กกร.ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำต้นทุนธุรกิจพุ่ง 70% ภาคเอกชนปรับตัวไม่ทัน กระทบเอสเอ็มอีถึงขั้นปิดกิจการ ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องทบทวนแผนจ้างงาน ชี้ค่าจ้างปัจจุบันเหมาะสมแล้ว พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนพ.ย.65 เพิ่มขึ้น 5.55% ชะลอตัวลง 3 เดือนติดต่อกัน คาด ธ.ค.ทรงตัว
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กกร.ประเมินการประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง เรื่องการทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และการจบปริญญาตรีมีเงินเดือน 25,000 บาท
โดย กกร.มีความเห็นว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมามีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดมากนัก ประกอบกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยคำนึงถึงการครองชีพของลูกจ้าง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ราคาสินค้า ฯลฯ
นายสนั่นกล่าวว่า การพิจารณาปรับค่าแรงจึงต้องมองในทุกมิติ ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง ซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม จากกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันเมื่อปี 2554 ที่ถึงแม้จะดำเนินการได้สำเร็จ แต่ต้องยอมรับว่าช่วงแรก โดยเฉพาะ SME ปรับตัวค่อนข้างลำบาก ส่วนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางรายก็ปรับเป็นการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน ในขณะเดียวกันหากทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน จากปัจจุบันที่ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้นจะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน
ขณะเดียวกัน ปีหน้า SME ยังคงมีปัญหาด้านรายได้และสภาพคล่องในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก และมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งประเทศไทยยังมีหลายธุรกิจที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และ ภาคบริการ ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้ SMEs หยุด หรือยกเลิกกิจการ เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว
ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คงต้องมีการทบทวนแผนการจ้างงาน การชะลอการลงทุนในระยะสั้น หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้แทนแรงงาน รวมถึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศที่อาจชะลอลง เพราะต้นทุนค่าแรงของไทยสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่ง ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากนี้ แรงงานที่มีทักษะสูงในปัจจุบันต่างมีค่าจ้างที่สูงและมีความเหมาะสมอยู่แล้ว จึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานที่ยังคงมีทักษะไม่สูงมากนัก และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันควบคู่ไป และควรคำนึงถึงแรงงานที่ได้รับผลประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เนื่องจากแรงงานปัจจุบันไทยอาศัยแรงงานต่างด้าวภาคการผลิตและอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ความมุ่งหวังของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อแรงงานไทยมากเท่าที่ควร ดังนั้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามภาวะของสถานการณ์เศรษฐกิจ และขึ้นอย่างมีขั้นมีตอน ยังคงมีความจำเป็น หากได้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เชื่อว่า การปรับค่าแรงในระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจ
"การปรับขึ้นค่าจ้างควรมีความสอดคล้องกับการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ และการพัฒนาทักษะของลูกจ้าง รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความสมดุลของค่าจ้าง ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง และควรอยู่บนพื้นฐานของทักษะ องค์ความรู้ และ ประสิทธิภาพของแรงงาน รวมถึงการจูงใจให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง ซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม เพื่อให้การเติบโตของระบบเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง ทั่วถึง และยั่งยืน เชื่อว่าการปรับค่าแรงในระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อภาพเศรษฐกิจ" ประธาน กกร.ระบุ
ที่กระทรวงพาณิชย์ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน พ.ย.2565 เท่ากับ 107.92 เทียบกับ ต.ค.2565 ลดลง 0.13% เทียบกับเดือน พ.ย.2564 เพิ่มขึ้น 5.55% เป็นการชะลอตัวลง 3 เดือนติดต่อกัน หลังจากเคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อเดือน ส.ค.2565 ที่ 7.86% จากนั้นเดือน ก.ย.2565 ชะลอตัวลงเป็นเดือนแรก เหลือเพิ่ม 6.41% และต่อมาเดือน ต.ค.2565 ลงอีกเหลือเพิ่ม 5.98% ซึ่งเป็นการลดลงตามการชะลอตัวของสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสด ผลไม้สด เนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร และได้รับผลดีจากมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าที่สมดุลของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเงินเฟ้อรวม 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) อยู่ที่ 6.10% ซึ่งใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้
สำหรับเงินเฟ้อเดือน พ.ย.2565 ที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 8.40% โดยผลไม้ เนื้อสุกร และไก่สด ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ราคาชะลอตัวลง แต่ยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารบริโภคในบ้าน นอกบ้าน ราคาเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 3.59% ตามการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ ขณะที่สินค้าทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยาล้างจาน ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.13% เมื่อเทียบกับ ต.ค.2565 และเพิ่มขึ้น 3.22% เมื่อเทียบกับ พ.ย.2564 และเฉลี่ย 11 เดือน เพิ่ม 2.44%
ผอ.สนค.กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.2565 คาดว่าจะยังขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือน พ.ย.2565 เนื่องจากราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม สินค้ากลุ่มอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป และค่าโดยสารสาธารณะ จะยังมีราคาสูง เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2564 รวมทั้งความต้องการบริโภคในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา มาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จะเป็นปัจจัยที่อาจลดทอนอัตราเงินเฟ้อลงได้ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ระหว่าง 5.5-6.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 6.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ