กม.เลือกตั้งส.ส.ฉลุย รู้ไต๋ปลดล็อกท้องถิ่น

กฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ฉลุย! "หมอระวี" ยอมยกธง สงครามจบนับศพได้ ครวญพรรคเล็กจ่อสูญพันธุ์- พท.รอโกย ส.ส. ด้านสภาเดือดปุด! ส.ว.จับได้ไล่ทัน "ก๊วนธนาธร" โหมปลดล็อกท้องถิ่นตีกินหาเสียง ฟาดหนักเปิดทางสู่รัฐอิสระ

เมื่อวันพุธ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดี ในกรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 (1) ประกอบมาตรา 132 ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ.... มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ รวมถึงตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 132

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ.... ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 132 อีกทั้งในร่างกฎหมายเดียวกัน มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 และมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาชี้ขาดคำร้องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ศาลมีมติเอกฉันท์ 9:0 ชี้ว่าการตราร่างกฎหมายตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 132 นั้น  ซึ่งคำร้องมีการอ้างถึงการประชุมรัฐสภาที่มีเจตนาทำให้การประชุมล่ม และไม่สามารถพิจารณาร่างได้ทันตามกรอบเวลาของกฎหมาย ทำให้ต้องกลับไปใช้ร่างแรกที่ ครม.เสนอมา จากสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 กลับไปเป็นหารด้วย 100 ซึ่งเป็นเทคนิคการพิจารณาของรัฐสภาเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และไม่ได้กระทำขัดต่อกฎหมาย

แต่หากจะมีใครไปยื่นร้องเรื่องจริยธรรม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตามกระบวนการก็จะเป็นการไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ให้พิจารณาส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา ซึ่งในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการอาจเขียนไว้แทบทุกคน 

และอีกประเด็นที่ตุลาการมีมติเสียงข้างมาก 7:2 ที่ชี้ว่าในมาตรา 26 ไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 โดยตุลาการเสียงข้างน้อยมี 2 คนคือ "นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายจิรนิติ หะวานนท์" ที่เห็นต่างมุมว่า ในมาตรา 26 ของกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยเพราะมีการยกเลิกมาตรา 131 ทั้งมาตรา ด้วย หากมีการทุจริตเลือกตั้งและต้องมีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี จะต้องมีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ด้วย แต่มาตราดังกล่าวถูกตัดทิ้งไป ให้ข้อสังเกตว่าต้องติดตามว่าจะมีปัญหาใดในทางปฏิบัติในการจัดเลือกตั้งหรือไม่

ขณะที่ตุลาการเสียงข้างมาก 7 คนเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ เพราะว่าใช้ไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากระบบเลือกตั้งมีบัตรสองใบ ดังนั้นการนับคะแนนก็ต้องแยกกันคนละส่วน โดยเฉพาะการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นอำนาจของ กกต.  ซึ่งมีอยู่ในบทบัญญัติแล้วมาตรา 27 และตุลาการไม่อาจจะไปชี้ได้ว่าจะต้องมีการคำนวณอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต. และหลังจากนี้ 30 วัน จะมีการออกคำวินิจฉัยกลาง จากนั้นจะมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคน

พรรคเล็กจ่อสูญพันธุ์

ที่รัฐสภา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ขอประกาศว่าสงครามจบสามารถนับศพทหารได้ จากนั้นกระบวนการต่อไป นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็จะนำส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปยังรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะมีเวลาอีก 5 วัน เพื่อรอว่าจะมีใครไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญคัดค้านอีกหรือไม่ หากไม่มีใครคัดค้าน ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ส่วนตัวตนจบแล้ว จะไม่มีการยื่นคัดค้านใดๆ อีก

นพ.ระวีกล่าวต่อว่า สำหรับการโปรดเกล้าฯ ลงมา น่าจะอยู่ในช่วงเดือน ธ.ค.- ม.ค.66 โดยเชื่อว่าระหว่างนี้จะไม่มีการยุบสภา เพราะจะไม่มีกฎหมายรับรองการเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ก็อาจจะมีการยุบสภาในช่วงเดือน ก.พ.66

“สำหรับพรรคเล็กอาจจะมีบางส่วนที่มีการยุบพรรคเพื่อไปควบรวมกัน หรือบางพรรคอาจจะสู้ต่อ จบการเลือกตั้งคงมีพรรคเล็ก หลายพรรคที่สูญพันธุ์ ในส่วนของพรรคใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย น่าจะมาเป็นอันดับหนึ่ง ส.ส.น่าจะได้ 200 บวกลบ ทิ้งอันดับ 2 ไม่เห็นฝุ่น โอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลก็สูงกว่า ซึ่งอาจจะมีการดึงพรรครัฐบาลในครั้งนี้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า” นพ.ระบุ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่าทุกคนโล่งอก บ้านเมืองจะเดินหน้าไปได้สู่การเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้ง ถือเป็นทางออกที่ดีกับประเทศ

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับหมวดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ

นายธนาธรอภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นฉบับปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อทำให้อำนาจและมีอิสระในการบริหารงบประมาณ รวมถึงประชามติปรับโครงสร้างการบริหารประเทศครั้งใหญ่ โดยยังยึดหลักการพื้นฐานอำนาจเป็นของประชาชนและประชาชนเป็นผู้เลือกตัวแทน ขณะที่งบประมาณกำหนดให้จัดสรรงบประมาณเป็นธรรม แบ่งให้ท้องถิ่น 50 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมแบ่งให้ 30 เปอร์เซ็นต์ ตนเชื่อว่าการแบ่งสรรอำนาจ จัดสรรงบที่เป็นธรรมตามร่างปลดล็อกท้องถิ่น จะทำให้เป็นจริงได้ภายใน 10-15 ปี ร่างนี้เสนอให้ทำประชามติภายใน 5 ปี ในการยกเลิก ควบรวมราชการส่วนภูมิภาคเข้ากับส่วนท้องถิ่น

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนผู้ชี้แจง ย้ำถึงสาระของร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นว่า รับรองหลักการกระจายอำนาจ ปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของคนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพื่อยืนยันการกระจายอำนาจในประเทศไทย อยู่ภายใต้หลักความเป็นราชอาณาจักร และรัฐเดียว และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อป้องกันปัญหาคนตีความพิสดาร หรือเข้าใจกลุ่มตนผิดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน นอกจากนั้นยังมีหลักการสำคัญคือ  ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น

 ต่อมา เวลา 11.30 น. นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. อภิปรายว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นการลอกเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในร่างแก้ไขที่เสนอโดยเพิ่มเติมมาคือ มาตรา 4 ให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำแผนยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งหมายถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ดังนั้นที่นายปิยบุตรผู้นำเสนอระบุว่าไม่ยุ่งกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้นจึงไม่จริง แต่พูดเพื่อไม่ให้เสียเสียงสนับสนุน ต่อมากำหนดให้ทำประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ดี ตนทราบว่ามาตรา 4 ไม่ผ่านการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

สับปลดล็อกท้องถิ่น

นายจเด็จอภิปรายต่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ปลดล็อก แต่ลอกมาเขียนให้สวยหรู โดยตนมองว่านัยของการเสนอเพื่อโหนกระแสสร้างกระแส หาเสียง เหมือนอย่างที่ ส.ว.บางคนบอกว่าเป็นความคิดแบบสุดโต่ง ทะลุดิน ทะลุแก๊ส ทะลุวัง ไม่เป็นประโยชน์ประชาชน ซึ่งสิ่งที่ลอกมา 6 มาตรา หากขยายทำให้รัฐบาลทำเต็มที่จริงจังสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติได้จริง รู้กาลเทศะ วุฒิภาวะ และสอดคล้องกับกาลเวลา

 “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับไม่ได้ เพราะมีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และทำผิดรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 5 มาตรา คือ  มาตรา 1 ว่าด้วยการแบ่งแยกราชอาญาจักร หากให้ท้องถิ่นมีความอิสระในหลายรูปแบบ รวมถึงมาตรา 2 ว่าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 5 ที่รับรองให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้ง เป็นอันใช้ไม่ได้ มาตรา 77 คือการรับฟังความเห็นประชาชน ที่ผมบอกแล้วว่าประเด็นเลิกราชการส่วนภูมิภาคไม่ได้รับฟังความเห็น และมาตรา 255 ว่าด้วยข้อห้ามแก้รัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ดังนั้นสิ่งที่ทำนี้คือการสนับสนุนคนทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายจเด็จกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ ต่างไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ไม่เชื่อว่าการกระจายอำนาจตามรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า เห็นว่าร่างแก้รัฐธรรมนูญนี้เป็นผลไม้พิษ เพราะต่อไปเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะเต็มไปด้วยพ่อค้ายาและนักการเมืองจะเข้าไปยึดท้องถิ่น ส่วนกลางจะทำอะไรไม่ได้ รัฐบาลไหนมาก็บริหารประเทศไม่ได้ เป็นรัฐบาลเป็ดง่อย ข้อสุดท้ายบอกว่า 5 ปีต้องจัดทำประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ต่อไปผู้ว่าราชการจังหวัดต้องถือกระเช้าเดินกุมเป้าไปให้นายกเทศมนตรี นอกจากนี้ยังมีประชาชนฝากตนมาถามถึงกรณีที่ให้ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกตัดสิทธิการเมือง 10 ปี และมีคดีมาตรา 112 จึงเข้าสภามาได้อย่างหน้าตาเฉย

  ต่อมานายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า ร่างที่ผู้เสนอจะแม้อธิบายว่า เป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สาธารณรัฐ ตนเองกังวลและเป็นห่วงว่า ข้อเสนอ เนื้อหาที่เสนอให้สภาพิจารณาว่าไปแล้วมันก็คือรัฐอิสระดีๆ นี่เอง อันนี้น่ากังวล ปัญหาที่จะให้บ้านเมืองดีขึ้น ความจริงอยู่ที่นักการเมือง มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ประชาชนมากน้อยแค่ไหน หากบอกว่าไม่ว่าจะเป็นผู้นำในชุมชน ในบ้านเมือง ในประเทศ ก็ต้องรักษาประโยชน์ส่วนรวม ไม่ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลูกฝังความคิดผิดๆ ให้กับเด็ก เยาวชน ประชาชน

 “ที่สำคัญคือมาตรา 6 มาตรา 7 และในมาตราสุดท้าย ถ้าดูตามข้อเสนอใน 60วัน จะยกเลิกกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ท่านต้องการให้เกิดขึ้น ตนอยากเห็นประเทศเป็นรัฐเดียว ไม่อยากเป็นรัฐอิสระ เพราะฉะนั้นในเนื้อหาที่เสนอทั้งหมด ยังรับหลักการเรื่องเหล่านี้ไม่ได้” นายเสรีระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิป 3 ฝ่ายได้หารือและเห็นพ้องร่วมกันว่าให้ผู้อภิปรายสิ้นสุดประมาณเวลา 21.00 น. ก่อนให้ผู้นำเสนอร่างชี้แจงสรุป และนัดลงมติในวาระที่ 1 ว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการ โดยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาเป็นรายบุคคล ในการประชุมร่วมรัฐสภาครั้งหน้า คาดว่าน่าจะประชุมอีกครั้งวันที่ 20 หรือ 21 ธ.ค.. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ

สาวกเพื่อไทย ยื่นศาลรธน.สอบ 'ธนพร' ละเมิดอำนาจศาล

ที่บริเวณ​หน้าศาลรัฐธรรมนูญ​ นายนิยม นพรัตน์ หรือเค สามถุยส์ และนายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือร้อง นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์

'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' ได้รับความเป็นธรรม ศาลรธน. ไม่รับคำร้องปมล้มล้างการปกครอง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายอิสระ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย(พท.) ยุติการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองจะผูกพันไปยังกรณีที่มีการยื่นคำร้องเดียว

'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง

จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ