“จุรินทร์” เห็นด้วยกับ “ชวน” แนะ “บิ๊กตู่” ลงมาคุมเสียงในสภา “นิกร” รับน่าห่วง หากสภาล่มต่อเนื่องอาจเป็นปัจจัยบีบให้ยุบสภา ชี้ส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายลูกทำให้ ส.ส.ต้องย้ายพรรคอุตลุด “เด็ก พปชร.” จี้ประธานสภาฯ เปิดรายชื่อประจาน
เมื่อวันอาทิตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความเป็นห่วงต่อองค์ประชุมในการประชุมสภาว่า เป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง เพราะนายชวนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และมีความปรารถนาดีต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งองค์ประชุมสภาถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.และ ส.ว. ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นการประชุมเรื่องใด และทุกฝ่ายต้องมีหน้าที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งพรรค ปชป.ไม่มีปัญหาอะไร ทุกคนทราบภารกิจดีเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง พร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เพราะเราทราบภารกิจเป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นสิ่งที่เรากำชับไว้ตั้งแต่วันแรกหลังการเลือกตั้ง
“ข้อแนะนำของนายชวนที่ให้นายกรัฐมนตรีไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรนั้น ก็เป็นหน้าที่ของนายกฯ ส่วนหนึ่งด้วย ในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร เพราะนายชวนก็เป็นประธานฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งในระบบนี้ต้องทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นหากนายกฯ จะช่วยกำชับด้วยอีกแรง ก็จะเป็นเรื่องที่ดี” นายจุรินทร์ระบุ
นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงกระแสยุบสภาว่า ยังไม่มีสัญญาณอะไรจากนายกฯ แต่การเมืองไม่แน่นอน เหมือนที่นายชวนพูดไว้ ซึ่งเห็นด้วย 100% เพราะมันไม่มีหลักประกันอะไรว่าอุบัติเหตุมันจะเกิดหรือไม่เกิด หรือมันจะเกิดตอนไหน ทุกฝ่ายก็ต้องเตรียมพร้อม พรรคการเมืองก็ต้องเตรียมพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใกล้เดินหน้าไปสู่การครบวาระของสภาสมัยนี้ มันอาจครบหรือไม่ครบ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งหมด
ขณะที่นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวในประเด็นนี้ว่า นายชวนพูดหลายครั้งแล้วในเรื่ององค์ประชุม โดยเฉพาะเรื่องการเอาชื่อมาเปิดเผยว่าใครอยู่หรือไม่อยู่ในสภาบ้าง แต่ก็ไม่ยอมทำ ซึ่งก็ไม่เข้าใจ แล้วคนที่หายไปสังกัดพรรคไหน ก็ให้ลองเดากันดู แต่เราก็มั่นใจว่าเราอยู่ตลอด แต่คนที่ไม่อยู่ก็มาหาเสียงกันล่วงหน้า ในขณะที่มีคนทำงานอยู่ในสภาอย่างเต็มที่ มันก็อยู่ที่จิตใต้สำนึกของความเป็นผู้แทน
นายสัณหพจน์กล่าวต่อว่า หน้าที่หลักของคนเป็นผู้แทนราษฎรก็คืองานออกกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติในสภา และงานในพื้นที่ก็เป็นสิ่งที่ต้องประสานงานกับประชาชน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ แต่ไม่ใช่ว่าเอาเวลางานในสภาไปหาเสียง แล้วไม่มีความรับผิดชอบในสภา ทั้งนี้ คนที่ไม่รับผิดชอบก็เป็นกลุ่มเดิมๆ
"ผมก็อยากให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อ และประกาศให้ประชาชนรู้ แต่เขาก็ไม่ยอมทำ เห็นแต่พูด สุดท้ายก็ไม่ยอมทำ ซึ่งผมก็จะทำอย่างไรล่ะ ผมไม่ใช่ประธานสภาฯ" นายสัณหพจน์กล่าวพร้อมหัวเราะ
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ยอมรับว่า เห็นตรงกับนายชวน ซึ่งท่านเป็นประธานสภาฯ ก็ต้องห่วงงานของสภา เป็นสภาวะที่น่าห่วงจริง ในขณะที่ ส.ส.เองเขาก็ห่วงเรื่องการเมืองด้วย เพราะการเมืองคือการเมือง สภาคือสภา และเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นในตัวสภาจึงมีปัญหา ซึ่งเราก็โทษ ส.ส.ไม่ได้ เพราะเขาก็ต้องเตรียมการเพื่อการเลือกตั้ง ส.ส.ที่อยู่ในพื้นที่จึงต้องรักษาสถานะความเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง
นายนิกรชี้ว่า ส.ส.ที่กำลังคิดย้ายพรรคครั้งนี้จะเกิดขึ้นมาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบกฎหมายเลือกตั้ง จึงมีแรงส่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ขนาดคนที่อยู่ในพรรคเดิมยังต้องออกไปหาเสียง แล้วนับประสาอะไรกับคนต้องเปลี่ยนพรรค ที่ต้องทำงานเป็นสองเท่า ทำให้สภามีปัญหาเรื่ององค์ประชุม เพราะจำนวน ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลในสภาจะลดลง ถ้ากึ่งหนึ่งก็พอประคองได้ แต่ถ้าฝ่ายรัฐบาลลดไปมากจะมีปัญหา เสียงของรัฐบาลจะไม่พอสู้กับฝ่ายค้าน จะลำบาก ปริ่มน้ำ ทำให้มีปัญหามากในสภา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองโดยที่คอนโทรลไม่ได้
“ถ้าสภายังล่มอยู่แบบนี้ การพูดถึงการยุบสภามันก็มี เพราะสภาไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น แต่จะมีปัญหาที่สาหัสอยู่มากคือกฎหมายลูก 2 ฉบับยังไม่ประกาศใช้ หากยุบสภาตอนนี้จะเกิดปัญหาตามมาเยอะมาก เพราะฉะนั้นอาจจำเป็นต้องทำใจ ตอนนี้จึงต้องทนๆ กันไป ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เท่าที่โอกาสและปัจจัยเป็นแบบนี้ เราระงับปัญหาไม่ได้ จึงต้องรอกฎหมายลูก 2 ฉบับก่อน” นายนิกรระบุ
นายนิกรยอมรับว่า เป็นห่วงมากว่าสถานการณ์มันพร้อมจะยุบสภา แต่จะยุบเมื่อไหร่อาจไม่ได้อยู่ที่นายกฯ คนเดียวแล้ว อยู่ที่สถานการณ์ในสภาด้วย แม้ไม่อยากยุบก็ต้องยุบ ถ้าย้ายพรรค 2 ข้างพอๆ กัน เสียงของ ส.ส.ที่เอามานับก็ลดลงทั้งคู่ อันนี้เสมอกัน แต่กลัวว่าถ้าฝ่ายรัฐบาลย้ายมากกว่า เสียงฝ่ายค้านที่เคยอยู่แต่จะย้ายออกเหมือนพวกงูเห่า เมื่อไม่อยู่แล้วแกนเสียงก็จะเปลี่ยนไปทันที ถ้าฝ่ายรัฐบาลเป็นเสียงข้างน้อยแล้วสภาจะไปต่ออย่างไร สถานการณ์จึงคับขัน น่าห่วง อยากให้ทนๆ กันไป
นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย กล่าวว่า เป็นเกมการเมือง ซึ่งประชาชนจดจ้อง จดจำ เฝ้าติดตามดูอยู่ตลอดเวลา ว่าคนไหน พรรคไหน ทำให้สภาล่ม เพื่อหวังผลทางการเมือง และเชื่อว่านายกฯ จะไม่ยุบสภาในช่วงนี้ คาดว่าจะเป็นกลางเดือน มี.ค.2566 ก่อนครบวาระ ซึ่งเป็นเทคนิคทางการเมือง ถึงแม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคจะมีปัญหาความขัดแย้งกัน ถือว่าเป็นสีสันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คงประคับประครองรัฐบาลกระทั่งเวลาที่เหมาะสม และขึ้นอยู่กับนายกฯ คนเดียว จะตัดสินใจจะยุบสภาเมื่อไหร่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน