กทม.ทำหนังสือวอน “บีทีเอสซี” ชะลอปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าอีกครั้ง บอกเอกชนมีรายได้ทดแทนอีกเยอะ ทั้งค่าโฆษณา ค่าเช่าพื้นที่ เปิดข้อมูล BTSC เคยทำหนังสือมาแล้วตั้งแต่ ส.ค.แต่ถูกเบรกไปแล้วรอบหนึ่ง
เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม ยังมีความต่อเนื่องจากกรณี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ประกาศขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร จำนวน 24 สถานี ได้แก่ สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีสะพานตากสิน รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรีและสถานีวงเวียนใหญ่ จากราคา 16-44 บาท ปรับเป็น 17-47 บาท ซึ่งยังไม่เกินอัตราค่าโดยสารสูงสุดตามสัญญาสัมปทาน ที่อยู่ในระดับ 21.52-64.53 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566
โดยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันนี้แล้วเห็นว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทางเป็นอย่างมาก ประกอบกับบริษัทยังมีรายได้ทางอื่นซึ่งนอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสารเพื่อมาชดเชย อาทิ รายได้จากการประกอบพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว รายได้จากการโฆษณา รายได้จากการอนุญาตให้เอกชนก่อสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีและอาคารบุคคลภายนอก ซึ่งรายได้ดังกล่าวสามารถนำมาช่วยสนับสนุนรายจ่ายจากการดำเนินงานของบริษัทได้ กทม.จึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้บริษัททบทวนและชะลอการปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บออกไปก่อน
ทั้งนี้ บริษัท BTSC เคยมีหนังสือแจ้ง กทม.เมื่อ ส.ค.2565 ขอปรับขึ้นค่าโดยสารจาก 16-44 บาทเป็น 17-47 บาทมาแล้ว แต่ กทม.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าชะลอการปรับค่าโดยสารออกไปก่อน โดยขอให้บริษัทคำนึงถึงความเดือดร้อนและภาระของประชาชนโดยรวม และขอให้ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการขอปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บ
ต่อมา บริษัทมีหนังสือแจ้ง กทม.อีกครั้งช่วง พ.ย.2565 ถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าบริษัทมีรายจ่ายจากการดำเนินโครงการที่เพิ่มสูงขึ้น และหารือกับผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางราง (บีทีเอสโกรท) มีความเห็นตรงกันว่าเพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน บริษัทจึงยินดีที่จะชะลอการปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บไปจนถึงสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 และจะบังคับใช้อัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไป ซึ่งค่าโดยสารใหม่ที่จะเรียกเก็บนั้นอยู่ในอัตรา 17-47 บาท ซึ่งไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้ตามสัญญาสัมปทาน
สำหรับการแจ้งการขอปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นการขอปรับขึ้นค่าโดยสารที่เรียกเก็บ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (สัญญาสัมปทานฯ) ข้อ 13.2 ระบุว่า ค่าโดยสารที่เรียกเก็บจะต้องไม่เกินไปกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้ ซึ่งบริษัทจะต้องแจ้งให้ กทม. และประชาชนทั่วไปทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงค่าโดยสารที่เรียกเก็บล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนวันที่ค่าโดยสารใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดที่อาจเรียกเก็บได้เมื่อเดือน เม.ย.2565 อยู่ที่ 21.52-64.53 บาท.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ยอมนิกร พรบ.ประชามติ ไม่ใช่กม.การเงิน
“ชูศักดิ์” ลั่นเพื่อไทยเอาแน่ ค้าความปิดปากเอาคืน “ธีรยุทธ” แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
ไฟเขียวไร่ละ1พัน10ไร่ ตรึงค่าไฟฟ้าราคาน้ำมัน
ชาวนาเฮ! นบข.ไฟเขียวช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จ่อชงเข้า ครม.สัญจรเชียงใหม่ 29 พ.ย.นี้
อวยทักษิณชนะนายกอบจ.
"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา
กรมที่ดินท้ารฟท.พิสูจน์เขากระโดง
กรมที่ดินยืนยัน ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง ยึดตาม กก.สอบสวน มาตรา 61
ตร.เชียงรายรวบ‘สามารถ’ ‘เมีย-ลูก’หมอบุญนอนคุก
"ผบ.ตร." นั่งไม่ติดตั้ง "พล.ต.อ.ธนา" คุมสอบสวนคดี "หมอบุญ"
ม็อบเสื้อเหลืองคืนชีพ ‘สนธิ’นัดบุกทำเนียบฯ2ธค. ‘อ้วน’หวั่นซํ้ารอยปิดเมือง
"ภูมิธรรม" ไม่กังวล "สนธิ" ปลุกม็อบลงถนน เป็นสิทธิตาม รธน.