แม่ทัพภาคใต้ชื่อเดชอิศม์ ขาวทอง ผมต้องเปลี่ยนแปลงภาคใต้ให้ได้อย่างแน่นอน เราไม่ได้หวังเพียงชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เราต้องการฟื้นฟูภาคใต้ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองด้วย” นายเดชอิศม์กล่าว

'หมอระวี'ดิ้นสู้บัตรสองใบ

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศนโยบายค่าแรงวันละ 600 บาทว่า นโยบายค่าแรงเป็นสิ่งที่พรรคและพรรค พท.มีความคิดเห็นตรงกัน เป็นสิ่งที่อยากจะชวน พท.มาทำร่วมกันในระบบประชาธิปไตยที่มีระบบรัฐสภา ซึ่งสามารถเสนอนโยบายของแต่ละพรรคได้ เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดกับประชาชน ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทั้งสองพรรคเห็นผู้ใช้แรงงานเป็นจุดศูนย์กลาง ฉะนั้นในภาพใหญ่เรายืนยันเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ พท.มาโดยตลอด รวมถึงในอนาคตอาจจะมีบางอย่างที่เห็นไม่ตรงกันบ้างในเรื่องของการทำงาน แต่คิดว่าน่าจะหาจุดร่วมกันได้ ที่เห็นตรงกันชัดเจนที่สุดคือสวัสดิการความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ใช้แรงงาน

 “ผมขอยืนยันเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ พท.มาตลอด ตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันและหวังว่าในอนาคต เมื่อเราเริ่มแถลงนโยบายก็มีหลายเรื่องที่เห็นตรงกัน ถ้าเราเป็นรัฐบาลร่วมกันก็สามารถที่จะแบ่งงานกันทำได้ และทำงานไปในทิศทางเดียวกัน” นายพิธากล่าว

ถามว่า หากมีการขึ้นค่าแรงอาจจะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและอาจจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ นายพิธากล่าวว่า ขณะนี้ค่าแรงเท่าเดิมเงินก็เฟ้ออยู่แล้ว ความจริงเงินเฟ้อก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าแรงเพียงอย่างเดียว คิดว่าหากขึ้นค่าแรงรัฐบาลจะต้องช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อให้เกิดการปรับตัว และที่สำคัญในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงควรจะสม่ำเสมอและอัตโนมัติ ไม่ใช่มีการเลือกตั้งก็กระชากขึ้นจะทำให้เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นปัญหาก็จะกลายเป็นปัญหา หากเรายึดให้ค่าแรงของประเทศขึ้นตามค่าเงินเฟ้อ หรือจีดีพีอัตโนมัติทุกปี ตนคิดว่าจะเกิดความยั่งยืนมากขึ้น และผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีจะน้อยลง

ที่รัฐสภา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า กลุ่มพรรคเล็กในระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบและหาร 100 สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองคือการควบรวมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในรูปแบบอัมโนแบบไทยๆ (United Management National Organization : UMNO) ตามหลักการไม้ซีกงัดไม้ซุง เราจึงชักชวนพรรคการเมืองต่างๆ 20 พรรคมารวมกลุ่มกัน โดยเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ได้ตอบรับมาแล้ว 6 พรรค คือ พรรคกรีน พรรคไทยชนะ พรรคไทยรุ่งเรือง พรรคไทยรวมไทย พรรรคไทยรุ่งโรจน์ และพรรคพลังธรรมใหม่

นพ.ระวีกล่าวว่า เพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทั่วประเทศ พรรคการเมืองที่มีแนวคิดสอดคล้องกันหลายพรรค จึงยึดถือหลักการมีจุดยืนส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง จึงขอเรียกร้องให้คนไทยมีความรักสามัคคีต่อกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราจะเป็นกลุ่มกลางทางการเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ มุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และอยากเรียกร้องประชาชนทั่วประเทศที่มีความเป็นกลาง ออกมาแสดงจุดยืน และขอให้โอกาสเลือกพรรคการเมืองที่เป็นกลาง เราจะมุ่งมั่นตั้งใจแน่วแน่เพื่อให้เกิดกลุ่มการเมืองที่เป็นกลาง และมุ่งไปสู่ยุคฟ้าสีทองผ่องอำไพ เราไม่ได้คิดที่จะมารวมเพื่อรอดตายจากรัฐธรรมนูญใหม่ แต่มารวมกันเพื่อความรอดของประชาชน ซึ่งประชาชนจะได้นโยบายที่จับต้องได้

"ตอนนี้พรรคเล็กในสภาที่ประกาศจะสู้ด้วยตัวเองมี 3 พรรคคือ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคเพื่อชาติไทย ส่วนพรรคพลังธรรมใหม่จะขอร่วมกลุ่มกับพรรคที่อยู่นอกสภา ซึ่งเป็นการจับมือที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้ยังคงเปิดรับพรรคที่จะมารวมกลุ่มกัน" นพ.ระวีกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคาะ‘กริพเพน’ แทนขับไล่F16 ออปชันจัดเต็ม

ทอ.เคาะเลือก "JAS 39 Gripen   E/F"  บินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ หลัง “สวีเดน” จัดเต็มทั้งให้ลิขสิทธิ์ลิงก์-จรวดนำวิถีตัวเก่ง-offset policy ถึงแม้สหรัฐเสนอ Link 16 ฟรีให้ไทย

รับรอง‘ปชช.’เท้งผู้นำค้าน

ด้อมส้มเฮ! กกต.รับรองพรรคประชาชนแล้ว ปธ.วิปฝ่ายค้านยัน "ผู้นำฝ่ายค้าน"  เป็น "เท้ง" รอแต่งตั้งหลังรัฐบาลแถลงนโยบาย 

พท.ปิดฉากบ้านป่า! เขี่ยทิ้ง‘พปชร.’ดึง‘ปชป.’เสียบตกรางวัล‘ธรรมนัส’3เก้าอี้

อัปเปหิพลังประชารัฐแล้ว ปิดสวิตช์  "วงษ์สุวรรณ" ตามบัญชานายใหญ่ “กก.บห.” อ้าง   สส.ไม่สบายใจในการทำงานร่วมกัน