นิด้าโพลเผย ปชช.ไม่เชื่อ “พปชร.”-“พท.” จับมือเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เพราะอุดมการณ์แตกต่างกัน ขณะที่ซูเปอร์โพลยก “อนุทิน” อันดับหนึ่งแคนดิเดตนายกฯ แก้ปัญหาปากท้อง
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง 6 พรรคกับโอกาสได้เป็นรัฐบาล โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทางโทรศัพท์ทั่วประเทศ จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง
โดยการสำรวจให้ประชาชนวิเคราะห์ถึงโอกาสที่พรรคการเมือง 6 พรรค ซึ่งกำลังมีกระแสข่าวการไหลเข้า-ออกของนักการเมืองจะได้เป็นรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า คือ 1.พรรคเพื่อไทย (พท.) 40.38% ระบุว่าโอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก, 32.44% ระบุว่าได้เป็นรัฐบาลแน่นอน, 16.88% ระบุว่าโอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย และ 8.24% ระบุว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน 2.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 31.45% โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย, 30.23% โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก, 23.66% ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน และ 11% ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน 3.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 33.51% ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน, 32.60% โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย, 20.38% โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก และ 10.76% ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน
4.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 43.12% ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน, 31.45% โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย, 15.73% โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก และ 5.73% เป็นรัฐบาลแน่นอน 5.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 39.16% โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย, 30.84% ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน, 21.60% โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก และ 4.96% ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน 6.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 40.69% โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย, 38.93% ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน, 13.20% โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก และ 4.58% ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน
ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อกระแสข่าวข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่างพรรค พปชร. กับพรรค พท. ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า 45.65% ระบุว่าไม่เชื่อเลย เพราะเป็นเพียงแค่กระแสข่าวลือ โอกาสเป็นไปได้ยากเนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน, 29.24% ไม่ค่อยเชื่อ เพราะทั้งสองพรรคต่างต้องการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของตนเอง, 16.64% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการหาผลประโยชน์, 5.19% ระบุว่าเชื่อมาก เพราะหัวหน้า พปชร.กับพรรค พท.เคยมีความสัมพันธ์กันในอดีต
อีกด้าน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจเรื่อง เปิดใจคนไทย อนาคตการเมือง กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,028 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเชื่อมั่นช่วยแก้ปัญหาปากท้อง รายได้ และปัญหาหนี้สินของประชาชนได้ พบว่า เกินครึ่งหรือ 50.7% เชื่อมั่นนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. รองลงมาคือ 47.2% เชื่อมั่น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรค พท., 46.4% เชื่อมั่นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป., 19.8% เชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ 17.6% เชื่อมั่นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรค ก.ก.ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ อะไรที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือ 59.8% ระบุปัญหาเดือดร้อนที่กำลังเจอเป็นอะไรที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง, 56.9% ระบุพรรคการเมืองเป็นอะไรที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง, 52% ระบุแคนดิเดตนายกฯ และแกนนำพรรคการเมือง, 51.8% ระบุนโยบายพรรคการเมืองที่บอกประชาชน และ 46.7% ระบุผู้สมัครรับเลือกตั้ง
เมื่อถามถึงผู้นำพรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลและทำได้จริงตามที่พูด พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 47.8% ระบุนายอนุทิน, 44.9% ระบุ น.ส.แพทองธาร, 44.4% ระบุนายจุรินทร์ ในขณะที่ 17.2% ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ และ 14.5% ระบุเป็นนายพิธา
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีคะแนนนิยมลดลง ตกไปอยู่อันดับท้ายๆ ของตารางผลสำรวจครั้งนี้ น่าจะมาจากปัจจัยสำคัญคือความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนเรื่องปัญหาปากท้อง รายได้ ค่าครองชีพ อาชีพการงาน ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้อาจมีจุดอ่อนด้านทีมเศรษฐกิจ และปัญหาขัดแย้งแยกทางกันเดินระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้แฟนคลับผิดหวังพลังสนับสนุนอ่อนลง เป็นต้น ผลที่ตามมาคือ ประชาชนส่วนใหญ่กำลังมองหาผู้นำประเทศคนใหม่ที่เป็นความหวังและเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาปากท้องและอื่นๆ ที่สำคัญต่อชีวิตของประชาชนแทนคนเดิมที่อยู่มาช้านานก็เป็นไปได้
ขณะที่นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หัวหน้าพรรคเทิดไท และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ กล่าวถึงสำนักวิจัยซูเปอร์โพลถึงผลสำรวจประชาชนพบว่านักการเมืองต้นแบบ ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อหน้าที่ แก้วิกฤตต่างๆ อันดับแรกคือ นายกฯ ประยุทธ์ ว่า นายกฯ ทำงานอย่างโปร่งใส ไม่คดโกง ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เอามาเป็นผลประโยชน์ของตัวเองเลย มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันมาโดยตลอด ไม่เหมือนบางรัฐบาลที่บริหารประเทศจนถูกดำเนินคดีจากการทุจริต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กต่อแจงบ้านลอนดอน รมว.ดีอีดีดรับพ่อนายกฯ
ป.ป.ช.เปิดขุมทรัพย์ “บิ๊กต่อ” หลังพ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. ทรัพย์สิน 209 ล้าน
ภท.เฮรอดคดียุบพรรค! อิ๊งค์ขอเริ่มทำงาน2ม.ค.
“ภท.” เฮ รอดยุบพรรค กกต.ยุติสอบ “วันนอร์” ไม่หวั่นถูกเลื่อยขาเก้าอี้
ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3
“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด
ชวนบี้แก้ปมท้องถิ่นชิงลาออก
“แสวง” ลงพื้นที่ปราจีนบุรี ส่องรับสมัครนายก อบจ.วันสุดท้าย
จี้สอบ6ข้อป่วยทิพย หวั่น‘สมศักดิ์’แทรกแซง/‘แม้ว’ถก‘อันวาร์’เรื่องอาเซียน!
"บิ๊กป้อม" เลี่ยงเผชิญหน้า "ทักษิณ" ยกเลิกร่วมงานอวยพรครบรอบ 75 ปี
'นพดล' ฟังทางนี้! 'หมอวรงค์' จับโป๊ะ คำชี้แจง 'MOU 44'
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ถึงนพดล ปัทมะ" โดยระบุว่า คำพูดของนายนพดล ปัทมะ ที่ชี้แจงพันธมิตรฯ เรื่อง MOU 44