"ทิพานัน" โชว์ภาคธุรกิจ 112 องค์กรจ่อขึ้นเงินเดือน-โบนัส สะท้อนผลสำเร็จนโยบาย ศก."บิ๊กตู่" อนุทินถามขึ้นค่าแรง 600 บาท ฟังดูดีแต่ทำได้หรือไม่ "อดีตรองโฆษก ปชป." ห่วงผลักภาระเอกชน "สนธิญา" ร้อง กกต.สอบนโยบาย พท. ขายฝัน "ทีม ศก.พท." ดาหน้าการันตี 600 บาททำได้แน่ "ชลน่าน" รับเป็นภาพฝันที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2570 "กิตติรัตน์" ยกสมัยยิ่งลักษณ์เคยทำสำเร็จมาแล้ว "ก้าวไกล" อบรมสมาชิกบังอาจวิจารณ์ขึ้นค่าแรงเพื่อไทย "จตุพร" ปูดจับตา 13 ธ.ค.นโยบาย 600 บาทจะถูกหักล้าง
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย (พท.) เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาของประชาชนว่า น.ส.แพทองธารต่างหากที่ต้องชัดเจน การเข้ามาการเมืองเพื่อพาพ่อกลับบ้านหรือเพื่อประชาชน เพราะสิ่งที่สังคมสงสัยคือมาเพื่อประโยชน์ของครอบครัวตนเอง ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่าทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและคนไทยทุกคน ไม่เคยเอาประชาชนมาเป็นหมากในเกมการเมือง
น.ส.ทิพานันกล่าวว่า พรรค พท.ดูแคลนความสามารถการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งที่สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เปิดเผยแนวโน้มการปรับอัตราค่าตอบแทนรวม ประจำปี 2565/2566 อย่างเป็นทางการ จากการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกในกลุ่มเป้าหมาย 112 องค์กร จากภาคธุรกิจต่างๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและบริการ ยานยนต์ เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และเทคโนโลยี พบแนวโน้มการปรับตัวของอัตราค่าตอบแทนที่ขยับขึ้นสูง โดยในปี 2566 คาดการณ์องค์กรธุรกิจต่างๆ จะมีการปรับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.27% ขณะที่คาดการณ์โบนัสคงที่ 1.44 เดือน คาดการณ์โบนัสผันแปร 2.31 เดือน ตรงนี้คือตัวการันตีการทำงานของรัฐบาลอย่างประจักษ์และชัดเจนมากกว่าสร้างวาทกรรมกล่าวหามั่วๆ ของพรรค พท.
“สิ่งที่อยากจะให้หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยตระหนักในคำพูดว่าเศรษฐกิจไม่ดี ตอบสังคมว่าแล้วทำไมธุรกิจของตระกูลชินวัตรที่อยู่ในไทยกลับมีผลประกอบการที่ดี เช่น โครงการแกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด สุขุมวิท ก็ยังมีกำไรใช่หรือไม่ การที่พรรค พท.โจมตีว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ สวนทางกับข้อมูลที่เผยแพร่ทั่วไปอย่างสิ้นเชิง และการที่ น.ส.แพทองธารจะประกาศนโยบายขายฝันแค่ไหน คิดใหญ่เกินจริงแค่ไหน ก็อย่าให้มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนอดีตพ่อกับอา ที่ในอดีตได้ทุจริตคอร์รัปชันคนไทยไปอย่างมหาศาล และไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นนักโทษหลบหนีคดีร่อนเร่ไปมา ดังนั้นนโยบายที่ประกาศใหม่ ก็อย่าให้สังคมตราหน้าว่าคิดใหญ่โกงเป็นเหมือนในอดีต” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้หัวเราะก่อนตอบคำถามเรื่องนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทของพรรค พท.ว่า ฟังดูดี แต่ทำได้หรือเปล่าไม่รู้ เพราะต้องมีปัจจัยหลายอย่างประกอบ ขอชื่นชมคนที่คิดเรื่องนี้ว่ามีความตั้งใจที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความมั่นคงขึ้น แต่การจะกำหนดเรื่องพวกนี้ต้องมีไตรภาคี และยังมีกระแสที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเท่าที่ได้ฟัง จะมีขั้นตอนดำเนินการเป็นขั้นตอน ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายของแต่ละพรรค ต้องไม่ไปก้าวก่าย
ถามว่า หากประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน นโยบายดังกล่าวจะสามารถทำได้ในปี 2570 หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า อย่าดูแค่เรื่องค่าแรง เพราะการเพิ่มค่าแรงไม่ใช่เพิ่มแค่ผู้ใช้รายงานอย่างเดียว ถ้าขึ้นค่าแรงต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อได้ค่าแรงเพิ่มก็ต้องกลับมาซื้อของที่แพงขึ้น และต้องดูว่าทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นหรือไม่
จี้กกต.สอบนโยบายพท.
“เรื่องนี้ถามผมไม่ได้ เพราะพรรค ภท.ไม่ได้เสนอ ส่วนพรรคที่เสนอคงมีโมเดล วิธีการ และความเชื่อที่ศึกษามาบ้างแล้วจึงต้องให้เขาชี้แจงออกมาก่อน อย่าไปก้าวก่าย เพราะเขาอาจจะถือว่านโยบายนี้เป็นนโยบายนำที่จะชูหาเสียง ถ้าไปบอกว่าดีหรือไม่ดี ในฐานะพรรคการเมืองด้วยกัน หากผมเสนอนโยบายดูแลพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)คนก็ยุ่ง และจะมาบอกว่าคิดคนเดียวอีก เรื่องอย่างนี้ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน”หัวหน้าพรรค ภท.กล่าว
นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง "เป็นทุนนิยมต้องมีหัวใจ แต่การเป็นนักการเมือง ต้องมีหัวใจยิ่งกว่า” ระบุว่า เป็นทุนนิยมต้องมีหัวใจ คือคำประกาศของอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนการออกนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน บนเงื่อนไขถ้าได้เป็นรัฐบาลและอยู่ครบเทอม 4 ปี จะเห็นผลกันได้ก็รอโน่นปี 2570 ซึ่งหลายภาคส่วนออกมาชี้ให้เห็นถึงผลกระทบกันไปแล้ว ทั้งความอยู่รอดของเอสเอ็มอี การย้ายฐานการผลิต ไปจนถึงปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพพุ่ง
นายเชาว์กล่าวว่า ขอชี้ไปที่ประเด็นข้อกฎหมาย และความรับผิดชอบของนักการเมือง เพราะหลังจากนี้พรรคการเมืองคงทยอยขายฝันกันออกมาเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่ กกต.ต้องกำกับดูแล เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (3) ว่ามีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมือง ในการประกาศโฆษณานโยบาย ที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน และในกฎหมายพรรคการเมือง ก็กำหนดไว้ว่า ให้พรรคการเมืองต้องแสดงวงเงินที่ต้องใช้ ที่มาของเงิน ความคุ้มค่าและประโยชน์ รวมถึงผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินตามนโยบายที่หาเสียง เพื่อควบคุมนโยบายที่ใช้จ่ายงบประมาณแบบฟุ่มเฟือย หรือขายฝันทำไม่ได้จริง แต่น่าเสียดายที่ กกต.ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากนโยบายขายฝันในปี 2562 ก็ไม่ถูกตรวจสอบ
“ผมหวังว่า กกต.จะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างกล้าหาญ เอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย หากพบการกำหนดนโยบายเกินจริง ควรออกมาตักเตือนทันที และชี้ให้ประชาชนได้เท่าทันกับกลเกมของพรรคการเมืองต่างๆ ด้วย อย่างกรณีค่าแรง 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนนั้น มีคำอธิบายจากนายทักษิณ ชินวัตร ว่าไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐ ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำพูดที่ไร้ความรับผิดชอบ เพราะนั่นเท่ากับว่าไม่ต้องแจงที่มาของเงินที่จะใช้กับนโยบายนี้ เป็นการผลักภาระให้เอกชน และพูดความจริงไม่หมด” นายเชาว์ระบุ
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบนโยบายการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และการขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับบุคคลที่จบการศึกษาในระดับ ป.ตรี 25,000 บาท ขัดตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่านโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศนโยบายหรือไม่ จึงขอให้ กกต.วินิจฉัย
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายสนธิญายื่นร้อง กกต.ว่า ไม่กังวล สิ่งที่ประกาศเป็นวิสัยทัศน์ คือภาพที่เราฝันให้เป็นจริงที่ตั้งเป้าเอาไว้ภายในปี 2570 ว่าคนไทยและประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เช่น คนที่ทำงาน ควรที่จะได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน คนเรียนจบปริญญาตรีควรได้เงินเดือน 25,000 บาท เมื่อเป็นวิสัยทัศน์และมีกระบวนการการจัดทำนโยบายต่างๆ เสร็จแล้ว หากจะประกาศเป็นนโยบายที่จะใช้รณรงค์หาเสียง ก็ต้องแจ้งไปที่ กกต. เพื่อให้ทราบถึงแหล่งเงิน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด
“แล้วแต่คนจะมอง จะตีความว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ แต่เรามั่นใจว่าเมื่อมาทำหน้าที่เป็นรัฐบาล จะพลิกฟื้นประเทศอย่างไร คนในประเทศจะเป็นอย่างไร แรงงานจะเป็นอย่างไร ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นอย่างไร เป็นภาพที่เราฝันไว้ให้ ซึ่งนายสนธิญาอาจจะมีการเข้าใจอะไรที่คลาดเคลื่อน” หัวหน้าพรรค พท.กล่าว
พท.ดาหน้า 600 บ.ทำได้
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.การคลัง และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทในปี 2570 ว่า คนที่รู้จริงจะสนับสนุนและชื่นใจกับเรื่องนี้ การที่ภาคธุรกิจกำลังแบกรับสภาพความไม่เติบโต และต้นทุนส่วนที่ไม่ใช่ค่าจ้างค่าแรง สูงกว่าที่ควรมายาวนาน เพราะรัฐบาลด้อยคุณภาพ บริหารไม่เป็นจึงอาจทำให้กังวล
“เมื่อปี 2555 เราเคยผลักดันให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท และอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนทั้งระบบ อย่างเป็นผลสำเร็จด้วยดี (แม้เพิ่งจะเผชิญกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่) ไม่มีกิจการที่ไม่สามารถอยู่รอด หรือปรับตัวไม่ได้จากนโยบายนี้ ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการต่างเติบโต และจ้างงานเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงาน ลดจาก 0.7 เหลือ 0.6 ในปีถัดไป เราจะทำให้ผู้ประกอบการเข้มแข็ง ลดภาระที่ไม่จำเป็นลง และสามารถจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนที่สูง (ขึ้น) และสูงขึ้นให้กับคนที่ทำงานให้ท่านได้อย่างไม่ลำบากยากเย็น” นายกิตติรัตน์กล่าว
เช่นเดียวกับ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.การคลัง และสมาชิกพรรค พท.กล่าวว่า มีคนถกเถียงกันมากว่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาทในปี 2570 เป็นไปได้ไหม ภาคธุรกิจจะมีปัญหาหรือไม่ วิเคราะห์เหตุผลตามหลักวิชาการแล้วเป็นไปได้แน่นอน
นายสุชาติกล่าวว่า การพัฒนาประเทศ ให้ทั้งภาคธุรกิจและภาคแรงงาน เจริญเติบโตขึ้น ทำให้รายได้ของชาติ (GDP) เติบโตได้เป็น 5-6% (จากเพียง 2-3% ในปัจจุบัน) ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน ภาคเกษตรกรรม และภาคประชาชนอาชีพอิสระ ทั้งหมดมีรายได้สูงขึ้น ดังนั้นค่าแรงงานขั้นต่ำในอีก 5 ปีข้างหน้า คือในปี 2570 จะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 600-700 บาท จึงเป็นไปได้ ไม่ได้ยากอะไร
“การเพิ่มความเจริญเติบโต (GDP) เป็น 5-6% จะมาจากการสร้างงานใหม่ 20 ล้านตำแหน่ง, การทำเกษตรแม่นยำ, การเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็น 3 ล้านล้านบาท การเพิ่มการส่งออกปีละ 10-15% ซึ่งเราสามารถทำได้อยู่แล้ว เมื่อเราปรับนโยบายให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น มีผู้นำที่มีความน่าเชื่อถือเชื่อมั่น เมื่ออัตราการเติบโตของ GDP สูงขึ้น ภาคเอกชนและประชาชนจะเห็นโอกาสและอนาคต จะมีการลงทุนในระบบดิจิทัลและในเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอีก รัฐบาลก็จะได้ภาษีเพิ่มขึ้นมาก” นายสุชาติกล่าว
ที่พรรคเพื่อไทย ดร.ปิยรัชต์ สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า พร้อมด้วยสมาชิกผู้ใช้แรงงาน ร่วมให้กำลังใจพรรคเพื่อไทยซึ่งได้ประกาศวิสัยทัศน์ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 โดยมีนายสุธรรม แสงประทุม ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย, นพ.ทศพร เสรีรักษ์ รองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย, นายอรรถชัย อนันตเมฆ คณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย ให้การต้อนรับ
ดร.ปิยรัชต์กล่าวว่า ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ขณะนั้นทุกภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ ส่วนหนึ่งคือเพราะนโยบายภาครัฐ มีความสอดรับสนับสนุนกัน ทำให้ภาคธุรกิจเดินต่อไปได้ ในฐานะของผู้ใช้แรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมระดับใหญ่ ค่าจ้างแรงงานระดับแรงงานทั่วไปในปัจจุบันอยู่ที่ 500-600 บาทต่อวันอยู่แล้ว มีความเข้าใจอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่มีความกังวล แต่ก็เชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยได้เตรียมนโยบายสำหรับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อให้เดินต่อไปได้แน่นอน
‘จตุพร’ปูดจับตา13ธ.ค.
ทวิตเตอร์ @MFPThailand ของพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความขอโทษพรรคเพื่อไทย ภายหลังจาก น.ส.ทิพา ปวีณาเสถียร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ลำปาง เขต 1 พรรคก้าวไกล นักธุรกิจโรงน้ำแข็งและน้ำดื่มในจังหวัดลำปาง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุค่าแรงในลำปาง ปี 54 จาก 156-กระโดดเป็น 300, 310, 315- SME ตายเป็นเบือ! ถ้าจาก 315-ขยับเป็น 600-ฉันก็คงไม่รอด!!
ทวิตเตอร์ของพรรคก้าวไกลระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีการแสดงความเห็นของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายขึ้นค่าแรงของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลเสียใจอย่างมากที่ว่าที่ผู้สมัครของพรรค ได้ด่วนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวโดยขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ พรรคขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด และขออภัยพรรคเพื่อไทย และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศอย่างสูง พรรคก้าวไกลตระหนักดีว่าการขึ้นค่าแรงอย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับค่าครองชีพ จะทำให้พี่น้องชาวไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ซึ่งก็ถือเป็นแนวนโยบายและคุณค่าหลักที่พรรคก้าวไกลยึดถือเช่นกัน
ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ในการกำหนดเป้าหมายค่าแรงดังกล่าวโดยข้อเท็จจริงถือเป็นภาระหนักต่อภาคเอกชน เจ้าของธุรกิจ และแม้จะอ้างเป็นการทยอยปรับขึ้นภายใน 4 ปี หรือภายในปี 2570 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายอดสุดท้ายของการปรับขึ้นค่าแรงจะสูงถึง 40-60% หรือเฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณตรงถึงภาคเอกชนที่ต้องเตรียมแบกรับภาระ รวมถึงมีโอกาสสูงในการทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจชะลอการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากข้อเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ถือว่าเป็นการกระชากอัตราค่าแรงมากไป จึงต้องมีการกลั่นกรองที่ดี เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระหนักให้แก่ภาคเอกชน
รศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน จะสามารถเป็นไปได้ หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 7-10% และ ภาคเอกชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นพรรคการเมืองจะต้องมองเป้าหมายเรื่องการทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีก่อน เพราะเมื่อเศรษฐกิจในประเทศดีแล้ว เชื่อว่าภาคเอกชนจะมีความพร้อมในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจได้เอง
“อยากฝากด้วยว่าการออกนโยบายหรือมาตรการใดๆ ก็ตาม ภาครัฐควรจะมีการประเมินถึงผลดี-ผลเสียของนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ว่าดีหรือไม่ประกอบการพิจารณาแผนงานต่างๆ ไปด้วย อาทิ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน, นโยบายชอปดีมีคืน, โครงการคนละครึ่ง, โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่าการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ เหล่านั้นดีหรือไม่ เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างไรบ้าง”อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุ
วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ โดยนายนิติธรกล่าวถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาทของพรรคเพื่อไทยว่า ที่น่าสนใจคือเจตนาทำจริงหรือไม่ หรือเอาแต่พูดเลอะเทอะไปเรื่อย หรือเพียงเพื่อเสนอให้ตรงความต้องการของประชาชนแล้วจะได้เสียงเลือกตั้ง
ส่วนนายจตุพรกล่าวว่า ปรากฏการณ์การออกอาวุธทางการเมืองขณะนี้ เป็นการเริ่มต้นเท่านั้น แต่อย่าเชื่อทุกอย่างจะราบรื่น เพราะ 13 ธ.ค.นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะชี้มูลความผิดการขายข้าวจีทูจี จากนั้นจะมีขบวนการออกแบบจัดการพรรคการเมืองตรงข้าม เป็นแบบมุ่งกระทืบกันให้ระส่ำระสาย ซึ่งเป็นทิศทางการเมืองอย่างนั้น
“ถ้าไม่โกงกันจริงประเทศก็ไปได้ การเมืองก็ไม่เข้าสู่วงจรอุบาทว์ ผมเห็นมาแล้ว และก็จะเป็นไป แล้วจะลามไปถึงเห็นจุดจบแบบเดิม แต่สถานการณ์จะหนักยิ่งขึ้น ดังนั้น หลังจากนี้ไปความชุลมุนจะเกิดขึ้น เมื่อประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ก็อาจจะถูกหักล้างในวันที่ 13 ธ.ค. และเชื่อว่า ในปี 2570 ค่าแรงจะมากกว่า 600 บาทด้วยซ้ำไป” นายจตุพรกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'มาดามแพ' พาลูกๆเข้าทำเนียบฯ เย็นนี้กินข้าวเบิร์ธเดย์วันเกิด 'คุณหญิงพจมาน '
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 09.30 น. โดยวันเดียวกันนี้ นายกฯเดินทางด้วยรถเบนซ์ส่วนตัว ทะเบียน 4 ขท 2566 กรุงเทพมหานคร และได้พา ด.ญ.ธิธาร สุขสวัสดิ์ บุตรสาว และด.ช.พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ บุตรชาย มาทำเนียบฯด้วย
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้