อสส.ชี้ขาดฟ้อง “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ” ผิด 116 คดีถูกอดีต "พุทธะอิสระ" เเจ้งความอภิปรายจาบจ้วงยุยงปี 63 รอนัดตัวฟ้องศาลอาญา แต่ไม่ฟ้อง "ธนาธร" ถือหุ้นสื่อวี-ลัค หลังศาล รธน.วินิจฉัยขาดคุณสมบัติ ระบุใช้กฎหมายคนละฉบับ พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอ "ทอน" โวยถูกผู้มีอำนาจทำทุกทางเพื่อหยุดพวกตน ลั่นพร้อมชนทุกคดี ขณะที่ศาลขอนแก่นตัดสินจำคุก "ปารีณา" 16 เดือน ให้รอลงอาญา 2 ปี
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงข่าวอัยการสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดสั่งฟ้อง คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญามีคำสั่งฟ้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช เป็นผู้ต้องหาที่ 1-3กระทำความผิดข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่าตามที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 1702/2563 ของ สน.พญาไท ซึ่งมีนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพุทธะอิสระ เป็นผู้กล่าวหา
นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า เดิมคดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งทางคดีดังนี้ สั่งไม่ฟ้อง ต่อมาอัยการสูงสุดได้พิจารณาคดีดังกล่าวแล้วได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้อง นายธนาธร, นายปิยบุตร และ น.ส.พรรณิการ์ ฐานร่วมกันล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2, 6, 34, 49 และ 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 116 (2), (3)
นายธรัมพ์กล่าวต่อว่า อัยการสูงสุดได้พิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้ง โดยชี้ขาดให้ฟ้องคดีเพราะมองพฤติกรรมการกระทำต่างๆ ของผู้ถูกกล่าวหาแล้วเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 คือ แสดงความเห็นด้วยวาจา หนังสือให้ปรากฏในหมู่ประชาชน ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในราชอาณาจักร แล้วทำให้มีการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ทั้งจากคำปราศรัย และการแสดงความคิดเห็นทางสื่อออนไลน์ต่างๆ แต่ไม่มีข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากไม่มีการเเจ้งข้อหามาเเต่เเรก อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีพิจารณามาตั้งแต่สมัยอัยการสูงสุดคนก่อนๆ แต่เพิ่งมีคำสั่งชี้ขาดในสมัย อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ขั้นตอนหลังจากนี้จะแจ้งคำสั่งชี้ขาดของอัยการสูงสุดไปยังพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เพื่อตามตัวและนัดหมายนายธนาธรมารับทราบข้อกล่าวหาและยื่นฟ้องต่อศาลอาญาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมูลเหตุคดีนี้ นายสุวิทย์ได้เเจ้งความช่วง ต.ค.63พนักงานสอบสวนอ้างถึงกรณีนายธนาธร เคยอภิปรายเรื่องอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 พูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ตุลาคม, 6 ตุลาคม 2519 เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนก่อตั้งวารสารฟ้าเดียวกัน อภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่างๆ รวมทั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ และไปปรากฏตัวในที่ชุมนุม ในกรณีของตนไปเอางานวิชาการสมัยตนเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน และหนังสือราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป และเอาความเห็นกรณีเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการปฏิรูปสถาบันฯ เพื่อไม่ให้เอาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไปอยู่บนท้องถนน การชุมนุมจะได้คลี่คลายเบาบางลง โดยอ้างว่ากรณีนี้ทำให้เยาวชน นิสิต นักศึกษาออกมาชุมนุม ส่วนกรณีของ น.ส.พรรณิการ์ บอกว่าไปปรากฏตัวในการชุมนุมและไลฟ์สด
ส่วนคดีที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายผดุงวิทย์ ผดุงสรรพ์ ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นดำเนินคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 151 ประกอบมาตรา 42 (3) ต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 467/2563 ในข้อหารู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กรณีถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด (หุ้นสื่อ)
ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งทางคดีคือ สั่งไม่ฟ้องนายธนาธร อัยการสูงสุดได้พิจารณาคดีดังกล่าวแล้ว แม้ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวนพยานของผู้ต้องหาดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่ามีข้อพิรุธ ก็เป็นเรื่องพิรุธในข้อเท็จจริงของคำให้การพยานฝ่ายผู้ต้องหาเพียงฝ่ายเดียว แต่การดำเนินคดีอาญาโจทก์จะต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงหรือใช้นำสืบพิสูจน์ให้ศาลรับฟังเชื่อได้โดยปราศจากข้อระวังสงสัยว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ทั้งข้อพิรุธ ของผู้ต้องหา กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่อาจนำเอาข้อพิรุธของพยานฝ่ายผู้ต้องหาตามที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อยืนยันว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้โดยลำพัง
อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้อง นายธนาธร ความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 151 ประกอบมาตรา 42 (3)
นายธรัมพ์กล่าวว่า เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญา นายธนาธรจึงไม่มีความผิดในข้อหาคดีอาญา คือพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสั่งฟ้องในคดีนี้ แต่ส่วนการวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกไปแล้ว ผลก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ ต้องเรียนว่าเป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับกัน
ด้านนายธนาธรให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้ผู้มีอำนาจต้องการทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะหยุดยั้งเรา ก็พร้อมสู้ทุกคดี ตนเข้ามาทำงานการเมืองวันนี้ 4 ปีแล้ว ไม่เคยมีครั้งไหนจะคิดทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเลย
“คดีความต่างๆ ที่เล่นงานผมและพรรคพวก หรือแกนนำพรรคอนาคตใหม่อื่นๆ เป็นแรงผลักดันทางการเมือง เพื่อต้องการหยุดยั้งเรา ขอย้ำว่าคดีต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถหยุดยั้งความตั้งใจจริงของเราได้ เราจะทำงานเต็มที่ต่อไปเรื่อยๆ” นายธนาธรกล่าว
วันเดียวกันนี้ ศาลจังหวัดขอนแก่นได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.998/63 ระหว่างโจทก์ คือนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ แกนนำกลุ่มขอนแก่นพอกันที กับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา 2 กระทง โดยตัดสินจำคุกกระทงละ 8 เดือน ผิด 2 ครั้งรวม 16 เดือน โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี พร้อมมีคำสั่งปรับ 80,000 บาท จ่ายค่าสินไหมทดแทน 100,000 บาท และดอกเบี้ย จ่ายค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนาย 20,000 บาท พร้อมมีคำสั่งให้ลงประกาศขอโทษในหนังสือพิมพ์รายวัน 2 ฉบับ เป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งเบิกงบลงทุน ขีดเส้นให้ได้80% กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายกฯ อิ๊งค์นั่งหัวโต๊ะประชุมหัวหน้าส่วนราชการ บี้เร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน 9.6 แสนล้าน
‘เวชระเบียน’หลอนทักษิณ โยนรพ.ตำรวจมอบให้ปปช.
นายกฯ พยักหน้ารับปม "ป.ป.ช." ทวงถามเวชระเบียนรักษาตัว
เพิ่มข้อหาแชร์ลูกโซ่18บอส จ่อหมายจับ‘ตั้ม’โกงเจ๊อ้อย
"ดีเอสไอ" แจ้งข้อหาเพิ่ม 18 บอสดิไอคอน คดีแชร์ลูกโซ่-ขายตรง
หึ่ง!เปลี่ยน‘พงษ์ภาณุ’แทน‘โต้ง’
“คปท.-ศปปส.-กองทัพธรรม” ลุกฮือ ยื่นหนังสือค้านคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
กอดMOUเจรจาเขมร ‘อิ๊งค์’หวั่นโดนฟ้องยันเดินหน้าแบ่งเค้ก/กต.แจงมีข้อดีกว่าเสีย
นายกฯ อิ๊งค์ลั่นเป็นคนไทย 100% ประเทศต้องมาก่อน ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่
คลั่งชาติปลุกต้านขายชาติ!
นายกฯ เรียกพรรคร่วมถกปมเกาะกูด "นพดล" โต้เดือดไม่ได้ขายชาติ